svasdssvasds

“หมออ๋อง-ก้าวไกล” ชง 5 ข้อเสนอกระจายอำนาจ อัดงบ 64 เป็นนรกของ อปท.ทั่วประเทศ

“หมออ๋อง-ก้าวไกล” ชง 5 ข้อเสนอกระจายอำนาจ อัดงบ 64 เป็นนรกของ อปท.ทั่วประเทศ

“หมออ๋อง-ก้าวไกล” อัดงบฯ 64 เป็นนรกของ อปท.ทั่วประเทศ - แทรกงบฝากโอน-งบหาเสียงประชารัฐ ทำ อปท.เป็นแค่มือเท้าของรัฐราชการรวมศูนย์

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 โดยมุ่งเน้นไปในส่วนของงบประมาณที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ โดยระบุว่าจากร่างงบประมาณนี้ นี่คือปีนรกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ก่อนเสนอ 5 มาตรการปลดล็อกกระจายอำนาจที่แท้จริง

นายปดิพัทธ์ เริ่มต้นการอภิปราย โดยระบุว่าจากการอภิปรายสามวันที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์แล้วว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 จัดทำขึ้นโดยไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่ตอบโจทย์ความท้าายของโลกในยุคโควิดเลยแม้แต่นิดเดียว แต่ถ้าเราพอจะแก้ไขอะไรได้ ปัญหาของประเทศผูกโยงอยู่ด้วยคำๆเดียว คือคำว่า “กระจายอำนาจ”

ถ้ามีประชาชนถามเราว่าปัญหาของประเทศไทยอยู่ตรงไหน ประชาชนจะบอกเราได้เป็นหมื่นๆเรื่อง คำถามต่อไปคือรัฐบาลจะตอบสนองต่อควาต้องการที่เร่งด่วนของประชาชนอย่างไร ในระบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่ใหญ่โตเทอะทะแบบนี้เป็นไปได้น้อยมาก ระบอบนี้ถูกสร้างขึ้นมาชัดเจนมากขึ้นในสมัยที่ คสช.ยึดอำนาจไป และสืบทอดอำนาจมาถึงรัฐบาลชุดนี้

เราต้องการการแก้ไขอย่างเสมอภาค ทั่วถึง เท่าเทียม เรารู้อยู่เต็มอกว่าเราต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น แต่งบปี 64 เราไม่เห็นอะไรเลยที่เป็นไปตามนโยบายกระจายอำนาจ ผิดกับหลักการของ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจปี 2542 และที่ชัดเจนคือการไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นที่แน่ชัดว่าการกระจายอำนาจไม่เคยอยู่ในความคิดของรัฐบาลนี้เลย

นายปดิพัทธ์ อภิปรายต่อ ว่าหลักการที่งบฯปี 2564 วางไว้คือการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในระดับชาติ ระดับภาค กลุ่มจังหวัด และระดับท้องถิ่น หลักการต่อมาบอกไว้ว่าจะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ

แต่ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นตัวจริงได้อ่านหลักการพวกนี้ก็คงได้แต่หัวเราะทั้งน้ำตา เพราะสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวันไม่มีอะไรใกล้เคียงกับหลักการที่รัฐบาลขายฝันไว้เลย แนวนโยบายเหล่านี้เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ เพราะระบบราชการรวมศูนย์ที่ยังปกคลุมอยู่ตอนนี้ เราเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ของการกระจายอำนาจแล้ว แต่การกระจายอำนาจกลับถูกขัดขวางซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากการรัฐประหาร

และสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือตัวเลขงบประมาณเป็นตัวชี้ชัด ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปตามที่พูดหรือไม่ ตามแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจนั้น จะจัดไว้ว่ารายได้ของท้องถิ่นจะต้องมีมากกว่า 25% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ซึ่งงบประมาณปี 64 นี้ก็ได้จัดทำอยู่ที่ 29.5% คิดเป็น 7.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งดูเหมือนจะเพียงพอ และท้องถิ่นน่าจะมีงบประมาณไปพัฒนาพื้นที่ของตัวเองได้ แต่เมื่อเราดูใส้ในรายได้ท้องถิ่นแล้ว เราจะเจอว่ารายได้ที่ท้องถิ่นใช้ได้จริงๆนั้นน้อยมาก เพราะเงินอุดหนุนเกือบครึ่งหนึ่งเป็น “งบฝากโอน” ไม่ว่าจะเป็นนมโรงเรียน งบฯ อสม. เบี้ยคนพิการ อาหารกลางวัน เบี้ยผู้สูงอายุ ฯลฯ กว่าครึ่งหนึ่งใช้ อปท.เป็นแค่แขนขา เป็นแค่ทางผ่าน โดยเฉพาะเบี้ย อสม.ส่งตรงไปที่บัญชีของ อสม.เลย

