svasdssvasds

โควิด-19 : 1 ปีที่ผ่านมา เรารู้อะไรบ้าง และไม่รู้อะไรบ้าง ?

โควิด-19 : 1 ปีที่ผ่านมา เรารู้อะไรบ้าง และไม่รู้อะไรบ้าง ?

ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งครอบคลุม และเจาะลึก หลังจากมนุษย์ได้รู้จักโรคนี้ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา

ครั้งแรกที่ประเทศจีนรายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 ให้แก่องค์การอนามัยโลกรู้ คือเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2562 โดยในขณะนั้นยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ เพียงแต่อธิบายไว้ว่าเป็นโรคปอดบวมชนิดใหม่เพียงเท่านั้น

ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ นักวิทยาศาสตร์จีนสามารถระบุได้ว่าเชื้อดังกล่าวเป็นเชื้ออะไร มีโครงสร้างมาจากเชื้อใด ภายใน 3 สัปดาห์ ชุดตรวจโรคก็ถูกคิดค้นขึ้นมา และส่งต่อให้กับองค์การอนามัยโลก และ 11 เดือนต่อมาหลังจากที่โลกรู้จักกับเชื้อโควิด-19 วัคซีนก็ถูกฉีดให้กับประชาชน นับว่าเป็นวัคซีนที่ถูกคิดค้น พัฒนา และผลิตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์

แต่ถึงกระนั้นก็มีผู้คนติดเชื้อไปกว่า 85.6 ล้านคนแล้วทั่วโลก และคร่าชีวิตไปกว่า 1.8 ล้านคน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564) และยังมีข้อมูลอีกมากมาย ที่เราไม่รู้เกี่ยวกับเชื้อโควิด-19

สิ่งที่เราไม่รู้มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโควิด-19 เริ่มมาได้อย่างไร ? ไปจนถึงการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งนี้จะยุติลงที่ตรงไหน ?

โควิด-19 : 1 ปีที่ผ่านมา เรารู้อะไรบ้าง และไม่รู้อะไรบ้าง ?

ไวรัสโคโรนามาจากที่ใดกันแน่ ?

ในขณะที่ทุกคนต่างเร่งพัฒนาวัคซีนออกมาเพื่อใช้ต่อกรกับโควิด-19 คำถามง่ายๆ ที่ยังไม่อาจหาคำตอบได้คือ จริงๆ แล้วไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคโควิด-19 มาจากที่ใดกันแน่ อย่างที่ทราบคือ มาจากตลาดแห่งหนึ่งที่ขายสัตว์เป็นๆ ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน แต่ผู้ป่วยกว่า 1 ใน 3 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับตลาดดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย

มีหลายทฤษฎีสมคบคิด บ้างก็ว่าหลุดออกมาจากแล็บในเมืองอู่ฮั่นเสียเอง บ้างก็ว่ามีการพบเชื้อโควิด-19 ก่อนในสหรัฐอเมริกา แล้วก็นำเชื้อไปปล่อยที่จีน แต่เชื้อไวรัสโคโรนามีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เพียงแต่เชื้อไวรัสโคโรนาโดยทั่วไป มีโครงสร้างที่แตกต่างกับโควิด-19 อยู่พอสมควร จึงไม่น่าจะเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในมนุษย์ได้ หากเป็นเชื้อที่พบในธรรมชาติ

นอกจากนี้ทางการจีนได้ออกมาโต้แย้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯว่า เชื้อโควิด-19 นั้นมาจากนอกประเทศ และยืนยันหลักฐานว่า เคยพบเชื้อในสหรัฐฯ และยุโรป ก่อนที่จะเกิดการระบาดในอู่ฮั่นเสียด้วย

ทว่า ศาสตราจารย์ปีเตอร์ คอลลิกนอน (Peter Collignon) ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ออกมาชี้แจงว่า อาจจะเป็นไปได้ที่พบเชื้ออยู่ก่อนแล้วในสหรัฐฯ และยุโรป แต่ก็ไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดต่อองค์การอนามัยโลกว่า เชื้อมาจากนอกจีนหรือไม่ เป็นหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกที่จะต้องไปสืบเสาะค้นหาความจริงว่าเชื้อโควิด-19 มาจากที่ใดกันแน่ นอกหรือในประเทศจีน ?

นักวิทยาศาสตร์หลายคนเห็นพ้องตรงกันก็คือ เชื้อโควิดที่มาจากเชื้อไวรัสโคโรนามีอยู่แล้วทั่วไปตามธรรมชาติ ไม่ได้แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่มาจากสัตว์ โดยเฉพาะค้างคาว ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโคโรนามาสู่คน และเชื้อน่าจะมาจากตลาดสดดังกล่าวในเมืองอู่ฮั่น

โควิด-19 : 1 ปีที่ผ่านมา เรารู้อะไรบ้าง และไม่รู้อะไรบ้าง ?

โรคที่มาจากสัตว์แพร่กระจายสู่คนได้อย่างไร ?

