svasdssvasds

UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2021 ธุรกิจไทยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โกลบอลคอมแพ็ก ประเทศไทย ได้ผนึกกำลัง 3 ซีอีโอองค์กรสมาชิกชั้นนำ ร่วมแชร์วิสัยทัศน์เปลี่ยนโลกสู่ความยั่งยืน ในงาน UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2021 หวังผลักดันภาคเอกชนให้พัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก โดยเฉพาะการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ผู้นำความยั่งยืนระดับโลก เข้าร่วมงาน “UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2021” ของ UN Global Compact  มากกว่า 20,000 คน จาก 165 ประเทศทั่วโลกร่วมขับเคลื่อน SDGs ระบุ “โลกร้อน” เป็นประเด็นเร่งด่วนต่อจาก COVID-19

มหันตภัยโลกร้อน เป็นเรื่องที่ผู้นำความยั่งยืนจากทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยมองว่าปี ค.ศ. 2021 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะขับเคลื่อนโลกไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) สอดรับกับความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ของหลายประเทศ ที่ประกาศเป้าหมายและมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ตามข้อตกลงปารีสที่ต้องการให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ การผนึกกำลังของซีอีโอบริษัทไทยชั้นนำในเวทีโลกปีนี้ ยังสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ในการเป็นเครือข่ายความยั่งยืนยุคใหม่ที่จะร่วมกันลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก (A New Era of Action)

UN Global Compact

นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ  ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้นับเป็นปีที่สองที่ประเทศไทยได้รับเกียรติจาก UN Global Compact ให้ร่วมเป็นเจ้าภาพในเวทีสัมมนาระดับโลก โดยมีซีอีโอองค์กรธุรกิจไทยชั้นนำ ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ถึง 3 องค์กรใน 3 เวทีสำคัญ เริ่มจากเวทีหลักซึ่งเป็นหัวใจของงาน คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Light the Way to Glasgow and Net Zero: Credible Climate Action for a 1.5 °C World”  หรือ “จุดคบเพลิงเพื่อมุ่งหน้าสู่การประชุม COP26 Glasgow และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ : ลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส” 

คุณแดน ปฐมวาณิชย์  ซีอีโอ บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาในหัวข้อ “A New Era of Action. Accelerate Climate Action : Raising Business Pathway to Decarbonization” หรือ “การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ : ยกระดับแนวทางธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

คุณโฮ เรน ฮวา ซีอีโอ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาในหัวข้อ SDG Ambition: Mobilizing Ambitions Corporate Actions Towards the Global Goals หรือ ยกระดับการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจสู่เป้าหมายความยั่งยืนระดับโลก

ผู้บริหารจาก 3 องค์กรชั้นนำ ซึ่งถือเป็นตัวแทนประเทศไทย ได้แสดงวิสัยทัศน์ที่สะท้อนถึงศักยภาพของภาคธุรกิจไทยที่พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนในระดับโลก และเป็นตัวอย่างขององค์กรธุรกิจที่นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก (Global Goals) มาผนวกเข้ากับเป้าหมายองค์กร มีแผนงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมทั้งวัดผลได้ โดยเฉพาะเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

นายศุภชัย เจียรวนนท์

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า การที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ต้องเริ่มจากการทำให้คนในประเทศตระหนักถึงปัญหาการบริโภคที่ยังไม่ยั่งยืน ทั้งระดับบุคคลและบริษัท เช่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไปมาอย่างยาวนานที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ  ในฐานะที่ธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์เกี่ยวข้องกับอาหาร การเกษตร และการค้าปลีก จึงพยายามทำงานร่วมกับพันธมิตรมากกว่า 100,000 ราย ในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และที่สำคัญ ต้องสร้างความตระหนักรู้ให้พนักงานกว่า 400,000 คนของเครือฯ เดินตามเป้าหมายเดียวกัน