“งบประมาณเหล่านี้นอกจากจะไม่สมควรเรีกว่าเป็นเงินอุดหนุนแล้ว ภารกิจต่างๆท้องถิ่นจะต้องไปดำเนินการในการแจกจ่าย มีค่าบริหารจัดการ แต่ก็ไม่ได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนตอนนี้ด้วย เพราะฉะนั้นท้องถิ่นจึงกลายเป็นแค่หน่วยรับงบประมาณ ภารกิจเหล่านี้ถูกนำมาคิดเป็นงบประมาณที่ท้องถิ่นได้รับ ทั้งที่ความจริงแล้วท้องถิ่นใช้ไม่ได้เลยแม้แต่บาทเดียว สิ่งที่เราเห็นตรงนี้ ถ้าเราตัดงบฝากโอนออกไป ในเงินอุดหนุน เราจะเห็นว่ารายได้ของ อปท.นี้ลดลงทันที จาก 29.5% เหลือเพียง 24.3% ไม่ผ่านเกณฑ์ ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจปี 2542 มีการลักไก่เอางบไปแปะเอาไว้นั้่นเอง นี่เป็นที่มาว่าทำไมเงินของงท้องถิ่นไม่เคยพอเลย” นายปดิพัทธ์กล่าว

นายปดิพัทธ์อภิปรายต่อไป ว่าสัดส่วนงบประมาณที่แบ่งให้กับท้องถิ่นจริงๆต่ำกว่านี้อีก ที่ผ่านมาสำนักงบประมาณการรายได้ของท้องถิ่นพลาดเกิน 10% ทุกปี เราได้ดูตั้งแต่ปี 2558 เราเก็บได้จริงน้อยกว่าเป้า อยู่ที่ 8.5% ปี 2559-2560 ไล่มาเรื่อยๆเฉลี่ยอยู่ที่ 10.7% แต่ความน่ากลัวของปีนี้คือการจัดเก็บจะลดน้อยลงไปมากกว่า 20% ถ้าการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่นพลาดไปบ้างแค่บางปี อันนี้พอให้อภัยได้ แต่ถ้าตั้งมาแบบนี้ทุกปี ไม่เคยจัดเก็บไปตามเป้าเลย แล้วยังไม่มีนโยบายทางภาษีที่ก้าวหน้าที่จะทำให้เราจัดเก็บได้ อันนี้เรียกว่าตั้งใจ สิ่งที่เปลี่ยนไปคือสัดส่วนเงินอุดหนุนก็จะน้อยไปด้วย เพราะประมาณการรายรับไว้สูงกว่าความเป็นจริงเสมอ

ปีนี้เรียกว่าเป็นปีนรกของ อปท. เพราะเขาจัดเก็บได้น้อยกว่า 20% แน่นอน ภาษีที่ดินจะวูบหายไป 3.4 หมื่นล้านบาท ท้องถิ่นต่างๆมีภาษีที่ไม่ก้าวหน้าอยู่แล้ว เป็นภาษีเล็กๆน้อยๆที่พวกเขาเก็บได้ แตภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นรายได้หลักของทุก อปท. แต่ด้วยมาตรการของรัฐ ด้วยประกาศคำสั่ง เราต้องลดภาษีอีก 90% เพราะฉะนั้นภาษีตรงนี้รายได้ของท้องถิ่นลดไปเกิน 95% ในส่วนของภาษีที่ดิน

เมื่อเราเอาสองอย่างนี้มาผนวกกัน เราจะเจอว่าเงินฝากโอนและภาษีที่ไม่มีความก้าวหน้าของท้องถิ่น กระหน่ำซ้ำด้วยปัญหาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เราจะเจอว่างบประมาณที่ท้องถิ่นมีจริงๆนั้น ไม่ถึง 25% ขาดไปมาก ปี 2558 อยู่ที่ 20.5% ปี 2562 อยู่ที่ 21.4% และในปีนี้จะยิ่งสาหัส

รายรับของท้องถิ่นที่หายไปเยอะขนาดนี้ แต่รัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือให้กับรายได้ท้องถิ่นที่หายไปแม้แต่บาทเดียว นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ อปท. ที่เคยเป็นที่พึ่งและเป็นคนที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง มีอำนาจบริหารที่แท้จริง ตอนนี้สภาพไม่ต่างอะไรกับเป็นมือเป็นเท้าให้กับรัฐราชการรวมศูนย์เท่านั้นเอง พวกเขาใช้เงินกับสถานการณ์โควิดไปเยอะมาก ไม่ต้องพูดถึงเงินสะสมที่ใช้ยากอยู่แล้ว และตอนนี้ยังมาเผชิญกับวิกฤติของงบประมาณอย่างรุนแรง

