สรุปดราม่า Podcast บิ๊กตู่ ไทยไม่ได้ร่วมโครงการ COVAX เพราะติดระเบียบทางราชการ จริงหรือ ?
จากการจัด Podcast ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ตอบข้อสงสัยเรื่องการจัดซื้อและแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 เมื่อวานนี้ (ในลักษณะถามเอง ตอบเอง นักเลงพอ) ก็เกิดดราม่าร้อนๆ ขึ้นประมาณว่า “ไทยไม่ได้ร่วมโครงการ COVAX เพราะติดระเบียบทางราชการ ?”
แต่ในความเป็นจริงนั้น เป็นเช่นไร สปริงสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
ที่มาของดราม่าดังกล่าว เกิดขึ้นจากคำถามแรกที่ว่า “สาเหตุใดประเทศไทยจึงไม่มีการจัดซื้อวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรอย่างเหมาะสม ขณะที่แผนฉีดวัคซีนในประเทศไทยมีความล่าช้าเกินไปหรือไม่ และในอนาคตรัฐบาลมีแผนงานแจกจ่ายวัคซีนระยะยาวในประเทศไทยอย่างไร ?”
ซึ่งนายกฯ ตอบว่า “ความพยายามและดำเนินการในการจัดหาวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้เริ่มในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2563
“ภายหลังจากที่ได้เห็นเงื่อนไขต่างๆ จากทั้งผู้ผลิตวัคซีน และ COVAX ในลักษณะเป็นการจองวัคซีนล่วงหน้าโดยที่ยังไม่ทราบผลการทดลองวัคซีนเฟส 3
ประเทศไทยในขณะนั้น ยังไม่มีกลไกการจัดหาวัคซีนที่มีเงื่อนไขในการจ่ายเงินก่อน โดยที่มีโอกาสไม่ได้รับวัคซีน หากการวิจัยล้มเหลว
“สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรค จึงได้ขอคำปรึกษาหน่วยงานด้านกฎหมาย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง
“ก็ได้รับข้อแนะนำและหนังสือตอบกลับจากกรมบัญชีกลางว่า ไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง 2560 ได้ จึงได้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ 2561 เพื่อให้สามารถดำเนินการจองวัคซีนล่วงหน้าได้ ตามกฎหมายที่มี...
ตามที่นายกฯ กล่าว ไทยเริ่มมีการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว แต่ติดเงื่อนไข พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ปี 2560 ที่การจัดซื้อต่างๆ ต้องระบุรายละเอียด ทั้งด้านราคา จำนวน และช่วงเวลาที่จะได้รับสินค้าอย่างแน่นอน
ซึ่งในเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว การผลิตวัคซีนของบริษัทต่างๆ ยังอยู่ในช่วงดำเนินการ ยังไม่รู้ว่าวัคซีนของบริษัทใดจะสำเร็จ และมีโอกาสไม่ได้รับสินค้า หากบริษัทนั้นๆ ผลิตวัคซีนล้มเหลว
แต่ทั้งนี้ รัฐบาลก็ได้มีการแก้เกม ด้วยการออก “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ 2561” ตามที่นายกฯ ได้ชี้แจงไว้
สรุปสาระสำคัญของ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ 2561” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/239/T_0017.PDF ก็คือ
“ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ล่วงหน้าได้ โดยการทำข้อตกลงกับเอกชนได้ทั้งภายในและต่างประเทศ และเปิดช่องสำหรับกรณีการจองวัคซีน ที่ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะรับสินค้าหรือไม่ โดยการส่งเรื่องให้รัฐมนตรีพิจารณา”
สรุปก็คือ การสั่งจองวัคซีนล่วงหน้า ร่วมถึงกรณีที่ว่า ถ้าไทยจะเข้าร่วมโครงการของ COVAX ก็ไม่ได้ติดขัดระเบียบทางราชการแต่อย่างใด
สปริงเคยสรุปถึงสาเหตุไปแล้ว สรุป เหตุผลที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการจัดหาวัคซีนของ COVAX จากการชี้แจงของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่ได้อธิบายว่า ถ้าไทยเข้าร่วมโครงการ จะไม่ได้รับวัคซีนฟรี เพราะธนาคารโลกจัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง จึงต้องเสียเงินจองตามเรตที่ COVAX กำหนด สถาบันวัคซีนฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การสั่งจองกับบริษัทผู้ผลิตโดยตรง เป็นวิธีที่ดีกว่า
จากการปลดล็อกด้วย “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ 2561” ทำให้ไทยสามารถจองวัคซีนล่วงหน้าได้
โดยเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว ครม. ได้อนุมัติงบประมาณ 2.4 พันล้านบาท สั่งจองวัคซีนล่วงหน้ากับ AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งคาดว่า จะได้รับวัคซีนช่วงกลางปี 2564
ฉะนั้นแล้ว หากให้สรุปชัดๆ อีกครั้งก็คือ ไทยไม่ได้ร่วมโครงการ COVAX ไม่ใช่เพราะติดระเบียบทางราชการ แต่เลือกที่จะไม่เข้าร่วม และใช้ช่องทางของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 18ฯ สั่งจองวัคซีนกับ AstraZeneca เพียงบริษัทเดียว
กระทั่งสถานการณ์การแพร่ของโควิด-19 ระลอกใหม่หนักหน่วงขึ้น เมื่อช่วงต้นปีนี้จึงได้มีการสั่งจองวัคซีนของ Sinovac จำนวน 2 ล้านโดส แต่ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่า จะได้รับวัคซีนช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ตามที่คาดไว้หรือไม่ ?
ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ ใช้วิธีบริหารความเสี่ยง ด้วยการสั่งจองวัคซีนกับหลายบริษัท ร่วมทั้งเข้าร่วมโครงการ COVAX ทำให้ในวันนี้ หลายประเทศได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วจำนวนมาก ในขณะที่คนไทยยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย... แม้แต่เข็มเดียว
บทความที่เกี่ยวข้อง
สรุป เหตุผลที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการจัดหาวัคซีนของ COVAX