svasdssvasds

ปีที่แล้ว คนกรุงสูดฝุ่นพิษ PM 2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่กว่า 1,270 มวน

ปีที่แล้ว คนกรุงสูดฝุ่นพิษ PM 2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่กว่า 1,270 มวน

Rocket Media Lab เผยสถิตสภาพอากาศกรุงเทพ ตลอดปี 2563 โดยปีที่แล้ว คนกรุงสูดฝุ่นพิษ PM 2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่ 1,270.07 มวน

Rocket Media Lab ได้เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project พบว่า ในปีที่ 2563 สภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ มีสถิติดังนี้

สภาพอากาศกรุงเทพฯ เฉลี่ยทั้งปี 2563

- ระดับสีแดง ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ และกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง มากถึง 14 วัน คิดเป็น 3.86%

- ระดับสีส้ม อากาศในระดับปานกลาง แต่อันตรายต่อกลุ่มเสี่ยง 68 วัน คิดเป็น 18.73%

- ระดับสีเหลือง อากาศปานกลาง 210 วัน คิดเป็น 57.85%

- ระดับสีเขียว อากาศดี 71 วัน คิดเป็น 19.56%

3 เดือนที่สภาพอากาศแย่ที่สุดในปี 2563

เดือนมกราคม

จากข้อมูล ยังพบว่า เดือนที่กรุงเทพฯ อากาศเลวร้ายเต็มไปด้วยฝุ่นพิษมากที่สุดในปี 2563 ก็คือเดือนมกราคม โดยวันที่มีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง

สูงสุดแห่งปี คือวันที่ 11 มกราคม 2563 อยู่ในระดับสีแดง สูงถึง 181 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

และตลอดทั้งเดือนมกราคม 2020 ที่ผ่านมา ไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียว ซึ่งหมายถึงอากาศดีเลย

ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง มีจำนวน 6 วัน วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม ซึ่งหมายถึงอากาศระดับปานกลางแต่เป็นอันตรายต่อกลุ่มเสี่ยง มีจำนวน 20 วัน

และมีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง ซึ่งหมายถึงไม่ดีต่อสุขภาพ มีจำนวน 4 วัน (หมายเหตุเดือนมกราคมมีสถิติบันทึกไว้เพียง 30 วัน)

เดือนกุมภาพันธ์

แต่ถึงอย่างนั้นเดือนมกราคมก็ยังไม่ใช่เดือนที่มีค่าฝุ่นเฉลี่ยสูงสุด เดือนที่มีค่าฝุ่นเฉลี่ยสูงสุดก็คือเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียว หรืออากาศดีเลย

ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง มีจำนวน 6 วัน วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม ซึ่งหมายถึงอากาศระดับปานกลางแต่เป็นอันตรายต่อกลุ่มเสี่ยง มีจำนวน 14 วัน

และมีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง ซึ่งหมายถึงไม่ดีต่อสุขภาพ มีจำนวน 9 วัน

เดือนธันวาคม

สำหรับเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีข่าวว่าค่าฝุ่น PM 2.5 ของกรุงเทพฯ สูงติดอันดับท็อปของโลกหลายวัน เดือนธันวาคม มีค่าฝุ่นเป็นมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดแห่งปีในวันที่ 15 ธันวาคม 2020 อยู่ในระดับสีแดง สูงถึง 161 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียว ซึ่งหมายถึงอากาศดีเลย

ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง มีจำนวน 14 วัน วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม ซึ่งหมายถึงอากาศระดับปานกลางแต่เป็นอันตรายต่อกลุ่มเสี่ยง มีจำนวน 16 วัน และมีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง ซึ่งหมายถึงไม่ดีต่อสุขภาพ มีจำนวน 1 วัน

อย่างไรก็ตามค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งๆ อาจจะมีบางเขตของกรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกๆ เขต

ปีที่แล้ว คนกรุงสูดฝุ่นพิษ PM 2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่กว่า 1,270 มวน

วันที่ค่าฝุ่นต่ำที่สุดในรอบปี 2563

สำหรับวันที่ค่าฝุ่นต่ำที่สุดในรอบปี ในกรุงเทพฯ ก็คือ วันที่ 21 กันยายน ซึ่งมีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เพียง 26 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่เดือนกันยายนก็ยังไม่ใช่เดือนที่มีอากาศดีที่สุดของปี 2020 ของกรุงเทพฯ

3 เดือนที่มีอากาศ ดีที่สุด

เดือนมิถุนายน

สำหรับเดือนที่มีอากาศดีที่สุดในปี 2020 ของกรุงเทพฯ ก็คือเดือนมิถุนายน มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในแถบสีเขียวอันหมายถึงอากาศดี มากถึง 18 วัน และวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง อีกจำนวน 12 วัน

เดือนกันยายน

รองลงมาคือเดือนกันยายน มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในแถบสีเขียว อันหมายถึงอากาศดี จำนวน 17 วัน และวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง อีกจำนวน 13 วัน

เดือนกรกฎาคม

และอันดับสามเดือนกรกฎาคม อยู่ในแถบสีเหลือง-ส้ม ระหว่าง 61-80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อีก 6 วัน มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในแถบสีเขียว อันหมายถึงอากาศดี จำนวน 14 วัน และวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง อีกจำนวน 17 วัน

ปีที่แล้ว คนกรุงสูดฝุ่นพิษ PM 2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่กว่า 1,270 มวน

เปรียบเทียบค่าฝุ่น PM 2.5 กับบุหรี่

ถ้าค่าฝุ่น PM 2.5 22 ug/m3 = บุหรี่ 1 มวน ปี 2563 ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ สูบบุหรี่ไปกี่มวน ?

จากงานของ Dr. Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM 2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน

ซึ่งหากนำค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในแต่ละวันของปี 2020 มาคำนวณเปรียบเทียบตามเกณฑ์ของ Dr. Richard Muller จะพบว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2020 (ซึ่งถือเป็นเดือนที่มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด) คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 166.90 มวน

รองลงมาก็คือเดือนมกราคม คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 164.60 มวน ตามมาด้วยเดือนธันวาคม 146.71 มวน

แม้แต่ในเดือนที่มีอากาศดีที่สุดแห่งปี 2020 อย่างเดือนมิถุนายน เมื่อคำนวณเปรียบเทียบดูแล้ว คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 66.70 มวน รองลงมาก็คือเดือนกันยายน 69.80 มวน และเดือนกรกฎาคมจำนวน 73.41 มวน

โดยรวมแล้วในปี 2563 ที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1,270.07 มวน อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการชี้ว่าควันพิษจากบุหรี่นั้นมีสารพิษมากกว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก

ปีที่แล้ว คนกรุงสูดฝุ่นพิษ PM 2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่กว่า 1,270 มวน

อ่านรายละเอียดทั้งหมดที่ Rocket Media Lab : ปี 2020 คนกรุงเทพฯ สูดฝุ่นพิษ PM 2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่ 1,270.07 มวน

 

 

related