เครือเจริญโภคภัณฑ์ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า จะดำเนินการใน 3 หัวข้อหลัก  คือ

1) ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนตามปริมาณที่เครือฯ ต้องการใช้ในปี 10 หน้า 1,600 เมกะวัตต์ โดยจะลงทุนเรื่องพลังงานสีเขียวกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

2) ปลูกป่าให้ได้ 16 ล้านไร่ เพื่อครอบคลุมการชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ใน 10 ปีข้างหน้า รวมถึงมุ่งมั่น
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครอบคลุมพื้นที่ของเกษตรกรในห่วงโซ่อุปทาน

3) ขับเคลื่อนการกำจัดขยะ โดยเฉพาะขยะอาหารในกระบวนการทั้งหมดให้เป็นศูนย์

นอกจากนี้ นายศุภชัย ได้ยกตัวอย่างพื้นที่ในภาคเหนือของประเทศไทยว่า มีภูเขาหัวโล้นจำนวนมาก เนื่องจากระบบเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว (mono-crop) แต่เมื่อมีการส่งเสริมให้เปลี่ยนระบบเกษตรไปทำแบบผสมผสาน ก็ทำให้พื้นที่ป่าบนภูเขาเพิ่มขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า เราต้องหยุดการตัดป่าอย่างต่อเนื่อง และแนะนำให้นำเทคโนโลยี เช่น บล็อกเชน และ IoT มาช่วยจัดการดูแลระบบเกษตรกรรมมากขึ้น

“ผมอยากให้ในงานประชุม COP26 ระหว่างผู้นำโลก ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งจะจัดขึ้นเดือน พ.ย. 2564 เรียกร้องให้รัฐบาลและตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละประเทศ กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และภาคเอกชน ตั้งเป้าหมายความยั่งยืนและทำรายงานเกี่ยวกับ zero emission เพื่อช่วยขับเคลื่อนทั้งระบบนิเวศ (eco-system) ให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดอุณหภูมิโลกเกิดขึ้นได้จริง ตามเป้าหมายภายในปี 2593 โดยภาคเอกชนควรมองเรื่องเหล่านี้เป็นโอกาสทางธุรกิจ เมื่อเราหันมาลงมือทำอย่างจริงจัง และสุดท้าย อยากให้ระบบการศึกษาของคนรุ่นใหม่ ปรับจากยุค 2.0 เป็น 4.0 ที่ไม่เพียงเน้นเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี แต่ต้องสอนให้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการดำรงชีวิตอย่างยั่นยืนด้วย” นายศุภชัย กล่าว

นายแดน ปฐมวาณิชย์

ด้านนายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)  เปิดวิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กรว่า เอ็นอาร์เอฟ จะทำให้โลกปลอดคาร์บอนผ่านการเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร โดยระบุอยู่ในทุกสิ่งขององค์กร ตั้งแต่วิสัยทัศน์ นโยบาย และเป้าหมายที่จะเป็นผู้ผลิตโปรตีนทางเลือกและอาหารจากพืชที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสร้างเครือข่ายกำลังการผลิตที่ครอบคลุมมากที่สุดในโลก ตั้งแต่แบรนด์ระดับสากลไปจนถึงสตาร์ทอัพ สู่ซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อเปลี่ยนไปสู่การผลิตอาหารคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน สิ่งที่เอ็นอาร์เอฟให้ความสำคัญ ก็คือ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้เข้าใจถึงวิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กร ด้วยการมีนโยบายที่ชัดเจนที่ถ่ายทอดจากระดับผู้บริหารสูงสุด ไปถึงผู้บริหารระดับกลาง และผู้ปฏิบัติงานในระดับจัดซื้อ เพื่อให้มั่นใจว่าได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานขององค์กร

