svasdssvasds

รักตัวเองก่อน แล้วจึงส่งต่อ

รักตัวเองก่อน แล้วจึงส่งต่อ

การรักตัวเองเป็นฐานหลักที่แข็งแรงที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ความสำเร็จในหน้าที่การงาน คุณภาพชีวิตทั้งกายใจ รักตัวเองให้มากก่อน แล้วความรักนั้นจะกระจายออกไปให้ผู้อื่นได้อย่างคาดไม่ถึง

ไม่มีใครปราศจากความต้องการ และไม่เคยมีบาดแผล ซึ่งการมีบาดแผลก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร แน่นอนว่าทุกคนต่างมีหน้าที่และบทบาทในชีวิต อย่างน้อยก็เพื่อพาตัวเองไปในทิศทางแห่งความสุขที่ต่างคนต่างนิยาม การไม่หักโหมจนเกินกำลัง และคาดหวังจนเกินกว่าเหตุ อาจเป็นทางสายกลางของความสุข การจะทำอะไรต่ออะไรให้ครบสมบูรณ์อย่างฝันคงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากว่าจะเป็นจริง แต่หากเริ่มต้นที่การรักตัวเอง เริ่มทำจากตัวเอง ด้วยความเข้าใจต่อความเป็นไปของบริบทสังคม สิ่งสำคัญอาจต้องทบทวนอยู่เสมอว่า กำลังดำเนินชีวิตแบบหลงผิดกับการต้องทำบางสิ่งเพื่อต้องการเพียงคำชมเฉยการยอมรับจากสังคมในวงกว้างเท่านั้นหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นอาจทำให้รู้สึกว่าแบกโลกไว้ทั้งใบ แล้วความสุขนั้นเป็นของใคร 

 

สปริงลงพื้นที่เพื่อถามหามุมมองความรักของผู้ก่อตั้งร้าน Tony’s loft home ร้านที่ใช้ความรักในความดิ้นรนเป็นโครงสร้าง และตกแต่งด้วยความเคารพในอาชีพที่ผ่านมา ด้วยการลงมือทำของเทพที่กลายเป็นปีศาจ คุณเฉลิมชัย เตรียมพัฒนา ประเด็นแรกที่เราเริ่มพูดคุยกับคุณเฉลิมชัย เนื่องจากทีมงานสะดุดเข้ากับประโยคหนึ่งที่คุณเฉลิมชัยโพสต์ผ่านโลกโซเชียลว่า “สัญญาว่าจะดิ้นรนให้ถึงที่สุด ปีศาจไม่มีวันอดตาย” เราไม่รีรอที่จะถามหาที่มาของประโยคดังกล่าว

สัญญาว่าจะดิ้นรนให้ถึงที่สุด ปีศาจไม่มีวันอดตาย

“ มันเริ่มตั้งแต่สมัยเรียน เวลาได้รับมอบหมายงาน หรือลงมือทำอะไร เราเองมักจะนำเอาทุกๆ ความถนัดของเรามาประยุกต์จนเกิดเป็นชิ้นงานต่างๆ แรกๆ เพื่อนๆ ก็เรียกเราว่าเทพ ทำไปทำมานานวันเข้า เพื่อนๆ เปลี่ยนใจบอกว่า แบบนี้ไม่ใช่เทพ แล้ว อย่างนี้ควรเรียกว่าปีศาจ ส่วนเรื่องคำสัญญาต่อความดิ้นรน เกิดจากสถานการณ์ต่างๆ ของชีวิตที่เจอเข้ากับวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทั้งสองระลอก แทนที่เราจะมานั่งท้อแท้หมดกำลังใจ เราเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังส่งสัญญาณให้ตัวเองต้องสู้ ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในแต่วัน เพราะสถานการณ์แย่จริงๆ แย่ถึงขนาดต้องทุบกระปุกเอาเศษเงินไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ”

 

