svasdssvasds

ฟุตบอลโลก 2022 ถ่ายทอดสดช่องไหน ? ปัญหาคาใจ ทำไมไทยไม่มีลิขสิทธิ์สักที

ฟุตบอลโลก 2022 ถ่ายทอดสดช่องไหน ? ปัญหาคาใจ ทำไมไทยไม่มีลิขสิทธิ์สักที

ทำความเข้าใจ การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก กับวัฒนธรรมดูกีฬาของคนไทย , เอกชนเริ่มเข้ามาถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกตั้งแต่เมื่อไร , กฎ Must Have และ Must Carry คืออะไร ? ทำไมจึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ คนไทย ยังไม่มั่นใจว่าจะได้ดูฟุตบอลโลก 2022 ตอนนี้

ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ใกล้จะเริ่มขึ้นแล้ว เหลือเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ แต่บรรยากาศในไทย เงียบจนวังเวง ไม่เหมือนฤดูกาลการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งก่อนๆ และไทยไม่มีเอกชนรายไหนซื้อสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก

ฟุตบอลโลกเป็นมหกรรมกีฬาใหญ่ของโลก ซึ่งไทยมีกฎ ‘Must Have’ ของ กสทช. กำหนดว่า การแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นหนึ่งในการแข่งขันกีฬารายการสำคัญที่ต้องมีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้ชมฟรี เมื่อไม่มีเอกชนยื่นประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด จึงตกเป็นหน้าที่ของ กสทช.เองที่จะต้องเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด

กฎของ กสทช. เป็นเหตุที่เอกชนเกรงจะทำกำไรไม่ได้, กฎของ กสทช. มีส่วนทำให้ค่าลิขสิทธิ์แพง และมีคนกำลังจะทำคะแนนด้วยภาษีประชาชน จริงหรือไม่ ? 

ฟุตบอลโลก 2022 ถ่ายทอดสดช่องไหน ? ปัญหาคาใจ ทำไมไทยไม่มีลิขสิทธิ์สักที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหลือเวลาแค่ 12 วัน หรือน้อยกว่า 2 สัปดาห์ แต่คนไทยผูู้รักการดูฟุตบอลโลก ยังมีคำถามคาใจมากมาย ว่า ฟุตบอลโลก 2022 จะถ่ายทอดสดช่องไหน เพราะเหตุใดการถ่ายทอดสด จึงไม่มีความชัดเจน และเวลาล่วงเลยมากระชั้นมากมายขนาดนี้...

• การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก กับวัฒนธรรมดูกีฬาของคนไทย

ในอดีต ฟุตบอลโลกเริ่มถ่ายทอดสดการแข่งขันในยุโรปครั้งแรก เมื่อปี 1954 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นเจ้าภาพ โดยมีสถานีโทรทัศน์ BBC รับหน้าที่ยิงสดในระบบขาวดำ ฟุตบอลโลกก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนจะเปรี้ยงปร้างขึ้นมาอีกในปี 1966 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ และมีการถ่ายทอดสดไปเกือบทั่วโลกผ่านดาวเทียม และเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่อังกฤษได้แชมป์โลกจนถึงทุกวันนี้ 

ส่วน ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก กับคนไทย นั้น มีจุดเริ่มต้นมาเมื่อปี 1970 ที่เม็กซิโก  ครั้งนั้นไทยแม้จะมีการถ่ายทอดสดเพียงคู่เดียว แต่เป็นแมตช์สำคัญคือเกมนัดชิงฯที่ บราซิล ถล่มชนะ อิตาลี 4-1 คว้าแชมป์โลกสมัยที่  3 ณ เวลานั้น

หลังจากนั้นแฟนบอลชาวไทยก็ได้ดูฟุตบอลโลกมาอย่างต่อเนื่องทุก 4 ปี พร้อมยังเพิ่มการถ่ายทอดสดคู่ที่น่าสนใจให้มากขึ้นและมีเทปการแข่งขันคู่ที่ไม่ได้ยิงสดตามมาจนครบทุกคู่ 