ซีอีโอ เอ็นอาร์เอฟ ยังได้แชร์มุมมองที่น่าสนใจว่า ความท้าทายสำคัญในธุรกิจอาหาร ก็คือ การเปลี่ยนผ่านจากผู้ผลิตที่ทำการเกษตรบนพื้นฐานของสารเคมี ไปสู่การทำการเกษตรชีวภาพ ที่ไม่ใช่สารเคมี  เพราะถ้าทำเช่นนี้ได้ย่อมทำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจำไปได้ในตัว “COVID-19 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในห่วงโซ่อุปทาน เพราะทุกคนต้องการมีสุขภาพดี ทุกคนต้องการอาหารสะอาด และต้องการ “เดี๋ยวนี้”  สิ่งที่ทุกคนต้องการ ไม่เพียงแต่ทำให้ตนเองรู้สึกดี แต่ยังทำให้โลกดีขึ้นด้วย การเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองสิ่งที่ผู้คนต้องการนี้ จะผลักดันให้ภาคธุรกิจยกระดับแผนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้เป็นบริษัทแห่งตวรรษที่ 22” นายแดน กล่าว

นาย โฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของของวิสัยทัศน์และกลยุทธ์หลักของไทยวา โดยวิสัยทัศน์ของไทยวา คือ “พัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมและความยั่งยืนจากไร่สู่มือผู้บริโภค” ผ่านการดำเนินกลยุทธ์ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกด้านตลอดห่วงโซ่คุณค่า ภายใต้ 4 เสาหลัก คือ เกษตรกร (Farm) โรงงาน (Factory) ครอบครัวไทยวา (Family) และอาหาร (Food)

ไทยวา กำลังจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในปลายปีนี้ เป็นการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่าง พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งนอกจากจะสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 100% ปลอดสารพิษและไม่เป็นอันตราย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย โดยไทยวาจะเป็นผู้บุกเบิกพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากมันสำปะหลังรายแรกของไทย และมีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพชั้นนำในระดับภูมิภาค เพื่อนำไปสู่แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรในระยะยาว  ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างทวนสอบรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งปีหลังนี้

ซีอีโอ ไทยวา ยังย้ำว่า ภาคเอกชนและภาครัฐ จะผลักดันการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคมได้ เช่นเดียวกับที่ไทยวาทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยชั้นนำ และสตาร์ทอัพ ในการวิจัยพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ จนถึงคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม  “ความยั่งยืน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และไม่สามารถสร้างได้จากคนคนเดียว แต่จะต้องเกิดจากการระดมสมองและความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งในและนอกองค์กร ที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว และแน่นอนว่ามันดีกว่าการทำงานตัวคนเดียวมาก อย่างที่คุณคาดไม่ถึงเลย” นายโฮ เรน ฮวา กล่าว

ในส่วนขององค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รับผิดชอบด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ อบก. ซึ่งเข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการระบาดของโควิด-19 ยังมีอยู่ในประเทศไทย แต่จากข้อมูลของ อบก. พบว่าหลายบริษัทในไทยได้ยกระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  เพื่อช่วยกันบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยในปี 2563 มีถึง 193 บริษัทที่ได้รับการรับรองเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์  และมีหลายบริษัทที่ดำเนินโครงการเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ มากขึ้น ซึ่ง อบก. จะร่วมมือกับ GCNT สนับสนุนองค์ความรู้และข้อมูลทางเทคนิคทุกอย่าง เพื่อให้บริษัทสามารถตั้งเป้าหมาย ดำเนินการ ตรวจสอบ และได้รับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ธันยพร กล่าวทิ้งท้ายว่า “UN Global Compact ให้ความสำคัญอย่างมาก กับการผลักดันและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีบทบาทในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นไปที่การกำหนดเป้าหมายตามหลักวิทยาศาสตร์ที่มีนัยสำคัญและวัดผลได้ ซึ่งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact จะเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ให้กับองค์กรธุรกิจไทย  เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจเอง โดยถือเป็นสร้างโอกาสทางธุรกิจรูปแบบใหม่ และหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย”