svasdssvasds

อังคณา ตั้งคำถามหลังทักษิณ โผล่ Clubhouse และถูกถาม 17 ปีกรือเซะ-ตากใบ

อังคณา ตั้งคำถามหลังทักษิณ โผล่ Clubhouse และถูกถาม 17 ปีกรือเซะ-ตากใบ

กระแส Clubhouse เทรนด์ฮิตปี 2021 ยังร้อนแรงต่อเนื่อง เพราะดูจะกลายเป็นพื้นที่ในการแสดงออกของใครหลายๆคน โดยเฉพาะเมื่อคืนวานนี้ (22 ก.พ.) ที่มีการปรากฏตัวของผู้ใช้ที่ชื่อว่า “Tony Woodsome” และเสียงของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้ทักทายสมาชิกในห้อง "ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้!" ที่มีคนฟังเต็ม 8,000 คน อย่างรวดเร็ว แถมยังแตกห้องถ่ายทอดเสียงออกไปอีก 9 ห้องด้วยกัน

สาระสำคัญเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การเปรียบเทียบนโยบายสมัยที่เคยดำรงตำแหน่ง กับรัฐบาลชุดปัจจุบันของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค ,กองทุนหมู่บ้าน ,หวยใต้ดิน ,การสร้างรายได้ และอื่นๆมากมาย แต่ประเด็นที่สร้างกระแสข้ามคืนจนติดเทรนด์โซเชียล คือ สมาชิก Clubhouse ได้ตั้งถามถึงอดีตนายกฯทักษิณ ถึงเรื่องการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปี 2547 การปิดล้อมมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี และการสลายการชุมนุมที่ตากใบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 100 คน ซึ่งอดีตนายกฯทักษิณ ตอบว่า “เป็นเรื่องของหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ และตอนนี้จำเหตุการณ์ไม่ค่อยได้แล้ว”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• "ทักษิณ ชินวัตร" โผล่ร่วมวง Clubhouse ห้อง "ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้"

 

ล่าสุด นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานกรรมการในคณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรองประธานในคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า

#17ปีกรือเซะตากใบ #สงครามยาเสพติด #17ปีสมชายนีละไพจิตร #รัฐตำรวจ

เมื่อคืนใน CH มีเด็กตั้งถามคุณทักษิณเรื่องกรือเซะ ตากใบ คุณทักษิณเองก็คงไม่คิดว่าจะมีเด็กรุ่นใหม่ถามคำถามถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2547 อาจไม่ทันตั้งตัว และอาจไม่อยากพูดถึง เลยตอบไปสั้นๆว่า “จำไม่ค่อยได้” แต่เสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คำตอบของคุณทักษิณเป็นเทรนในทวิตเตอร์ว่า #ตากใบจำไม่ได้ 

อย่างไรก็ดีคุณทักษิณได้พูดออกมาคำหนึ่งว่า “ตอนนั้นมีการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก” ซึ่งแกนนำการล่ารายชื่อยกเลิกกฎอัยการศึกช่วงนั้น คือ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ถูกอุ้มฆ่า (12 มีนาคม 47) ก่อนการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในเหตุการณ์กรือเซะ ประมาณเดือนเศษ (28 เมษายน 47) 

กรณีเหตุการณ์ความรุนแรงใน จชต. คุณทักษิณเคยกล่าวขอโทษและแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิตและผู้ถูกบังคับสูญหาย และต่อมารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ได้ให้การชดใช้เยียวยาความเสียหายแก่ครอบครัว พร้อมๆกับการเยียวยาผู้เสียหายทางการเมืองในเหตุการณ์ปี 53 ด้วยเหตุผลว่า “#เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ” ซึ่งจำได้ว่าสร้างความไม่สบายใจแก่หน่วยงานความมั่นคงอย่างมาก อย่างไรก็ดี การเยียวยาด้วยตัวเงินครั้งนั้นไม่ได้นำสู่การเยียวยาทางกฎหมาย เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ผู้เสียชีวิต ผู้สูญหายและครอบครัว จึงทำให้ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล #Impunity

