นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล โพสต์เตือนถอดบทเรียน การนำเสนอสังหารหมู่ ความรุนแรง ระวังจะกลายเป็นโรคระบาด
นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล คณบดีวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก หมอบรรจบ (แพทย์ทางเลือก) ระบุว่า คุณสังเกตมั้ยว่า กรณีทหารคลั่งสังหารหมู่เกิดขึ้นภายหลังกรณีปล้นทองยิงกราดเพียงไม่ถึงเดือน
อ่านบทความชิ้นนี้แล้วคุณจะเข้าใจ และรู้ว่าทำไมเขาเรียกร้องกันไม่ให้เผยภาพผลจากความรุนแรง หน้าอาชญากร ประโคมชื่อของเขาบ่อยๆ หรือเรียกเขาอย่างเท่ว่า "หนุ่มคลั่ง..ควงปืนอุกอาจ" เพราะมันจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบภายในเวลาอาจจะสั้นๆแค่เป็นอาทิตย์
การสังหารหมู่ เป็นโรคระบาดชนิดหนึ่ง
การยิงกราดสังหารหมู่กำลังเป็นข่าวที่เคยชินมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเริ่มเข้าใจแล้วว่ามันไม่ใช่แค่เพียงการระเหิดอารมณ์ของบุคคลอย่างเดี่ยวโดด แต่การกระทำแต่ละครั้งได้กลายเป็นพิมพ์เขียวของการกระทำต่อๆไป
ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันความรุนแรงกล่าว่า ส่วนใหญ่แล้วผู้ก่อการสังหารหมู่ได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับการกระทำลักษณะดังกล่าวก่อนหน้านั้นอย่างขมักเขม้น การตีข่าวสาธารณะของเหตุการณ์รุนแรงแต่ละครั้งสามารถมีผลกระตุ้นนักฆ่าคนต่อไปให้ฮึกเหินและมุ่งหน้าไปสู่สิ่งนั้น
การสังหาร 9 ศพที่โรงเรียนชุมชนในโอเรกอนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (ต้นตุลาคม 2015, ผู้แปล) เป็นคัมภีร์อย่างดีในเรื่องนี้ ก่อนทำการกราดยิง มือปืนชื่อคริสโตเฟอร์ ฮาร์เปอร์ เมอร์เซอร์ อายุ 26 ปีได้อัพโหลดวิดีโอเกี่ยวกับกรณีสังหารหมู่ปี 2012 ที่โรงเรียนประถมแซนดีฮุกในนิวทาวน์ คอนเนกติคัตมาดู
มือสังหารที่แซนดีฮุกก็เรียนรู้มาจากการสังหารหมู่ก่อนหน้านั้น ในปี 1999 ที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ในโคโลราโด ซึ่งมีผู้ตาย 13 ศพ และกรณีในปี 2011 ซึ่งมีผู้ตาย 77 ศพหลังกรณีกราดยิงที่โอเรกอน 3 วัน FBI ได้เตือนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเรื่องจดหมายขู่ที่โพสต์อยู่ในเวปไซต์ที่นายเฮอร์เปอร์เข้าไปใช้อยู่
แนวโน้มของการระบาดทางวัฒนธรรมต้องการการตอบสนองของสุขภาพชุมชนที่จะรับรู้แต่เนิ่นๆและมีมาตรการป้องกัน อย่างเช่นการรณรงค์ที่ต่อต้านการกระทำดังกล่าว ขณะเดียวกันความพยายามแยกแยะและปรับสภาพผู้ที่มีแนวโน้มทางนี้ก็สามารถอำนวยความปลอดภัยให้ผู้คนได้
“เรากำลังจัดสมดุลสวัสดิภาพของสาธารณชนกับความเป็นส่วนตัวส่วนบุคคล” เจ. เรด มีลอย นักจิตวิทยาอาชญากรรมซึ่งให้คำปรึกษากับโรงเรียนและองค์กรต่างๆ กล่าว
มีบางคนกล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชน “ถ้าพาดหัวภาพหน้าของอาชญากรอย่างใหญ่โต และเอ่ยชื่อของเขาในสื่อซ้ำแล้วซ้ำอีก นั่นจะทำให้อาชญากรรมของเขากลายเป็นพิมพ์เขียวสำหรับคนต่อๆไป” ดร.เดโบรา ไวส์บรอด รองศาสตราจารย์คลินิกทางจิตวิทยา มหาวิทยาลัยสโตนีบรูกซึ่งรับคำปรึกษาวัยรับนับร้อยๆรายที่มีประวัติความรุนแรง ออกความเห็น
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัจจัยหลายอย่างรวมทั้งปัญหาทางจิตใจเป็นมูลเหตุของการกระทำสังหารหมู่ ใครสักคนหนึ่งที่สนใจกลไกการสังหารหมู่สามารถสร้างกระบวนการของตนได้อย่างง่ายดาย ด้วยการเข้าไปในอินเตอร์เนตโดยค้นหาข่าวรายงาน เวปไซต์ และโซเชียลมีเดีย มีเวปไซต์หนึ่งได้เรียบเรียงกรณีสังหารหมู่ทั่วโลกเอาไว้ มือปืนที่ก่อกรณีสังหาร 12 ศพในโรงภาพยนต์ที่ออโรรา โคโลราโดปี 2012 มีแฟนคลับมากมาย
ง่ายมากที่จะดูกรณีของนายฮาร์เปอร์ เมอร์เซอร์ ทำไมจึงเลียนแบบมือปืนที่แซนดีฮุก คนทั้งสองอยู่กับแม่ซึ่งรักในเรื่องของปืนและมักจะไปสนามฝึกยิงปืนเพื่อซ้อมยิงบ่อยๆ แม่ของฮาร์เปอร์บอกว่าลูกของตนมีโรคแอสเปอร์เกอร์ซินโดรม (กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติการทำงานของระบบประสาท จัดอยู่ในกลุ่มโรคออทิสติก ที่มีปัญหาทางพฤติกรรม, ผู้แปล) มือปืนที่แซนดีฮุกก็เช่นเดียวกัน
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเสนอว่า การฆ่าหมู่ก็เหมือนกับการฆ่าตัวตายของวัยรุ่น กรณีแบบนี้จะรวมตัวขึ้นขีดสูงเมื่อมีกรณีหนึ่งแล้วก็จะนำสู่อีกกรณีหนึ่ง การวิเคราะห์กรณีสังหารนับร้อยๆระหว่างปี 1997 ถึง 2013นักวิจัยพบว่ามีความเป็นไปได้ที่การสังหารแบบเดียวกันจะเกิดขึ้นในระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ข่าวสังหารใหญ่ข่าวหนึ่งแพร่สะพัดออกไป จึงมีการพูดถึงเรื่องของการออกกฎหมายให้สื่อมวลชนปรับปรุงวิธีเสนอข่าวให้เหมาะสม
ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาชญากรรม มหาวิทยาลัยเท็กซัส นายพีท แบร์กว่าว่า เริ่มรณรงค์ให้เห็นด้วยกับ FBI ที่เสนอกฎหมายว่า “ไม่ให้ออกชื่ออาชญากร” ดร.มีลอย กล่าวว่า “ยิ่งสำคัญที่ให้หลีกเลี่ยงการลงภาพ และข้อความประเภท “สิงห์เดี่ยว” ซึ่งเป็นข้อความกระตุ้นใจวัยรุ่น”