svasdssvasds

"บิ๊กตู่" ร่อนหนังสือแจงกมธ.ปราบโกง ระบุส่ง "บิ๊กช้าง" เข้าแทน ทำได้

"บิ๊กตู่" ร่อนหนังสือแจงกมธ.ปราบโกง ระบุส่ง "บิ๊กช้าง" เข้าแทน ทำได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ส่งหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรให้กมธ.ปราบโกง ยันกมธ. ไม่มีอำนาจตรวจสอบปมถวายสัตย์ ให้เอาคำชี้แจงสภา 18 ก.ย. 62 เป็นคำชี้แจงครั้งนี้ ไม่ตอบประเด็นอื่น ชี้กมธ. ไม่มีอำนาจ ยันส่ง พล.อ.ขัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม แจงแทนทำได้

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ฯ ได้เชิญพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชึ้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 นั้น นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนี้

1. ประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณ

1.1 มาตรา 129 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  บัญญัติว่า "การกระทำกิจการ การสอบหาข้อเท็จจริงหรือการศึกษาตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของสภา" ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งในเรื่องพิจารณาที่ ต. 37/2562 วันที่ 11 กันยายน 2562 ไม่รับคำร้องของนายภาณุพงษ์ ชูรักษ์ ซึ่งเสนอโดยผู้ตรวจการแผ่นดินไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยมีเหตุผลสรุปได้ว่า "การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด"  และมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการ ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 129 ไม่อาจตรวจสอบในเรื่องเดียวกันนี้

2. ประเด็นคณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพราะยังไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณให้ถูกต้องครบถ้วน

2.1 คณะรัฐมนตรีได้ถวายสัตย์ปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แล้ว ดังที่ได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 18 กันยายน 2562 ไปแล้ว และข้าพเจ้าขอถือเอาคำชี้แจงนั้นเป็นคำชี้แจงครั้งนี้ โดยจะไม่ขอตอบคำถามอื่นใดเพิ่มเติมใน ประเด็นนี้อีก

2.2 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่คณะรัฐมนตรีเสนอในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 นั้น สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการในวาระที่ 1 โดยมติเอกฉันท์ในวันที่ 19 ตุลาคม 2562 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นพิจารณาแล้ว และขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวกำลังดำเนินงานในส่วนของตนอยู่ จึงถือได้ว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติโดยถูกต้องครบถ้วน ไม่มีเหตุที่คณะกรรมาธิการคณะใดหรือสภาผู้แทนราษฎรจะมีความเห็นเป็นอื่นอันจะทำให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องล่าช้าหรือสิ้นสุดลง เว้นแต่จะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ

2.3 คณะรัฐมนตรีชุดเดียวกันนี้ได้เคยเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อรัฐสภาจนประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว 2 ฉบับ และประกาศใช้พระราชกำหนดแล้ว 2 ฉบับ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายบริหารตามรัฐธรรมนูญและในส่วนที่สัมพันธ์กับรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลต่างประเทศ ตลอดจนสถาบันพระมหากษัตริย์มาแล้วหลายเรื่อง โดยไม่เคยมีผู้ใดคัดค้านหรือทักท้วงอำนาจหรือสถานะความเป็นคณะรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

3. ประเด็นการตรวจสอบทุจริต

คณะกรรมาธิการคณะนี้ตั้งขึ้นตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 90 (22) ซึ่งระบุขอบเขตหน้าที่และอำนาจว่า "คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ" ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าประเด็นเกี่ยวกับการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่จะมีการสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาใน ครั้งนี้ คณะกรรมาธิการมิได้แจ้งว่ามีประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบอันอยู่ในขอบเขต หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการชุดนี้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (พลเอก ขัยชาญ ช้างมงคล) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังรับทราบประเด็น แถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวแทน

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการชี้แจงเรื่องดังกล่าวตามที่คณะกรรมาธิการฯ ได้แจ้งมาครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว และได้ส่งผู้แทนมาเข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ จึงขอให้คณะกรรมาธิการฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 90 (22) ซึ่งระบุขอบเขตหน้าที่และอำนาจว่า “มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ”

ดังนั้น หากมีประเด็นใด ที่ต้องการทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และอยู่ในขอบเขตหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ ต่อไป

related