ไล่ตั้งแต่ ปี 1974 ที่เยอรมนี และปี 1978 ที่อาร์เจนตินา ถ่ายนัดเปิดสนามและนัดชิงชนะเลิศ, ปี 1982 ที่สเปน ถ่ายนัดเปิดสนาม รอบรองชนะเลิศ และนัดชิงชนะเลิศ, ปี 1986 ที่เม็กซิโก ถ่ายนัดเปิดสนาม และถ่ายตั้งแต่รอบ 8 ทีมสุดท้าย  

ก่อนที่ในปี 1990 ที่อิตาลี จะถ่ายถอดสดครบทุกแมตช์เป็นต้นมา สรุปง่ายๆ คือ ตั้งแต่ปี 1990,1994,1998,2002,2006,2010,2014 และ 2018 ฟุตบอลโลก 8 ครั้งหลังสุด คนไทยได้ดูฟุตบอลโลก ถ่ายทอดสดทุกนัด  

ทั้งนี้  การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกยุคแรกในเมืองไทยช่วงปี 1970-1998 มีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) หรือ “ทีวีพูล” เป็นผู้ดำเนินการถ่ายทอดสด และมีการออกอากาศเทปการแข่งขันผ่านทางทีวีขาวดำระบบอนาล็อก ช่อง 4, ช่อง 7 และทีวีสี ช่อง 3, 5, 9 สลับกันไป 

ฟุตบอลโลก 2022 ถ่ายทอดสดช่องไหน ? ปัญหาคาใจ ทำไมไทยไม่มีลิขสิทธิ์สักที

• เอกชน เริ่มเข้ามาถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เมื่อไร ? 

ขณะที่ ฟุตบอลโลก 2002 ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ แฟนบอลคนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลกอย่างเต็มแมตช์โดยไม่มีโฆษณาขั้นกลาง โดยมี “ทศภาค” หรือ บริษัท ทศภาค จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจในเครือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)  ส่วน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ที่ทุ่มทุนคว้าลิขสิทธิ์ต่อจากทศภาคในศึกฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ และ ฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล

โดย ในปีแรก ฟุตบอลโลก 2010 RS จับมือกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 3, ช่อง 7, อสมท. และ NBT ในการถ่ายทอดสดให้ได้ดูฟรีผ่านจอทีวี โดยร่วมทำการตลาดขายโฆษณาและแบ่งรายได้ร่วมกัน จนมีสปอนเซอร์เข้ามาร่วม  จากนั้นในฟุตบอลโลก 2014  RS จึงเริ่มเดินหน้าวางแผนทำการตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงก่อนฟุตบอลโลก 2014 จะเปิดฉากถือเป็นช่วงเริ่มต้นของยุคทีวีดิจิทัลในเมืองไทย มีช่องใหม่ ๆ ถือกำเนิดขึ้นมาหลายสิบช่อง ทาง RS จึงเลือกที่จะเดินแผนธุรกิจการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในรูปแบบใหม่ที่คนไทยไม่คุ้นเคย นั่นก็คือการจ่ายเงินดู

จากเดิมที่แฟนบอลจะได้ดูฟรีครบทั้ง 64 นัดผ่านจอทีวี RS เลือกที่จะถ่ายผ่านฟรีทีวีเพียง 22 คู่ตามข้อตกลงกับทางฟีฟ่า ทางช่อง 7 และช่อง 8 ของตัวเอง ประกอบด้วย นัดเปิดสนาม 1 นัด, รอบแบ่งกลุ่ม 14 นัด, รอบ 16 ทีม 2 นัด, รอบ 8 ทีม 2 นัด, รอบรองชนะเลิศ 2 นัด และปิดท้ายที่นัดชิงชนะเลิศ 

หาก แฟนบอลแฟนกีฬาที่อยากรับชมฟุตบอลโลกครั้งนั้น ครบทั้ง 64 นัดจะต้องเสียเงินซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมที่เข้ารหัสรับชมได้ อาทิ กล่อง RS SUNBOX ของทาง RS ในราคา 1,590 บาท หรือกล่องบอกรับสมาชิกอย่าง ทรูวิชั่นส์ และ พีเอสไอ HD

