svasdssvasds

สังคมสูงวัย คนไทยอายุ 40-50 ปี อาจเข้าสู่วัยเกษียณ แบบพึ่งพาตนเอง

สังคมสูงวัย คนไทยอายุ 40-50 ปี อาจเข้าสู่วัยเกษียณ แบบพึ่งพาตนเอง

ถ้าคุณคือคนอายุ 40-50 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนในช่วงวัยทำงานในปัจจุบัน อนาคตอันใกล้คุณอาจจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เข้าสู่วัยเกษียณ อยู่ในสังคมสูงวัยด้วยการต้องพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก จึงควรเตรียมการวางแผนไว้แต่เนิ่นๆ

ปี 2564 นี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์แบบ โดยมีประชากรกว่า 20% ของประเทศเป็นผู้สูงอายุ คำว่า “ผู้สูงอายุ” ขององค์การสหประชาชาติ หมายถึง ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งก็ตรงกับนิยามผู้สูงอายุของประเทศไทย 

 

ประเทศไทย มีประชากรทั้งหมด 66,558,935 คน มีผู้สูงอายุ 11,136,059 คน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่16.73%

- ผู้สูงอายุเพศหญิงมีจำนวนมากกว่าผู้สูงอายุเพศชาย 1,295,465 คน

- กรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศไทย

จากสถิติผู้สูงอายุของประเทศไทย กรมกิจการผู้สูงอายุ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หากยึดฐานข้อมูลนี้เท่ากับปี 2564 นี้ ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ เพิ่มจาก 11,136,059 คน (16.73%) เป็น 13,311,787 คน (20.00%)

วัยเกษียณที่ต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก

เมื่อวันนั้นมาถึง เราอาจไม่มีพละกำลัง จะคิดทำอะไรคงยากเย็น การออมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำในช่วงวัยทำงาน หรือช่วงอายุ 40-50 ปี หากเก็บออมได้ก่อนก็ยิ่งดี เพราะถ้าถึงวันนั้นแล้วยังไม่มีเงินออม คงต้องเผชิญกับปัญหามากมายที่จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ สาเหตุที่เราต้องเตรียมเงินออมสำหรับตัวเอง มีปัจจัยหลักคือ 

1. จากการสำรวจปัจจุบันแหล่งรายได้ของผู้สูงวัยมาจากลูกหลานเป็นหลัก แต่อีก 10-20 ปี ข้างหน้าเราคงไม่สามารถพึ่งพาลูกหลานเป็นหลักได้อีก เพราะอัตราการมีลูกน้อยลง และถึงแม้มีลูกแต่ลูกก็ยังต้องลำบากในการพึ่งพาตัวเอง 

2. มีข้อมูลว่าคนวัยทำงาน 40 ล้านคนในประชากร 70 ล้านคนในเวลานี้ มีการเตรียมเงินบำนาญในระบบเพียงแค่ 15 ล้านคนเท่านั้น 

3. โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป กลายเป็นผู้สูงวัยเยอะ ประชากรกลุ่มทำงานที่จะเสียภาษีให้รัฐมาเลี้ยงดูผู้สูงวัยไม่เพียงพออย่างแน่นอน

 

จากการลงพื้นที่เพื่อสะท้อนมุมคิดของผู้สูงวัยถึงการเตรียมตัวหรือการดำรงชีวิตในวัยเกษียณแสดงให้เราเห็นว่า ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งยังคงทำงานอยู่ถึงแม้จะมีอายุที่มากขึ้นก็ตาม ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป และในอนาคตตัวเราเองก็จะเป็นหนึ่งในผู้สูงอายุ หากไม่มีการเตรียมการเตรียมตัวก่อนวัยเกษียณ เราจะมีโอกาสประสบปัญหา “จนตอนแก่” หรือ “แก่ก่อนรวย” ทั้งยังไม่สามารถคาดหวังให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูได้เหมือนในอดีต ดังนั้นเราควรเตรียมการออมไว้ตั้งแต่วัยทำงานจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อสามารถดำรงชีวิตหลังวัยเกษียณได้อย่างไม่ยากลำบาก

 

วางแผนเกษียณต้องเก็บเงินเท่าไร

จากข้อมูลงานวิจัยของ SES, KKP Research ค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณมีแนวโน้มลดลงกว่าวัยทำงานก็จริง แต่ก็ไม่มาก ซึ่งหากเรายังเป็นคนที่แข็งแรงไม่ได้ป่วยติดเตียง และยังคงสนุกสนานกับการใช้ Social และยังมีกิจกรรมทางสังคมอยู่บ้าง รวมถึงอาหารเสริมและสิ่งบำรุงร่างกาย ค่าใช้จ่ายก็จะลดลงไม่มากนัก อย่างน้อยสำหรับคนอายุ 50-64 ปี ในเวลานี้คือ ต้องมีเงิน 21,070 บาท/คน/เดือน ส่วนผู้ที่มีอายุ 65 ปีไปแล้วมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 18,016 บาท/คน/เดือน

 

คนไทยจึงควรมีเงินเก็บเพื่อใช้หลังเกษียณขั้นต่ำที่ 4,361,799 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่จะไว้ใช้หลังเกษียณไปอีก 20 ปี โดยคำนวณจาก GNP (per capital) เท่ากับ 192,812 บาท/ปี และจะเท่ากับ 16,068 บาท/เดือน ซึ่งเป็นข้อมูลคำแนะนำจากสำนักงานประกันสังคม ณ ปี 2559

ปัญหาผู้สูงอายุ ต้องพึ่งพิงสถานสงเคราะห์วัยชรา

มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย ที่ยังต้องการที่พึ่งพิงสถานสงเคราะห์คนชรา สาเหตุคงมาจากหลากหลายปัจจัย แต่หลักๆ หากลูกหลานไม่ละเลยในหน้าที่ความรับผิดชอบและความรักสายใยแห่งครอบครัวแน่นแฟ้น สถานสงเคราะห์คนชราย่อมไม่ต้องแบกรับหน้าที่ในการดูแลญาติผู้ใหญ่แทนลูกแทนหลาน อย่างที่มูลนิธิวัยวัฒนานิวาส สถานสงเคราะห์คนชรา ในจังหวัดสมุทรปราการ  รับสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่ถูกละเลยจากการดูแล ด้อยโอกาส สถานที่ซึ่งเป็นเหมือนบ้านหลังสุดท้ายของผู้สูงอายุ แต่อย่าลืมว่าคนแก่ส่วนมากติดบ้าน หากมีบ้าน เชื่อเหลือเกินว่าผู้สูงอายุทุกคนอยากที่จะมีชีวิตบั้นปลายอยู่ที่บ้านของตัวเอง

 

จากการลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้สูงวัยถึงความทุกข์ความสุขของการใช้ชีวิตในสถานสงเคราะห์มูลนิธิวัยวัฒนานิวาส และพูดคุยกับคุณชญาดา ตั้งอริญชัยกุล ผู้ดูแลมูลนิธิฯ ทั้งสะเทือนและสะท้อนให้เราได้เห็นในหลายแง่มุม

 

ติดตามรายการอยากเห็นเมืองไทยดีกว่านี้ ทางเนชั่นช่อง 22 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-14.30 น. รายการที่มีเจตนาถามหาแนวทางการแก้ปัญหาของคนไทยทุกคน

 

related