แม้การแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนมีได้หลายวิธี แต่ไม่รู้แน่ชัดว่า เชื้อโควิด-19 แพร่สู่คนครั้งแรกได้อย่างไร และด้วยวิธีการไหน อาจจะแพร่เชื้อสู่สัตว์ตัวกลางอื่นก่อนก็เป็นได้ อาทิ ตัวนิ่ม หรือ ชะมด ก่อนจะติดเชื้อสู่คน เพราะเชื้ออีโบลาก็ยังไม่อาจหาข้อสรุปได้ว่าเชื้อเข้าสู่มนุษย์ได้อย่างไร ในตลอด 40 ปีที่ผ่านมานี้

ทำไมอาการติดเชื้อโควิด-19 ในบางรายรุนแรงกว่ารายอื่นๆ ?

ครั้งแรกที่เชื้อโควิด-19 ถูกรายงาน ระบุได้เพียงแค่ว่า เป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือ ปอดบวม แต่พอผ่านไปร่วมเดือน อาการของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มีความแตกต่างกันอย่างมาก ตั้งแต่สูญเสียการได้กลิ่น มึนงง ไปจนถึงท้องร่วง

จนถึงตอนนี้ที่รู้อย่างแน่ชัดแล้วคือ ต่อแม้ให้หายจากอาการป่วยแล้ว ทว่าก็ยังได้รับผลกระทบในระยะยาวต่อ เช่น ความวิตกกังวล ความอ่อนล้าเรื้อรัง หรือกระทั่งเนื้อปอดเสียหาย ซึ่งจากการศึกษาของแพทย์อังกฤษพบว่า ประมาณ 10% ของผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายแล้ว จะยังคงมีอาการป่วยเรื้อรังต่อไปอีก 3 เดือน

ทว่าก็ยังค้นหาคำตอบไม่ได้ว่า ทำไมผู้ป่วยในแต่ละรายถึงมีความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกัน เนื่องจากมีการศึกษาแฝดชายวัย 60 ปีที่ติดเชื้อทั้งคู่ โดยคนหนึ่งรักษาหายกลับบ้านภายใน 2 สัปดาห์ แต่อีกคนถูกส่งเข้าห้องไอซียู และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

โควิด-19 : 1 ปีที่ผ่านมา เรารู้อะไรบ้าง และไม่รู้อะไรบ้าง ?

อาการที่พบเจอในผู้ป่วยโควิด-19

หลังจากที่นักวิจัยเฝ้าติดตามอาการของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นเวลาหลายเดือน ก็ยังไม่รู้ว่าสาเหตุถึงความแตกต่างของอาการในผู้ป่วยแต่ละราย ไม่รวมถึงความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น อาทิ โรคเรื้อรัง หรือ ความสูงวัย ที่อาจทำให้มีอาการที่หนักกว่า ซึ่งในแต่ละบุคคลย่อมมีความแตกต่างของยีนอยู่แล้ว บ้างก็เป็นหนักกว่า บ้างก็หายเร็วกว่า เป็นเรื่องปกติ

จากการที่นักวิทยาศาสตร์เฝ้าติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 พบว่า ผู้สูงวัยเพศชาย จะมีอาการที่รุนแรงกว่า นอกจากนี้ยังรู้ว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กๆ มีตัวรับ ACE2 ในจมูกที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ ซึ่ง ACE2 คือจุดที่เชื้อไวรัสโคโรนาจะเจาะเข้าสู่ร่างกาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่า ทำไมเด็กป่วยจากเชื้อโควิด-19 ได้ยากกว่าผู้ใหญ่ แต่ที่นักวิทยาศาสตร์ยังหาคำตอบไม่ได้คือ ทำไมผู้สูงวัยถึงเสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่าไข้หวัดธรรมดามาก

โควิด-19 : 1 ปีที่ผ่านมา เรารู้อะไรบ้าง และไม่รู้อะไรบ้าง ?

ไวรัสโคโรนา แพร่เชื้อได้อย่างไร ?

เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว จีนยืนยันกับองค์การอนามัยโลกว่า เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายจากคนสู่คน แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ทราบถึงวิธีการที่แน่ชัดว่า แพร่เชื้ออย่างไร ระหว่างแพร่ในรูปแบบของหยดน้ำ (Droplet Transmission) หรือแพร่เชื้อผ่านอากาศ (Airborne Transmission) ถึงแม้ว่าการแพร่เชื้อทั้งสองรูปแบบจะมีความคล้ายคลึงกันมาก แต่ก็แตกต่างกันอย่างมาก

การแพร่เชื้อแบบหยดน้ำ (Droplet Transmission) จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยติดเชื้อ ไอ หรือ จาม แล้วทำให้เกิดสารคัดหลั่งออกจากช่องทางปากหรือจมูก ซึ่งจะมีวงแพร่กระจายอยู่ในระยะ 2 เมตร เพราะสารคัดหลั่งมีน้ำหนักมาก ทำให้ไปได้ไม่ไกล

