SHORT CUT
เปิดใจ "เจ๊โบว์ จอมนางแห่งสวนหลวง" กว่า 20 ปีกับร้านข้าวมันไก่ ทำให้เธอมีทุกวันนี้ ทั้งความรัก มิตรภาพ และคุณภาพชีวิต ถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลงและลองใช้ชีวิตในมุมใหม่ที่ไม่เคยลอง
หลังปิดร้านข้าวมันไก่ ย่านถนนบรรทัดทอง จุฬาฯ "เจ๊โบว์ กนกวรรณ ศรีกมลศิริศักดิ์" ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ SPRiNG ถึงเส้นทางชีวิต เจ้าของร้านข้าวมันไก่รุ่นที่สอง มาถึงวันที่เลิกกิจการ "ข้าวมันไก่" ให้อะไรกับเธอบ้าง?
เจ๊โบว์ เล่าว่า ข้าวมันไก่คือธุรกิจครอบครัว ขายมาตั้งแต่รุ่นคุณป้า สมัยนั้นราคาจานละ 12 บาท เธอก็ช่วยล้างจาน ช่วงเสิร์ฟ มาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กนักเรียนมัธยมต้น แต่พอคุณลุง คุณป้า ต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น พวกเขาก็ส่งต่อสูตรมาให้ แต่ละวันแม่จะเป็นคนเตรียมของไว้ให้ หลังเธอเลิกเรียนก็กลับมาขายข้าวมันไก่ที่ตลาดสวนหลวง
เธอเล่าว่าจุดขายของร้านข้าวมันไก่ของเธอ นอกจากซุปกระดูกแล้ว ยังมีความแซ่บของแม่ค้า ที่ต่อปากต่อคำ พูดคุยกับลูกค้าได้อย่างสนุกสนานเป็นกันเอง แต่เคล็ดลับที่สำคัญกว่านั้นคือการใส่ใจลูกค้าว่าคนไหนชอบหรือไม่ชอบกินอะไร เราจะจำได้ ต้อนรับเขาเหมือนเป็นพี่น้อง และทำให้เขารู้สึกว่ามันกินข้าวที่บ้านเพื่อน มาเม้ามอย หรือแม้แต่ลูกค้าที่ไม่ค่อยมีเงิน ขอข้าวเพิ่มเราก็ให้ได้ กินแล้วยังไม่มีเงินก็ติดเงินไว้ก่อนได้ จนนิสิตต่างขนานนามว่าเป็น "จอมนางแห่งสวนหลวง"
"ลูกค้าก็เหมือนเพื่อน เป็นกันเอง เราต้องจำลูกค้าให้ได้ว่าอาเจ็กคนนี้กินอะไร แล้วเขาก็จะประทับใจเรา มากินบ่อยๆ ไม่ต้องสั่ง มาถึงนั่งได้เลย พร้อมเสิร์ฟ"
"เราก็กันเองกับเขา เขาอยากได้อะไรพิเศษ บางทีเราก็ไม่ได้คิดตังค์ เด็กจุฬาฯ ก็ไม่ได้มีตังค์กันทุกคน ขายให้เด็กๆ กินอิ่มแล้วก็ไปเรียน แต่บางคนเขาก็จำเราได้ในมุมนี้ วันนั้นเขาไม่มีตังค์ เดี๋ยวมาจ่าย เราก็ไม่ว่า เขาก็ประทับใจเรา"
แต่สิ่งที่ทำให้เธอประทับใจมากที่สุดคือ หลายคนพาลูกกลับมากินแล้วบอกว่า "ร้านนี้พ่อมากินตั้งแต่เฟรชชี่" เราก็รู้สึกดีใจที่เขายังจำเราได้ หลายคนที่เป็นคนดัง ก็ยังกลับมากินข้าวมันไก่ที่ร้าน เช่น ฟาโรส อาเล็ก ธีรเดช หรือแบมแบม ฯลฯ
เธอใช้เวลาทั้งวันเกือบ 12 ชั่วโมงต่อวัน นานกว่า 20 ปีกับข้าวมันไก่ มันเหมือนจะเสิร์ฟง่าย แต่ทุกขั้นตอนต้องใช้เวลา เช่น ต้มน้ำ 30 นาที ต้มไก่ 1 ชั่วโมง หุงข้าวอีก 1 ชั่วโมง ปรุงน้ำซุปอีก 1 ชั่วโมง ยังไม่รวมการหมักไก่ เตรียมเครื่องปรุง เช็กสต็อก ฯลฯ
สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือช่วงเวลาหลังจากที่แม่ป่วย ขาดกำลังสำคัญ เธอต้องวางแผนใหม่ เจ๊โบว์มาต้อนรับแขกหน้าร้าน และให้เด็กเตรียมอุปกรณ์และวัตถุดิบ เธอเล่าให้ฟังว่าการขายอาหารไม่ใช่แค่ที่เราเห็น แต่ยังมีปัญหาจุกจิกหลังบ้านที่ต้องแก้ไข ดูแลลูกค้า เช็กสต็อก ประชุมทีม
แม้ว่าเราจะเหนื่อย แต่เราก็ต้องสู้ ใจเราสู้ เราก็จะสามารถต้อนรับลูกค้าได้อย่างอบอุ่นและเป็นกันเองได้เหมือนเดิม แม้ว่าทุกวันนี้ลูกค้าส่วนใหญ่จะเน้นซื้อทางออนไลน์มากขึ้นก็ตาม แต่เธอก็ยังคงความใส่ใจ ถ้าใครโน้ตมาว่าน้องคนนั้นคนนี้ ถ้าเราจำได้ก็จะพยายามทำให้ในสิ่งที่เขาชอบ
"เจ้อิ่มตัวแล้ว เจ้เคยขึ้นไปถึงสุดแล้วเจ้ก็อิ่ม เจ้คิดว่าจังหวะชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้ง อย่างเช่นตอนนี้ เมื่อสิบปีก่อนใครจะไปคิดว่าบรรทัดทองมันจะกลับกลายเป็นสตรีทฟู้ดไม่มีมันมืดมาก เมื่อก่อนมันคือร้านขายเครื่องกีฬาหรือพวกเชียงกง อยู่ดีๆ เจ๊โบว์มาร้านอาหาร"
เธอบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลง แต่ทุกครั้งมาก็จะนำพาสิ่งที่ดีขึ้นมาให้ เธอย้ายร้านมา 4 ครั้ง จากตลาดสวนหลวง มาเช่าตึกขายอยู่ซอย 20 จนมาถึงถนนบรรทัดทอง จากร้านข้าวมันไก่ที่ไม่มีคนรู้จัก มาเป็นเจ๊โบว์ในทุกวันนี้ถือว่ามาไกลมาก สะสมประสบการณ์ มิตรภาพ ขอบคุณข้าวมันไก่และมิตรภาพ แต่วันนี้ถึงเวลาที่เราจะได้ไปพัก ไปลองใช้ชีวิตในแบบที่เราไม่เคยลอง
"ข้าวมันไก่มันให้ทุกอย่าง ให้อาชีพ ให้ความรัก บอกไม่ถูก จากเด็กผู้หญิงคนนึงจะทำข้าวมันไก่ได้และมีคนรักขนาดนี้ จะมีสักกี่ร้านที่ลูกค้าจะมากอดอิเจ้ได้ ขอบคุณข้าวมันไก่ที่ทำให้เรามีทุกวันนี้"