svasdssvasds

"สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์" AI Sandbox แห่งแรกของไทย มุ่งพัฒนาทักษะ AI โดย 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำ

"สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์" AI Sandbox แห่งแรกของไทย มุ่งพัฒนาทักษะ AI โดย 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำ

เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างสูง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) พร้อมด้วย 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย จึงร่วมกันจัดตั้ง "สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์" ขึ้น

สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) พร้อมด้วย 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่

  • มหาวิทยาลัยมหิดล
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ ปั้นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์, ผลักดันการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในยุคอุตสาหกรรม 4.0

ศ. ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่า อว. มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาและเสริมสร้างนวัตกรรมในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะการทำงานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เนื่องมาจากในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทั่วโลกได้นำปัญญาประดิษฐ์มาใช้อย่างแพร่หลายทำให้เกิดการแข่งขันทางเทคโนโลยีในรอบใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยในการแข่งขันในเวทีโลก

ศ. ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ดังนั้น เพื่อลดช่องว่างในการแข่งขันระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้ว การพัฒนางานวิจัยและกำลังคนรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการวางเป็นรากฐานเพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทย สอดรับกับเป้าหมายสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี พ.ศ. 2580

อีกประเด็นที่น่าสนใจจากความร่วมมือจัดตั้ง สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ คือ การเปิดโอกาสให้นักศึกษาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ เรียนรู้และฝึกประสบการณ์แบบข้ามมหาวิทยาลัยได้ โดยเริ่มในปีการศึกษา 2565 นี้ 

ภาพขณะลงนามความร่วมมือจัดตั้ง สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์

ศ. ดร.ศุภชัย กล่าวต่อว่า การร่วมมือกันจัดตั้ง สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ เป็นมิติใหม่ของการผลิตกำลังคนของระบบอุดมศึกษาในอนาคต ซึ่งจะช่วยพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศที่มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมให้ทันเวลากับการใช้งาน ตามความต้องการ และการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้นโยบาย การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาทั่วไป (Higher Education Sandbox) สู่การแบ่งปันทรัพยากรร่วมกับมหาวิทยาลัยพันธมิตร สถาบันดังกล่าวยังสร้างรูปแบบและวิธีการจัดหลักสูตรแบบทลายข้อจำกัดในทุกๆ ด้านของระบบการจัดการศึกษาในปัจจุบัน อาทิ ด้านมาตรฐานในการเรียนการสอน ผู้สอน หลักสูตร หรือหน่วยกิต รวมถึงสถานที่จัดการเรียนการสอน 

ด้าน รศ. ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า เพื่อแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพในการบริหารหลักสูตรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ร่วมกัน จึงร่วมกันจัดการศึกษาที่แตกต่างโดยอาศัยหลักการ แซนด์บ็อกซ์ (SANDBOX) พลิกรูปแบบการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาไทยอย่างสิ้นเชิง เริ่มปีการศึกษา 2565

อาทิ เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาข้ามสถาบัน สามารถใช้หน่วยกิตของรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันระหว่างสถาบันที่มีความร่วมมือให้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยกิตในหลักสูตรของสถาบันที่นักศึกษาสังกัดได้ นำรายวิชาที่มีการลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันไปอยู่ในระบบคลังหน่วยกิตและเก็บสะสมได้ตามข้อกำหนดของแต่ละสถาบัน รวมทั้งส่งเสริมประสบการณ์ทางวิชาการและสังคมแก่นักศึกษา เป็นต้น

สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ที่ตรงกันของผู้บริหารทั้ง 6 มหาวิทยาลัย ซึ่งเล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาด้านการทรัพยากรสมรรถนะสูง เพื่อสร้างผลงานวิจัย นวัตกรรม ด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยให้สำเร็จเป็นรูปธรรม รองรับการเติบโตของประเทศในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล

รศ. ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล

รศ. ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันจำนวนบัณฑิตด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและคอมพิวเตอร์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพราะจากรายงานแนวโน้มความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตของ สอวช. พบว่า

  • ในอีก 5 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์จะมีความต้องการบุคลากรเป็นจำนวนสูงถึง 34,505 ตำแหน่ง
  • ขณะที่รายงานสารสนเทศด้านการศึกษาในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัลและคอมพิวเตอร์ของประเทศไทยปี 2560 - 2564 พบว่านักศึกษามีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีการศึกษา 2564 พบจำนวนนักศึกษาใหม่ 17,485 คนและลดลงกว่าปี 2560 ถึงร้อยละ 7.6 หรือในจำนวน 18,902 คน

อย่างไรก็ตาม สถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความขาดแคลนด้านกำลังคนเพื่อรองรับความต้องการในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล

CMKL จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ในครั้งนี้ จะช่วยลดอุปสรรคด้านการเรียนรู้ด้วยพัฒนาหลักสูตรแบบเน้นสมรรถนะของผู้เรียน (Competency-based Education) ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงผ่านความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย โดยกระตุ้นให้นักศึกษามีความสนใจเข้าศึกษาต่อสาขาเทคโนโลยีดิจิทัล คอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์มากยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถผลิตบุคลากรให้เพียงพอความต้องการของประเทศได้” รศ. ดร.สุพันธุ์กล่าวปิดท้าย

นอกเหนือจากการพัฒนากำลังคนแล้ว การจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ยังช่วยพัฒนาด้านงานวิจัยในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ ตลอดจนวิสาหกิจชุมชนในการนำนวัตกรรมมาใช้ยกระดับในกระบวนการผลิต การบริการ ตลอดจนช่องทางการจัดจำหน่ายร่วมด้วย

ขณะสาธิตการใช้งาน "น้องพอใจ" เอไอผู้ช่วยสื่อสารภาษาถิ่นกับระบบรู้จำเสียงอัตโนมัติ

หนึ่งในนวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจในการยกระดับสินค้าชุมชนเข้าสู่แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) นั่นคือ น้องพอใจ เอไอผู้ช่วยสื่อสารภาษาถิ่นกับระบบรู้จำเสียงอัตโนมัติที่คล้ายคลึงกับที่มีอยู่ในระบบต่างๆ ทั้ง Siri, Alexa, Google Assistant ให้เข้าใจภาษาถิ่นทุกภูมิภาคของไทย เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสินค้าชุมชนสามารถใช้ภาษาถิ่นในการนำสินค้าเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ จึงเป็นความร่วมมือด้านวิชาการที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาของประเทศไทย (Reinventing University System) และความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาน่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

related