svasdssvasds

เด็กและเยาวชนทำผิด ต้องรับโทษเหมือนหรือแตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างไร ?

ถ้าเด็กและเยาวชนทำผิด ถูกจับ ถูกดำเนินคดี จะต้องรับโทษเหมือนหรือแตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างไรบ้าง แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนต้องรับผิดชอบด้วยไหม ?

“เด็ก” กับ “เยาวชน” ต่างกันยังไง ?
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด 4 กฎหมาย ได้แก่ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ, พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก, ประมวลกฎหมายอาญา และ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ.2553
กำหนดนิยาม เด็กคือผู้ที่อายุไม่ถึง 15 ปี ส่วนเยาวชนคือผู้ที่อายุระหว่าง 15-18 ปี จุดประสงค์ของกฎหมายนี้ คือ การคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และวิธีปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน
ด้วยมุมมองเรื่องวุฒิภาวะของเด็กและเยาวชนอาจแตกต่างจากผู้ใหญ่ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการกระทำผิด ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ​กำหนดไว้ว่า
คดีอาญาที่มีข้อหาเด็กและเยาวชนทำความผิดให้ยึดตามอายุของเด็กและเยาวชนในวันที่กระทำผิด โดยกฏหมายฉบับนี้จะเน้นคุ้มครองและให้สิทธิเด็กและเยาวชน โดยจะช่วยเหลือแก้ไขและบำบัดฟื้นฟูเป็นส่วนใหญ่

แต่ถ้าเป็น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
จะมีข้อแตกต่างตรงคำนิยาม ใครที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ถือเป็นว่า “เด็ก” แต่ไม่รวมคนที่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเน้นเรื่องการปฏิบัติต่อเด็ก และจะคำนึกถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

    เด็กและเยาวชนทำผิด ต้องรับโทษเหมือนหรือแตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างไร ?      

กฎหมายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนต่อมา ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 73-76

มาตรา73 ผู้ที่อายุไม่เกิน 12 ปี ถ้าทำผิดไม่ต้องรับโทษ

มาตรา74 ผู้ที่อายุ 12 - 15 ปี ถ้าทำผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลอาจมีการพิจารณา เพิ่มมาตรการพิเศษ เช่น

  1. การว่ากล่าวตักเตือน
  2. มีการวางกรอบระยะเวลาตามความเหมาะสมว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องควบคุมดูแลพฤติกรรมของเด็ก ห้ามกระทำผิดซ้ำ ถ้าหากทำ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องชำระเงินต่อศาลไม่เกินครั้งละ 10,000 บาท
  3. ส่งตัวไปสถานอบรม
  4. กำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติ หรือตั้งผู้คุมประพฤติคอยควบคุม
  5. ส่งมอบตัวเด็กให้บุคคลหรือองค์กรเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน

มาตรา 75 ระบุผู้ที่อายุ 15-18 ปี หากทำผิด ศาลจะพิจารณาว่าจะลงโทษหรือไม่ ถ้าตัดสินลงโทษให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าไม่ลงโทษ อาจมีการกำหนดดำเนินการฟื้นฟู
ตามมาตรา 74

มาตรา 76 ระบุว่า อายุ 18 - 20 ปี ถ้าทำความผิด ต้องรับโทษแบบผู้ใหญ่ แต่ศาลสามารถพิจารณาลดโทษให้ 1 ใน 3 หรือ ลดกึ่งหนึ่งก็ได้

ส่วนถ้าเกิดการกระทำผิดซ้ำ กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่สามารถเอาความผิดเดิมมาเป็นเหตุเพิ่มโทษได้ไม่ว่าจะทำผิดซ้ำกี่ครั้งก็ตาม

จริงๆก่อนหน้านี้กฏหมายมีการกำหนดไว้ว่าถ้าอายุไม่เกิน 10 ปี จะได้รับการละเว้นโทษ แต่ในปี 2565 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 29 โดยเปลี่ยนจากอายุ 10 ปี
เป็น 12 ให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

กฎหมายสุดท้ายคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ซึ่งมีการกำหนดไว้ว่า หากเด็กไปกระทำผิด พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบโทษทางแพ่ง โดยการชดใช้สินไหมทดแทน เว้นแต่ศาลพิจารณาว่าดูแลเด็กดีแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related