svasdssvasds

ไทยจ่อเลื่อนทดสอบวัคซีนโควิด19 ในมนุษย์เฟส 1 กลางปีหน้า

ไทยจ่อเลื่อนทดสอบวัคซีนโควิด19 ในมนุษย์เฟส 1 กลางปีหน้า

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผย อาจต้องเลื่อนการทดลองวัคซีนชนิด mRNA ในมนุษย์ ไปกลางปีหน้า อีกทั้งยังต้องรอวัคซีนต้นแบบจากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน วันนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ สำหรับการจองวัคซีนโควิด-19 ล่วงหน้า กับบริษัท แอสต้า ซิลิก้า แล้ว

ไทยจ่อเลื่อนทดสอบวัคซีนโควิด19 ในมนุษย์เฟส 1 กลางปีหน้า

ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)  ได้จัดกิจกรรมทอล์กออนไลน์ โควิดมาราธอน ห่างกันไว้...แต่ไปด้วยกัน เปิดเวทีการทอล์คในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนได้รับฟังความรู้ แก้ไขความเข้าใจ รวมทั้งตั้งความคาดหวังอย่างถูกต้องเกี่ยวกับโควิด-19 โดยหนึ่งในนั่นคือการเสวนา เรื่อง วัคซีนโควิด-19 ด้วย 

นพ. นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีน แห่งชาติ ระบุภายหลังเสวนาถึงความคืบหน้า วัคซีนโควิด-19 ในไทยว่า วัคซีนต้นแบบ mRNA ของจุฬาฯ อาจต้องเลื่อนแผนการทดลองในมนุษย์ ระยะ 1 จากปลายเดือนมกราคมไปประมาณเดือนมีนาคมหรือ เมษายนปี2564 เนื่องจากต้องรอโรงงานต่างประเทศในการผลิตวัคซีนต้นแบบmRNA  ที่ตอนนี้มีหลายประเทศจ่อคิว เช่นเดียวกัน

โดยวันที่ 26 พ.ย. นี้ ไทยเตรียมเจรจากับทางบริษัทไฟเซอร์ ซึ่งได้ส่งชุดคำถามไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกรอบการพูดคุยคงเป็นเรื่องการจัดหาซื้อวัคซีนมากกว่า หากประสบความสำเร็จในอนาคต แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้ง ว่าจะสามารถนำวัคซีนมาใช้ในประเทศได้หรือไม่  ซึ่งต้องปลอดภัยต่อคนไทย โดยวัคซีนแต่ละชนิดก็จะมีข้อจำกัด 

สำหรับการที่ บริษัท Moderna และบริษัท ไฟเซอร์ ประกาศประสิทธิผลของวัคซีนชนิด mRNA  ออกมานั้นแล้วได้ผลดีกว่าร้อยละ 95 และร้อยละ 90 ซึ่งสิ่งที่ต้องดูและติดตามต่อคือ ประสิทธิผลของวัคซีนนั้นจะอยู่นานหรือไม่ และมีภูมิคุ้มกันมากน้อยขนาดไหน รวมถึงความปลอดภัย เบื้องต้นวันนี้มีข่าวดี คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ สำหรับการจองวัคซีนล่วงหน้า กับบริษัท แอสต้า ซิลิก้า ซึ่งให้ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรคไปดำเนินการ ซึ่งการจองวัคซีนนั้น ต้องบอกว่า ตอนนี้ทั่วโลกยังไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด19 ที่ขึ้นทะเบียน และปลอดภัย ซึ่งการจองวัคซีน ถือว่ามีความเสี่ยง หากวัคซีนที่จองไม่ประสบความสำเร็จ อาจต้องเสียค่าจองล่วงหน้า แต่เมื่อเทียบกับโอกาสการได้รับวัคซีนที่เร็วขึ้นของคนไทย แม้ว่าเสี่ยงแต่ก็คุ้มค่าที่รัฐบาลยอมลงทุน 

ขณะที่ประเทศจีน ได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง มีการขึ้นทะเบียนเร่งด่วนเพื่อใช้ในประเทศ เช่นเดียวกับประเทศรัสเซีย ที่ยังไม่มีวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนเต็มรูปแบบ แต่ก็ใช้วิธีการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน 

ด้าน ศ.นพ.เกียรติ​ รักษ์​รุ่งธรรม​ ผู้อำนวยการพัฒนา​วัคซีน​โควิด​19 คณะแพทยศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์​มหา​วิทยาลัย​  ระบุว่า​ หลังจากที่พัฒนาวัคซีนชนิด mRNA ในสัตว์ทดลอง ผลปรากฏว่ามีภูมิต้านทานดี​ จะเริ่มเข้าสู่การเข้าการทดลองในคนระยะที่ 1​ ในอาสาสมัคร​ 7​2​ คน​ ในช่วงเดือนเมษายนหลังสงกรานต์ เนื่องจากต้องรอโรงงาน ในการผลิตวัคซีน​ต้นแบบ

ทั้งนี้เมื่อทดลองในคนระยะที่ 1 สำเร็จคาดว่าจะทดลองในคนระยะที่ 2 ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ต่อ หากทดลองสำเร็จได้ประสิทธิผล ก็จะไม่ทดลองในระยะที่ 3 เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับต่างประเทศที่พัฒนาและได้ผล  

สำหรับการเก็บข้อมูล ในระยะ1 และระยะ2 จะดูถึงปริมาณวัคซีนว่าคนไทยต้องได้รับกี่โดส ปริมาณเท่าไหร่ ถึงจะมีความปลอดภัย และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เนื่องจากพันธุกรรมของคนไทยและคนต่างชาติ​ มีความต่างกัน การใช้วัคซีนแต่ละโดสในการรักษาจึงต่างกันด้วย รวมถึงไทยอยู่ระหว่างเตรียมโรงงานผลิตด้วยเทคโนโลยีmRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ คาดว่าไทยจะสามารถผลิตวัคซีนโควิด19 ใช้เองได้ภายในปลายปี 2564

ทั้งนี้ นพ.เกียรติ​ ยังบอกถึงข่าว ที่บริษัท modena และไฟเซอร์​ประสบความสำเร็จ เบื้องต้นในการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิผลถึงร้อยละ 90 และร้อยละ 95 ว่า รู้สึกดีใจและมีความหวังที่ทั้ง 2 บริษัทประสบความสำเร็จเบื้องต้นในการพัฒนาวัคซีน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับที่จุฬาฯกำลังพัฒนา​ นั่นคือ​เทคโนโลยี mRNA

สำหรับความกังวลก่อนหน้านี้เรื่องการกลายพันธุ์ของไวรัสที่อาจทำให้การผลิตวัคซีนไม่สำเร็จ ล่าสุดพบว่า การกลายพันธุ์ไม่ได้ส่งผลให้มีให้เกิดอาการความรุนแรงทางคลินิกมากนัก เพียงแต่ทำให้เกิดการติดต่อกันง่ายขึ้น​ จึงไม่ส่งผลต่อการพัฒนาวัคซีนให้ต้องแยกสายพันธุ์​ แต่ยังคงต้องดูต่อไปว่าการฉีดวัคซีน​ covid​ จะให้ผลระยะยาวนานเท่าใดอาจจะต้องฉีดทุกปีหรือไม่ยังต้องรอผลการศึกษา

related