คนที่ตกหลุมรัก(ความดิ้นรนของ)ตัวเอง

“ มันเริ่มจากโควิดรอบแรกงานไม่มีเงินก็ไม่มา เริ่มกังวลกับสถานการณ์การเงินและความอยู่รอด เลยเริ่มคิดว่าจะทำอะไรดี ส่วนตัวเป็นคนชอบทำอาหาร และมีพื้นฐานการทำอาหารมาจากครอบครัวอยู่แล้ว เลยลองทำอาหารแล้วไปแบ่งให้เพื่อนชิม ให้คนข้างบ้านชิม ทุกคนบอกว่าอร่อย พอวันรุ่งขึ้นเราก็ทำอาหารแล้วลงขายออนไลน์ ใครสั่งก็ขับมอเตอร์ไซค์ไปส่งเอง ก็ผ่านวิกฤตมาได้ จนมาเจอเข้ากับโควิดระลอกสอง ทีนี้หนักกว่าเดิม เริ่มคิดหนักขึ้นพิจารณาตัวเอง เราถนัดอะไร เรารักที่จะทำอะไร ความสามารถมีอะไรบ้าง ก็มองไปรอบๆ บ้านซึ่งรกมากๆ รกจากของที่เราเคยทำอีเวนท์ เลยเริ่มคิดว่าเราควรจะจัดบ้านจากของที่เรามี ด้วยวิชาที่ได้จากการทำงานที่ผ่านมาทั้งงานอีเวนท์ งานแต่งหน้า งานศิลปะจัดแสดงต่างๆ จึงเริ่มลงมือทำ ทำเองคนเดียวทุกอย่าง ตั้งแต่ทาสีผนัง ตกแต่ง เก็บกวาด แต่พอร้านเสร็จออกมาก็หายเหนื่อย ด้วยความที่ของที่มีทุกชิ้น เป็นของที่เลือกเองกับมือ บ้านที่เราจัดเสร็จนอกจากจะสวยงามจากดอกไม้แล้ว ยังเต็มไปด้วยความรักของเราเอง ทีนี้เราก็เริ่มคิดว่าจะทำให้บ้านเรามีมูลค่า สร้างรายได้เลี้ยงปากท้องได้อย่างไร จึงเริ่มคิดที่จะทำอาหารอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เปลี่ยนแผนการตลาดไม่ส่งแบบเดลิเวอรีแล้ว แต่จะให้ลูกค้าเข้ามากินที่บ้านเลย จะเสิร์ฟอาหารแบบเชฟส์เทเบิล ต่อหนึ่งท่านจะได้ทานอย่างน้อย 5 เมนู ทั้งอาหารและร้านจะปรับเปลี่ยนสร้างสีสันตามคอนเซ็ปต์ เช่นคอนเซ็ปต์อาหารเหนือ คอนเซ็ปต์อาหารใต้ คอนเซ็ปต์วันแห่งความรัก ทั้งเมนูอาหารและการจัดตกแต่งร้าน ก็จะสอดคล้องกันไปตามแต่ละคอนเซ็ปต์ ทุกขั้นตอนในการให้บริการทำเองคนเดียวทั้งหมด เริ่มจากไปจ่ายตลาด จัดเตรียมสถานที่ ทำอาหาร ต้อนรับลูกค้า เสิร์ฟ และล้างจาน ”

 

รักครั้งนี้ เริ่มที่เคารพตัวเอง เรียนรู้ที่จะพอเพียง

ร้าน “Tony’s loft home” เรียกว่าเกิดจากสรรพวิชาทุกแขนงที่คุณเฉลิมชัยได้ผ่านงานมา นำมาประยุกต์รวมผสมเข้ากับความรัก จนทำให้บ้านตึกแถว 1 คูหา กลายเป็นร้านอาหารสวยงามรายล้อมไปด้วยดอกไม้นานาพันธ์ ทั้งรูป รส กลิ่น เข้ามาแล้วคุณจะสัมผัสได้ถึงความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนของเจ้าของร้าน ต่อหนึ่งวัน Tony’s loft home รับลูกค้าได้เพียงวันละ 4 ท่านเท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดของสถานที่ รวมทั้งทุกขั้นตอนทำเพียงคนเดียว หากรับคนจำนวนมากกว่านี้ ทำไม่ไหวก็จะกลายเป็นฝืนทำ ส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพ ทำไหวเท่านี้ ก็รับลูกค้าเพียงเท่านี้พอ ต้องรู้จักพอเพียง และประเมินกำลังตัวเองด้วย เพราะในทุกขั้นตอนเราตั้งใจทำทุกอย่าง เช่นเรื่องอาหาร เราคัดสรรควัตถุดิบที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้นมาปรุงอาหาร เพื่อให้ได้อาหารที่ดีมีคุณภาพตามช่วงเวลา”

 

ส่งต่อความรัก

เมื่อถามคุณเฉลิมชัยว่า ความสุขที่ได้รับครั้งนี้คืออะไร “ความสุขคือเวลาที่ลูกค้าทานอาหารแล้วบอกกับเราว่าอร่อย เวลาที่ลูกค้าเข้ามาที่ร้านแล้วถ่ายภาพกันสนุกนานมีความสุข นั้นก็เป็นความสุขของผมเช่นกัน เพราะหมายความว่าลูกค้าตอบกลับรับความรักจากเรา เข้าใจในสิ่งที่เรากำลังจะสื่อออกไป ผ่านสถานที่ อาหาร และบรรยากาศต่าง ๆ เท่านี้ผมก็มีความสุขแล้วครับ”