และเมื่อพวกเขาจะต้องใช้จ่ายงบฝากโอนเหล่านี้ไปเรื่อยๆ งบในการพัฒนาแทบจะไม่มีเลย แล้วรายจ่ายประจำก็อาจจะต้องเกิน 35% ซึ่งจะทำใด้ต้องเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายอีก เรื่องเหล่านี้ เราเห็นชัดเจนแล้วว่าไม่ได้เป็นควาผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ แต่ตั้งแต่ปี 2557 ตั้งแต่มีการยึดอำนาจเป็นต้นมา ท้องถิ่นถูกทำให้เป็นสภาพแบบนี้ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเลย ความล้าหลังและความไม่จริงใจในการกระจายอำนาจหลอกด้วยตัวเลขไม่ได้

“เมื่อมาดูประเทศที่เริ่มต้นการกระจายอำนาจพร้อมๆกับเราคือญี่ปุ่น ตอนนี้สัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ 57.8% แล้ว แต่ของเรายังอยู่แค่ 29.5% และเป็นตัวเลขที่หลอกลวงด้วย หลายคนโทษไปที่ อปท.ว่าไม่ทำงาน เลือกใครไปแล้วไม่ได้ทำงาน จริงๆไม่ใช่ ความจริงคือ อปท.ถูกทำให้อ่อนแออย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ศัตรูของประชาชนจึงไม่ใช่ อปท. แต่คือรัฐราชการรวมศูนย์ สถาปนามาด้วย คสช.สืบต่อมาในรัฐบาลนี้” นายปดิพทธ์กล่าว

นายปดิภัทธ์ อภิปรายต่อไป โดยระบุว่านอกจากนี้ ปัญหาที่ยังคงค้างมาจากปีที่แล้วและยังไม่ได้รับการแก้ไข คือหลักการที่เขียนไว้ว่าการกระจายงบประมาณจะต้องมีความเป็นธรรม แต่ความเป็นจริงคือความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบฯอุดหนุน ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วมาจนถึงปีนี้

รายได้ต่อครัวเรือนของประเทศเราในปีนี้อยูที่เฉลี่ย 21,582 บาทต่อครัวเรือน ถ้าเอางบอุดหนน อบจ.มาเฉลี่ยกันแล้วจะตกอยู่ที่ 471 บาทต่อหัว เมื่อเราเอาสองแกนนี้มาพล็อต เราจะเจอพื้นที่อยู่ 4 พื้นที่ คือพื้นที่แห่งความยากจนของคนในจังหวัดที่มีรายได้ต่อครัวเรือนน้อย มีหลายจังหวัดที่ได้รับเงินอุดหนุนน้อยเกินไปด้วย จังหวัดที่มีรายได้ต่อครัวเรือนมาก ก็มีสัดส่วนที่ได้รับเงินุดหนุน อบจ. มากน้อยต่างกันไป

การจัดสรรงบฯอุดหนุนปีนี้เหมือนกับปีที่แล้ว ต่างกันแค่นิดเดียว จังหวัดอย่างเชียงรายยังอยู่ในกลุ่มที่ถูกทอดทิ้ง มีงบฯต่อหัวเพียงแค่ 379.65 บาทเท่านั้นเอง และมีรายได้ต่อครัวเรือนอยู่ที่ 11,800 บาท จังหวัดอย่างเชียงราย บุรีรัมย์ และอีกมากมาย พวกเขากำลังอยู่ในสภาวะที่ลำบากแสนสาหัส รัฐบาลจะตอบชาวเชียงรายอย่างไร ในขณะที่ได้รับเงินอุดหนุนน้อยขนาดนี้และยังมีสภาวะความยากจนอย่างนี้ ปีนี้พวกเขาเจอไฟป่า หายใจไม่เคยเต็มปอด แล้วการท่องเที่ยวชายแดนก็ยังไม่เปิด ตอนนี้วัดร่องขุ่นไม่มีใครไป คนไปเบาบางมาก และยังถูกทอดทิ้งด้วยงบประมาณที่ไม่เป็นธรรมอย่างนี้อีก