การทำธุรกิจรูปแบบนี้เป็นเรื่องปกติในต่างประเทศ เพราะผู้ที่ลงทุนซื้อลิขสิทธิ์มาแล้วย่อมหวังที่จะทำกำไรตามกลไกธุรกิจ และฟีฟ่าก็ไม่ได้บังคับให้ผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปต้องถ่ายทอดสดผ่านทีวีฟรีทุกนัด  โดยกำหนดให้ต้องถ่ายนัดที่ทีมชาติตัวเองลงสนามทุกนัดเท่านั้น … และมีหลายประเทศรวมถึงชาติที่ได้ไปฟุตบอลโลกที่ไม่ได้ดูฟรีผ่านทีวีครบทั้ง 64 แมตช์

ยกตัวอย่างเช่น บราซิล แม้จะเป็นแชมป์โลกถึง 5 สมัย แต่ประชาชนในประเทศสามารถดูการถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีเพียงแค่คู่ที่ทัพแซมบ้าลงสนามเท่านั้น ส่วนคู่อื่นที่เหลือต้องจ่ายเงินเพิ่ม ส่วน เยอรมนี แชมป์โลก 4 สมัยก็ให้ดูฟรีแค่ 44 นัด นับรวมทุกเกมที่อินทรีเหล็กลงสนามและอีก 10 นัดในรอบน็อกเอาต์  ขณะที่ ฝรั่งเศส ที่ถ่ายทอดผ่านทางช่อง TF1 ซึ่งเป็นทีวีของรัฐก็ถ่ายทอดสดแค่ 28 นัด นับรวมทุกเกมที่ ขุนพลตราไก่ ลงสนาม รอบรองฯ และรอบชิงฟุตบอลโลก

• กฎ “Must Have” ตัวเปลี่ยนเกมถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก

ในปัจจุบัน ชื่อของกฎ “Must Have” กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง และ “Must Have” คืออะไร ทำไมจึงมีส่วนมาเกี่ยวข้องกับ การถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก 2022

ย้อนไปเมื่อปี 2555 หรือปี 2012 กสทช. ได้ออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 หรือที่คนในวงการโทรทัศน์เรียกว่า “Must Have”  

กฎ “Must Have” มีขึ้นเเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรม และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป

โดยให้ 7 รายการถ่ายทอดสดกีฬาสำคัญ ถือเป็นรายการโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ภายใต้การให้บริการฟรีทีวีเท่านั้น ดังนี้

ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final)
ซีเกมส์ (SEA Games)
เอเชียนเกมส์ (Asian Games)
อาเซียนพาราเกมส์ (ASEAN Para Games)
เอเชียนพาราเกมส์ (Asian Para Games)
โอลิมปิก (Olympic Games)
พาราลิมปิก (Paralympic Games)


นอกจากนี้ กสทข. ยังได้ออก หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือที่เรียกว่า Must Carry โดย กฎ Must Carry เป็นการบังคับให้แพลตฟอร์มบริการโทรทัศน์ทุกรายที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. นำช่องฟรีทีวี ไปออกอากาศในทุกช่องทาง ทั้งทางเสาอากาศ จานดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี และช่องทางออนไลน์ โดยต้องออกอากาศต่อเนื่องตามผังรายการของแต่ละสถานี ไม่มีจอดำเกิดขึ้นในบางรายการ

โดยวัตถุประสงค์ของ กฎ “Must Have” และ  Must Carry ก็เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรม และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป พร้อมรับประกันว่าจะสามารถรับชมทั้ง 7 รายการได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งรวมถึงฟุตบอลโลกด้วย อย่างทั่วถึง และไม่มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

 