นอกจากนี้ สปริงยังได้พูดคุยถามหาความรักในอีกแง่มุม ความรักที่มีต่อต้นไม้ จุดเริ่มต้นที่จะรัก(ษา)ต้นไม้ใหญ่ไว้ให้เมือง กับคุณสันติ โอภาสปกรณ์กิจ กลุ่ม BIG TREES อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมือง และเครือข่ายต้นไม้ในเมือง Thailand Urban Tree Network ว่ารักครั้งนี้เกิดขึ้น และเติบโตอย่างไร จนวันนี้กลุ่ม BIG TREES ก่อตั้งขึ้นเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว

 

เริ่มต้นด้วยความผิดหวัง

เราถาม คุณสันติ โอภาสปกรณ์กิจ ถึงจุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของกลุ่ม BIG TREES คุณสันติ ตอบเราว่า “ รักครั้งนี้เริ่มต้นจากความผิดหวัง จากการที่เห็นสถานประกอบการขนาดใหญ่แห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท จะทำการตัดต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ความร่มรื่นจากต้นไม้ใหญ่หายไปอย่างสิ้นเชิง และจะถูกแทนที่ด้วยความต้องการของมนุษย์โดยเรียกว่าความเจริญเข้ามาแทนที่ ความรู้สึกสูญเสียครั้งนั้น เป็นจุดกำเนิดของคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีความเห็นตรงกันในเรื่องการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ไว้ให้กับเมือง จนเกิดเป็นกลุ่ม BIG TREES ขึ้นมา ”

 

BIG TREES ค่อย ๆ ผลิดอกออกผลตามธรรมชาติ

กลุ่ม BIG TREE ได้ออกเดินทางบนเส้นทางสายสีเขียวมากกว่า 10 แล้ว หลายคนอาจคิดว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวคือการปลูกต้นไม้ใหม่เพิ่มขึ้น แต่หลายคนคงลืมคิดไปว่าการรักษาต้นไม้เก่าที่มีอยู่นั้นให้ดี ก็คืออีกหนทางที่มีประสิทธิภาพแต่ประเทศไทยเรายังขาดสิ่งนั้นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการดูแลต้นไม้ใหญ่ยังดูแลไม่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งส่งผลต่อความเป็นความตายของต้นไม้ คุณสินติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการที่มีการรณรงค์ปลูกต้นไม้ใหม่นั้น เป็นความต้องการของคน ไม่ใช่ความต้องการของต้นไม้ แต่การที่จะรักษาต้นไม้ไว้ได้นั้น สิ่งสำคัญมี 3 ส่วนหลักๆ ข้อแรกต้องสร้างความตระหนักตื่นรู้ถึงประโยชน์ของต้นไม้ เมื่อผู้คนรับรู้ว่าสิ่งไหนมีประโยชน์ก็จะเห็นความสำคัญและรักษาสิ่งนั้นไว้ ข้อสองก็คือ ต้องให้ความรู้ เช่นรักลูกก็ต้องมีวิธีการเลี้ยงลูก รักพ่อแม่ก็ต้องมีวิธีการดูแลพ่อแม่ ต้นไม้ก็ต้องมีวิธีการดูแลต้นไม้ จึงดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อสอนการตัดแต่งต้นไม้อย่างถูกวิธี เรื่องที่สามคือ เราต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่มีหน้าที่ดูแลต้นไม้โดยตรง ทั้งผู้ที่เป็นคนตัด ผู้ที่เป็นคนสั่ง และคนที่มอบหมายนโยบาย นี่เป็นสามอย่างที่เราดำเนินการทำมาตลอด ปัจจุบันมีอาชีพรุกขกร ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องการตัดต้นไม้ และมีจำนวนผู้ประกอบอาชีพนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าถ้าเป็นเช่นนี้ มีความเป็นไปได้ว่าการดูแลต้นไม้ใหญ่ในประเทศจะมีความยั่งยืนมากขึ้น  ”

 

ถามถึงความสำเร็จในความรักครั้งนี้

“หากถามเรา เราก็ตอบว่าประสบความสำเร็จ เพราะแรกเริ่มไม่ได้คาดหวังอะไรไปมากว่าขอเพียงแค่ให้ผู้คนเห็นคุณค่าของต้นไม้ให้มากขึ้น และวันนี้เราได้รับสิ่งนั้นแล้ว เราเห็นเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพฯ ตัดแต่งต้นไม้ด้วยวิธีที่ถูกต้อง ต้นไม้ไม่ตายเราก็สุขใจ อยากให้คนไทยหาจังหวะเวลาลองอยู่กับธรรมชาติ อยู่ใต้ร่มเงาไม้ให้มากขึ้น แล้วเราจะได้รับความสุขจากธรรมชาติ และถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็จะรักธรรมชาติ และธรรมชาติก็จะรักเราเช่นเดียวกัน ” 

 

ติดตามรายการอยากเห็นเมืองไทยดีกว่านี้ ทางเนชั่นช่อง 22 ทุกวัน เวลา 14.00-14.30 น. รายการที่มีเจตนาถามหาแนวทางการแก้ปัญหาของคนไทยทุกคน

related