ความที่คุณทักษิณเป็นตำรวจ อาจทำให้มีความเชื่อมั่นและไว้ใจในการทำงานของตำรวจ ให้อำนาจแก่ตำรวจมาก จนปราศจากการตรวจสอบ จึงเป็นที่มาของคำว่า #รัฐตำรวจ และทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่หากสังเกตจะพบว่าแม้คุณทักษิณจะถูกฟ้องร้องหลายต่อหลายคดีจนต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ แต่อัยการไม่เคยฟ้องคุณทักษิณกรณีกรือเซะ ตากใบ หรือสงครามยาเสพติด และการอุ้มหายประชาชนจำนวนมากในช่วงนั้น หรืออาจเป็นเพราะกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงเหล่านี้มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง #ตำรวจ และ #ทหาร ที่ทุกวันนี้ทุกคนที่เกี่ยวข้องยังมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนยศเหมือนไม่เคยได้กระทำผิดใดๆมาก่อน

หรืออาจมี #ผู้เกี่ยวข้องอื่น ตามที่คุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้กล่าวไว้เมื่อคืน และยังแนะนำให้ #บันทึกประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเป็นการเปิดเผยความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น และจะได้นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ และคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อ เสียดายที่คดีกรือเซะ ตากใบ อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากให้เหตุผลว่า #ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต และญาติเองซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาๆก็คงไม่มีเรี่ยวแรงพอจะลุกขึ้นมาฟ้องหน่วยงานความมั่นคง ปีนี้ กรณีกรือเซะตากใบครบ 17 ปี จึงมีอายุความ เหลืออีกเพียง 3 ปี ในการเข้าถึงสิทธิในความยุติธรรม ในขณะที่การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ (continuous crime) ตามกฎหมายสากล แต่กรณีการบังคับสูญหายหลายคดี รวมถึงคดีสมชาย นีละไพจิตร ที่เป็นคดีพิเศษ ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็มีคำสั่งงดการสอบสวนด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ เนื่องจาก #ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้กระทำผิด ขณะเดียวกัน รัฐบาลชุดนี้ก็มีความพยายามอย่างมากในการลบชื่อบุคคลสูญหายในประเทศไทยจากรายชื่อคนหายของสหประชาชาติ เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยไม่มีคนหาย 

17 ปีที่ผ่านมา จึงไร้ซึ่งความยุติธรรม และการเปิดเผยความจริง เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่สังคมไทยควรชำระ #ประวัติศาสตร์บาดแผล ต่างๆเสียที ทั้ง 6 ตุลา พฤษภา 35 กรืเซะ ตากใบ เพื่อไม่ต้องให้เด็กรุ่นใหม่ต้องย้อนกลับไปหาข้อมูลใน Google เพื่อศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้น เรื่องนี้คงต้องฝากคำถามถึงนายกฯประยุทธ และรองฯประวิตร ว่า #กล้าไหม

#การรักษาความทรงจำของเหยื่อ เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาประวัติศาสตร์ แม้จะเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล แต่เราทุกคนจึงควรร่วมกันจดจำ และแม้จะไม่สามารถแก้ไขอดีตได้ แต่การเรียนรู้อดีตจะทำให้เราสามารถป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และผู้กระทำผิดทุกคนต้องได้รับโทษ เพื่อยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในประเทศไทย 

บทสรุป

แม้จะผ่านมาแล้วเกือบยี่สิบปี “เหตุการณ์ตากใบ-กรือเซะ” ไม่เพียงแต่จะเป็นบาดแผลฝังลึกในพื้นที่ เป็นหนึ่งในเงื่อนไขของความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยังคงเป็นเหมือนวิญญาณที่ตามหลอนบุคคลที่เกี่ยยวข้อง ไม่เว้นแม้แต่อดีตผู้นำประเทศอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ตราบใดที่ประวัติศาสตร์หน้านี้ยังไม่ได้รับการชำระอย่างเหมาะสม

related