ฟุตบอลโลก 2022 ถ่ายทอดสดช่องไหน ? ปัญหาคาใจ ทำไมไทยไม่มีลิขสิทธิ์สักที

•  เอกชน-คนถือลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ช็อตฟีล 

แม้กฎ Must Have และ Must Carry จะช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการฟรีทีวีได้อย่างเท่าเทียมก็จริง แต่เรื่องนี้  ก็สร้างความปวดหัว ช็อตฟีล และกลายเป็นเรื่องกวนใจให้ผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬามาแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ ย้อนไปเมื่อปี 2557 หรือ ปี 2014 อาร์เอส (RS) ผู้ได้รับสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย ยื่นฟ้อง กสทช. เพราะพบความไม่เป็นธรรมในการบังคับให้ผู้ถือลิขสิทธิ์ปฏิบัติตามกฎ Must Have  สุดท้าย ณ เวลานั้น  เรื่องราวจบด้วยการที่ ศาลมีคำพิพากษา ไม่ต้องถ่ายทอดสดครบทุกนัด เนื่องจากเป็นการได้สิทธิ์การถ่ายทอดสด ก่อนมีการบังคับใช้กฎ Must Have ในเวลานั้น ,  

• กฎ “Must Have” ไม่เอื้อให้เอกชนทำกำไร ในยุคดิจิทัลเติบโต ? 

หลายคนอาจสงสัยว่า เพราะเหตุใด ทำไมไม่มีเอกชน ใจกล้า ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 มาถ่ายทอดสด และผลิต Content อื่นๆเลย...เรื่องนี้อาจจะดูตัวอย่างจาก ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพเมื่อ 4 ปีที่แล้วก็ได้ ที่ถือได้ว่า จะเป็นการ "ยกตัวอย่าง" ที่ชัดเจนที่สุด 

โดย ฟุตบอลโลก 2018 มีเอกชนร่วมลงขันคว้าสิทธิการถ่ายทอดฟุตบอลโลกครั้งที่แล้ว 9 ราย ประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ, เครือเจริญโภคภัณฑ์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอจี ดีเวลลอปเมนท์, ธนาคารกสิกรไทย, กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์, บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล, บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น และ บมจ. คาราบาวกรุ๊ป โดยครั้งนั้นเพื่อให้เป็นไปตามกฎของ กสทช. ที่กำหนดให้รายการแข่งขันกีฬานานาชาติขนาดใหญ่ต้องได้รับการถ่ายทอดโดยผู้ชมคนไทยไม่ต้องเสียเงินในการรับชมจึงทำให้ต้องถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล 3 สถานี ประกอบด้วย ช่องทรูโฟร์ยู ช่องอมรินทร์ทีวี และช่อง 5  

อย่างไรก็ตาม ด้วยเม็ดเงินการลงทุนมหาศาลมากกว่า 1.4 พันล้านบาท จึงทำให้การดำเนินการให้ได้มาซึ่งกำไรจากดีลธุรกิจครั้งนั้นไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์...นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ง่ายที่สุด ว่าทำไม ฟุตบอลโลก 2022 จึงไม่มีเอกชน เสนอตัวมา ซื้อ ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 

อย่างน้อยๆ นี่คือ เหตุผลที่ ทำให้ภาคเอกชนไม่มีความสนใจในการเข้าประมูลลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาใช้ต่อยอดทางธุรกิจ ภายใต้กฎระเบียบของ กสทช.  และนอกจากนี้สิ่งที่อยู่ "ใต้พรม" การดำเนินธุรกิจก็ยังมีเหตุผลอื่นๆแฝงเร้น แต่โดยหลักๆแล้ว คือ เอกชน มองว่า มันไม่คุ้มที่จะเสี่ยงในการลงทุน...

ปัจจุบัน เหลืออีกเพียงไม่กี่วันก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์จะเปิดฉากขึ้น แต่กระแสฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกกลับเงียบเหงายิ่งกว่าเป่าสาก กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แถมคนไทยยังต้องรอลุ้นอย่างใจจดใจจ่อว่าจะได้ดูฟุตบอลโลกผ่านช่องทางไหน  ส่วนประเทศอื่นๆ ในอาเซียนนั้น ชัดเจน และ มีคำตอบให้แฟนบอลผู้คลั่งไคล้มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ และ นิยมที่สุดของโลก ไปกันหมดแล้ว

related