svasdssvasds

บก.ใหญ่เนชั่น วอนศาลฯพิจารณาปมแก้ รธน. หวั่น “แท้งก่อนโหวต”

บก.ใหญ่เนชั่น วอนศาลฯพิจารณาปมแก้ รธน. หวั่น “แท้งก่อนโหวต”

บรรณาธิการบริหารเนชั่นทีวี ช่อง22 วิเคราะห์ปมส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความปมแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยวิธีการเปิดทางให้ยกร่างใหม่ เป็นเรื่อง "ไร้สาระ" เล่นคำทำตนเป็น ศรีธนญชัย อาจส่งผลให้กระบวนการตั้ง ส.ส.ร.แท้งก่อนที่ประชุมรัฐสภาจะโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 หวั่นปลายทางต้องพึ่งทหารฉีกรัฐธรรมนูญอีก วอนศาลฯพิจารณา

นายปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการบริหารเนชั่นทีวี ช่อง22 ได้ยกบทความจากคอลัมน์ โหมโรง ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 1 มีนาคม 2564 มาโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Pakorn Puengnetr โดยระบุว่า “กราบเรียนท่านศาล รธน. ข่าวลือเรื่อง "ล้มร่างรัฐธรรมนูญ" มาแรงมาก ข่าวแจ้งว่าศาลรัฐธรรมนูญเตรียมจะวินิจฉัยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยวิธีการเปิดทางให้ยกร่างใหม่นั้น ไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้กระบวนการตั้ง ส.ส.ร.แท้ง เป็นการแท้งก่อนที่ประชุมรัฐสภาจะโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ที่นัดหมายกันไว้ราวๆ วันที่ 17 มี.ค. หรือช่วงกลางเดือน

ผมมองว่าการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นนี้เป็นเรื่อง "ไร้สาระ" และเป็นการเล่นคำเหมือนพวกศรีธนญชัย ทำนองว่า มาตรา 256 ซึ่งมีถึง 9 อนุมาตรา เป็นเรื่องของหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เปิดช่องให้ยกร่างใหม่ จึงอ้างว่าการแก้ไขเพื่อเปิดทางให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับไม่สามารถทำได้ บางคนใช้คำแรงว่าเป็นการแก้แบบ "ลูกฆ่าแม่" เลยด้วยซ้ำ

ถ้าใช้การเล่นคำแบบไม่ต้องสนตรรกะแบบนี้ ก็ต้องไปฟัง คุณชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขาบ้าง ที่บอกว่านี่ไม่ได้เป็นการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 (ฮา)

แต่จริงๆ แล้วถ้าเราหลับตานึกถึงรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายทั่วๆ ไป คงไม่มีใครบ้าเขียนหลักเกณฑ์และวิธีการในการยกเลิกกฎหมายเอาไว้ในตัวบทของกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ เลย ด้วยเหตุนี้การจะยกเลิกกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างใหม่ จึงเป็นหน้าที่ของสภา ในฐานะตัวแทนประชาชน และรับผิดชอบต่อประชาชน

วิธีการที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันก็คือ แก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไข ซึ่งก็คือมาตรา 256 เพื่อให้สามารถตั้ง ส.ส.ร.เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

คำถามคือการแก้ไขแบบนี้มันขัดรัฐธรรมนูญตรงไหน และในอนุ 8 ของมาตรา 256 ก็เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า ถ้าจะแก้ไขมาตรานี้ คือแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องนำไปทำประชามติก่อน ซึ่งก็หมายถึงนำไปสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยว่าจะยอมให้แก้หรือไม่

ถามแบบกวนๆ ก็คือ "แล้วศาลเกี่ยวอะไรไม่ทราบ?"

การแก้ไขมาตรา 256 ย่อมสามารถกระทำได้ เพราะหากทำไม่ได้ ก็ต้องเขียนไว้ในมาตรา 255 แล้ว ย้อนไปดูมาตรา 255 บัญญัติว่า "การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทํามิได้"

ฉะนั้นการแก้ไขมาตรา 256 จึงทำได้ แต่จะมีผลบังคับใช้หรือไม่ ต้องผ่านประชามติจากประชาชนก่อน ซึ่งก็ถือว่าสมเหตุสมผล ตรงตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่ "เสียงของประชาชน" ใหญ่ที่สุด

ต้องไม่ลืมว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบให้มี ส.ส.ร.เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับนั้น ผ่านการรับหลักการวาระ 1 จากรัฐสภามาแล้ว วันนี้ใครที่พูดว่าถ้าร่างใหม่ทั้งฉบับไม่ได้ ก็ให้ไปแก้รายมาตรา ก็ต้องถามกลับว่าทำไมวันที่มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามา 6-7 ร่าง เป็นร่างที่เสนอแก้รายมาตราถึง 4-5 ร่าง เหตุใดจึงไม่รับร่างแก้ไขรายมาตรา แต่มารับร่างแก้ไขแบบยกร่างใหม่ทั้งฉบับทำไม

 

 

บอกตรงๆ คนในรัฐบาลพูดอะไรตอนนี้ก็มีแต่ลักลั่น สับปลับ กลับไปกลับมา ไม่ต่างอะไรกับไม้หลักปักเลน หาสาระอะไรให้ยึดเหนี่ยวไม่ได้เลย

สุดท้ายหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะของการยกร่างใหม่ทำไม่ได้ ก็คงต้องหมายความว่าถ้าอยากจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่สามารถใช้กระบวนการทางรัฐสภาได้ ต้องไหว้วานให้ทหารปฏิวัติฉีกรัฐธรรมนูญอย่างเดียวหรืออย่างไร

ตรรกะเหตุผลแบบนี้มันไปได้จริงๆ หรือ ฝากศาลท่านช่วยพิจารณา...

ที่มา : คอลัมน์โหมโรง นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 1 มี.ค.64

related