“ในขณะเดียวกัน กองทุนประชารัฐกลับมาแทรกอยู่ในงบของท้องถิ่น กองทุนประชารัฐสวัสดิการ 2,647 ล้านบาท มาอยู่ได้อย่างไร? กรรมาธิการงบฯตั้งแต่ปีที่แล้วก็บอกแล้วว่าต้องเปลี่ยนชื่อหรือตัดงบก้อนนี้ออก ถ้าไม่รู้จะเปลี่ยนชื่ออะไรผมตั้งให้ก็ได้ อันนี้งบหาเสียงนะครับ ประชารัฐสวัสดิการ ผิดทั้งหลักการ ผิดทั้งมารยาท ผิดทั้งหลักจริยธรรมที่ดีของการตั้งงบประมาณด้วย” นายปดิพัทธ์กล่าว

นายปดิพัทธ์ ยังอภิปรายต่อ ว่าหน้าตาของการกระจายอำนาจที่แท้จริงคือญี่ปุ่น เริ่มต้น 40 ปีที่แล้ว ยกตัวอย่างแค่เรื่องเดียวคือรถไฟในตัวเมืองโอซาก้า บริหารจัดการโดยเทศบาลโอซาก้า 100% เป็นคนจดจัดตั้งบริษัท Osaka Metro ถือหุ้นใหญ่ บริหารทั้งหมด 1,108 สถานี ผู้โดยสาร 2 ล้านคนต่อวัน สร้างงาน 4,936 งาน อันนี้เรียกว่ากระจายอำนาจ ริเริ่มบริหาร รับผิดชอบ และมีประโยชน์สำหรับท้องถิ่นอย่างแท้จริง

แต่ถ้าเรื่องนี้จะมาเกิดที่ประเทศไทยจะเจอโครงสร้างนี้ นายก อบต. นายก อบจ. ใกล้ชิดประชาชน มาจากการเลือกตั้ง เป็นฝ่ายบริหารของท้องถิ่น แต่ถูกกำกับโดยมหาดไทย งบประมาณอยู่ที่นี่ จะใช้อะไรก็ต้องไปขอผู้ว่าฯ และถ้าจะทำรถไฟฟ้าในจังหวัดขึ้นมา เปิดบริษัทขึ้นมา ใบอนุญาตอยู่ที่กระทรวงคมนาคม องค์กรปกครงส่วนท้องถิ่นถูกบีบอัดด้วยโครงสร้างรัฐราชการรวมศูนย์แบบนี้ งบประมาณ อำนาจ การอนุมัติ/อนุญาต การตรวจสอบ พวกเขากระดิกไม่ได้เลย

เราคุยเรื่องรถไฟที่ภูเก็ดมากี่ปีแล้ว เราคุยเรื่องรถไฟขอนแก่นมากี่ปีแล้ว พิษณุโลก เชียงใหม่ ถ้ารัฐบาลส่วนกลางไม่ทำคนท้องถิ่นก็ไม่ได้ ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร โครงสร้างแบบนี้ยิ่งซับซ้อนขึ้น ยิ่งมีผลประโยชน์ของรัฐส่วนกลามากขึ้น และมีเรื่องเงินทอนเต็มไปหมด

นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อ ว่าตนอยากเล่าเรื่องของเทศบาลตำบลหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลกให้ฟัง เทศบาลตำบลนี้มีความใฝ่ฝันที่จะทำโรงเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลให้ดี ให้เด็กๆที่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย ไม่ได้อยู่กับพ่อกับแม่ หลายคนจะต้องดิ้นรนเพื่อทำงานที่ต่างจังหวัด ทิ้งลูกของตัวเองไว้อยู่กับตากับยาย นายกเทศบาลคนนี้อยากจะทำโรงเรียนที่มีคุณภาพให้กับเด็กๆเหล่านั้น ได้มีโอกาสที่จะเปลี่ยนชะตาชีวิตบ้าง โดยการที่ทำให้พวกเขาพูดภาษาอักฤษให้ได้

แต่ปรากฏว่าเทศบาลนี้เมื่อเอาเงินมาใช้ในการจ้างครูต่างชาติ ปรากฏว่าถูก สตง.เรียกเงินคืน และคอมเมนต์ที่พูดกันก็คือจริงๆแล้วโรงเรียนฟรีไม่ต้องจ้างชาวต่างชาติก็ได้ นี่หรือความยุติธรรม? จังหวัดพิษณุโลกร้อนมาก จะซื้อแอร์ติดให้กับเด็กๆเพื่อที่จะได้เรียนอย่างมีความสุขก็ถูกคอมเมนต์ว่าโรงเรียนที่ฟรีไม่ต้องมีแอร์น่าจะดีกว่า