ในขณะที่การแพร่เชื้อผ่านอากาศ (Airborne Transmission) จะมีขนาดของละอองที่เล็กกว่ามาก ทำให้สามารถลอยตัวอยู่ในอากาศได้นานกว่า และวงแพร่กระจายเชื้อกว้างกว่ามาก

และความแตกต่างอย่างมากของการแพร่กระจายเชื้อทั้งสองรูปแบบคือ การที่หน้ากากอนามัยแบบผ้าช่วยป้องกันการแพร่ระบาดแบบหยดน้ำ (Droplet Transmission) ได้ แต่ไม่สามารถช่วยป้องกันการแพร่เชื้อผ่านอากาศได้ (Airborne Transmission)

คนเราจะมีภูมิคุ้นกันต่อเชื้อโควิด-19 นานแค่ไหน ?

เคยมีรายงานข่าวว่า ชายชาวฮ่องกงวัย 33 ปี ติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำ 2 ครั้ง หลังจากที่รักษาหายรอบแรกแล้ว 4.5 เดือน ก็กลับมาติดซ้ำ แต่จากการศึกษาการติดเชื้อซ้ำ เป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะคนกว่า 99% ไม่เกิดการติดเชื้อซ้ำอีก

โควิด-19 : 1 ปีที่ผ่านมา เรารู้อะไรบ้าง และไม่รู้อะไรบ้าง ?

4 วิธีหลักในการพัฒนาและผลิตวัคซีน

จากที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบได้ว่า ภูมิคุ้นกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเองตามกระบวนการตามธรรมชาติ ช่วยปกป้องเราได้นานแค่ไหน เพราะโควิด-19 ก็อยู่กับเรามาเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น ทำให้ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน นั่นก็เท่ากับว่า เราไม่รู้ว่าวัคซีนที่ผลิตขึ้นมาจะช่วยป้องกันจากเชื้อโควิด-19 ได้นานเพียงใดด้วย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ได้แค่หวังว่าวัคซีนน่าจะช่วยปกป้องเราได้ในหลักปี แต่ก็ยังไม่รู้ว่า จะถึงจริงหรือไม่

แต่อย่างน้อยในขณะนี้ วัคซีนโควิด-19 ก็ดูเหมือนจะได้ผลดีกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดซ้ำประจำทุกปี หากเชื้อโควิด-19 เกิดการกลายพันธุ์จนวัคซีนเอาไม่อยู่ ก็อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดเกิดขึ้นซ้ำได้ใหม่

วัคซีนโควิด-19 ถือเป็นวัคซีนที่ผลิตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์

จากกรณีที่เชื้อโควิด-19 ในสหราชอาณาจักรเกิดการกลายพันธุ์ ทำให้แพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น ไวขึ้น และขยายวงกว้างขึ้น ก็ยืนยันได้แล้วว่าเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์อยู่แล้วตามธรรมชาติ ในแง่ดีคือการกลายพันธุ์ครั้งนี้ วัคซีนยังครอบคลุมอยู่ จึงยังจะป้องกันได้ ซึ่งการกลายพันธุ์ดังกล่าวยังทำให้ความสามารถในการฆ่าลดลงอีกด้วย แต่จากระยะเวลาที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาในการคิดค้น พัฒนา และผลิตวัคซีน ก็บ่งชี้ได้ว่า ความก้าวหน้าทางการแพทย์ก้าวหน้าไปไกลมากขึ้น นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก ยังชี้แจงว่า การที่เราสามารถตามติดการกลายพันธุ์ครั้งนี้เป็นเครื่องการันตีถึงความสามารถทางการแพทย์

โควิด-19 : 1 ปีที่ผ่านมา เรารู้อะไรบ้าง และไม่รู้อะไรบ้าง ?

เมื่อไหร่การแพร่ระบาดจะสิ้นสุด ?

คำถามที่ใครหลายๆ คนได้แต่คิดว่า เมื่อไหร่จะจบเสียทีกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก ผู้คนติดเชื้อมากกว่า 85.6 ล้านราย ซึ่งวัคซีนที่ผลิตออกมาก็ไม่ใช่อุปกรณ์วิเศษที่จะทำให้การแพร่ระบาดยุติลงในทันที เพราะก็ต้องใช้กำลังการผลิตจำนวนมาก เพื่อให้ครอบคลุมกับประชากรทั่วโลก

นอกจากนี้ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งที่คัดค้านการฉีดวัคซีนอีกด้วย วิธีการที่จะได้ผลดีที่สุดคงหนีไม่พ้นการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ทั้งการหลีกเลี่ยงจุดแออัด การเว้นระยะห่าง และการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ และมีความเป็นไปได้ว่า โควิด-19 จะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ คล้ายกับการที่เราใช้ชีวิตอยู่กับโรคไข้หวัดใหญ่ นั่นเอง

related