“ตัวอย่างเหล่านี้ทั้งหมด งบประมาณมหาศาล คุณประยุทธ์ใช้ไปแล้ว 20 ล้านล้านในปีนี้ ถ้ารัฐยังเป็นแบบนี้อยู่ท้องถิ่นไม่มีวันเจริญ งบประมาณที่ใส่ลงไปกับโครงสร้างที่ไม่มีประสิทธิภาพแบบนี้ การกระจายอำนาจเท่านั้นถึงจะเป็นคำตอบของการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพ ตรงกับความต้องการของท้องถิ่นได้” นายปดิพัทธ์กล่าว

 

นายปดิพัทธ์ ปิดท้ายการอภิปราย ว่าในการนี้ ตนขอเสนอ 5 มาตรการการกระจายอำนาจที่สามารถทำได้ทันที แม้การกระจายอำนาจยังเป็นเรืองใหญ่ที่เราจะต้องพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดของเราในปีนี้ เรายังพอมีเรื่องที่ทำได้ 5 เรื่องด้วยกัน

1.เราต้องคืนอำนาจให้ประชาชนโดยการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับทันที ตอนนี้ประชาชนเขาไม่รู้ว่ารัฐบาลเล่นอะไรกันอยู่ โยนกันไปโยนกันมาว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ สุดท้ายนายกพูดมาว่าอาจจะมีสักที่หนึ่งสักระดับหนึ่งในปลายปีนี้ที่จัดการเลือกตั้งได้

การเลือกตั้งท้องถิ่นควรจะเกิดขึ้นสม่ำเสมอ เป็นสิทธิที่ควรจะได้รับโดยไม่ต้องเรียกร้องขอความเมตตาว่ารัฐบาลจะจัดเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อไหร่ แต่รัฐบาลได้พรากสิทธินี้จากเราไปเรียบร้อยต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลนี้ เราต้องคืนอำนาจให้ประชาชน เพราะท่านเล่นปลดผู้บริหารท้องถิ่นไปหมดเกลี้ยงแล้วแต่งตั้งคนของตัวเองเข้าไป ชาวบ้านเขาสงสัยว่าการไม่ยอมให้เลือกตั้งท้องถิ่นนั้นเชื่อมโยงกับการสืบทอดอำนาจของพวกท่านหรือเปล่า

2.เพิ่มสัดส่วนงบอุดหนุนใหม่โดยไม่นับเป็นงบฝากโอน พอกันทีกับการฝากโอนให้ท้องถิ่น ทำให้พวกเขาตอนนี้แทบจะทำงานไม่ได้เลย และกลายเป็นผู้ร้ายของประชาชนในพื้นที่ ว่านายก อบต. นายกเทศบาล นายก อบจ. ไม่ทำงาน จริงๆไม่ใช่ พวกท่านไปกดขี่พวกเขาเอาไว้ด้วยกฎหมายมากมายเหล่านี้ต่างหาก อุดหนุนงบทันที ชดเชย 3.4 หมื่นล้านที่พวกท่านล้วงเอาไปจากท้องถิ่น

3.ชดเชยงบประมาณให้กับ อปท. ในส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เรื่องตลกร้ายอีกอันก็คือว่าท้องถิ่นต่างๆมีเงินสะสมอยู่ แต่เอาไปใช้ยากมาก แล้ววันดีคืนดีก็ต้องกลัวว่าทางกระทรววงมหาดไทยจะส่งจดหมายมาเมื่อไหร่ ว่าจะมาขอใช้งบฯเหล่านี้ตามจุดประสงค์ของรัฐบาล

4.ปลดล็อกให้อิสระพวกเขา ทุกวันนี้ท้องถิ่นจะต้องเสนอโครงการมาขอใช้เงินกู้ที่มีดอกเบี้ย ทำไมไม่ให้พวกเขาใช้เงินที่พวกเขามีเอง

5.ขอเชิญชวนให้สภาเหล่านี้ผลักดันและแก้ไขกฎหมายที่ก้าวหน้า ให้อำนาจ งบประมาณ และการบริหารท้องถิ่น นำไปสู่จังหวัดจัดการตนเองให้ได้ ทุกพรรคการเมืองหาเสียงไว้แล้ว และผมคิดว่าเรื่องนี้เราจำเป็นต้องเป็นวาระแห่งชาติ ถ้าเราจะแก้ไขปัญหาของทุกคนในประเทศนี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ เราต้องการอำนาจกลับไปอยู่ที่ท้องถิ่น และการเลือกตั้งท้องถิ่นรอบนี้จะปลดปล่อยศักยภาพขงท้องถิ่นออกมา

related