svasdssvasds

"บิ๊กอ๊อด" นำทีมพา "AFC" ตรวจ "สนามราชมังฯ" เตรียมจัดฟุตบอลระดับนานาชาติ

"บิ๊กอ๊อด" นำทีมพา "AFC" ตรวจ "สนามราชมังฯ" เตรียมจัดฟุตบอลระดับนานาชาติ

พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย พาคณะเจ้าหน้าที่จากสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ เอเอฟซี ตรวจสอบสภาพสนาม ราชมังคลากีฬาสถาน เพื่อปรับปรุงและแก้ไขตามกฏระเบียบ เรื่องการใช้สถานที่สำหรับจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 11.30 น. พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฟุตบอลฯ นำเจ้าหน้าที่จากสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ เอเอฟซี ตรวจสอบสภาพสนาม ราชมังคลากีฬาสถาน เพื่อปรับปรุงและแก้ไขตามกฏระเบียบ เรื่องการใช้สถานที่สำหรับจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ การตรวจสนาม ในครั้งนี้ นำโดย ยู จิน โฮ ฝ่ายจัดการแข่งขัน (ทีมชาติ), เชลตัน กูลการนิ ฝ่ายสื่อและประชาสัมพันธ์, เชง ยิง ได ฝ่ายจัดการแข่งขัน (ทีมชาติ), คูมาราซัน ชันดราน ฝ่ายการตลาดและพาณิชย์, โมฮาหมัด ราซากีดิน บิน ราซาลลี ฝ่ายบริการทั่วไป, ฟาดฮิล อัซรี บิน อิสมาอิล ฝ่ายออกแบบสนาม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ฝ่ายจัดการแข่งขันและฝ่ายต่างประเทศ

"บิ๊กอ๊อด" นำทีมพา "AFC" ตรวจ "สนามราชมังฯ" เตรียมจัดฟุตบอลระดับนานาชาติ

หลังการตรวจสอบสภาพสนาม พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ กล่าวว่า "จากการที่ประเทศไทย ได้รับเลือกจากเอเอฟซี ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ประจำปี 2020 ในเดือนมกราคมปีหน้า วันนี้ทางเอเอฟซี ได้ส่งเจ้าหน้าทีมาตรวจความพร้อมของสนาม ซึ่งเสนอไปสำหรับจัดการแข่งขันฟุตบอลไปทั้งหมด 6 สนาม ประกอบไปด้วย 1.สนามราชมังคลากีฬาสถาน 2.สนามกีฬา สมโภช 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่ 3.สนามบางกอกกล๊าส สเตเดียม 4.สนาม เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนครราชสีมา 5.สนาม เมืองทอง สเตเดียม และ 6.สนามฟุตบอลภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่เอเอฟซี จะตรวจสอบว่าทั้งหมด 6 สนาม ว่ามีสนามใดผ่านข้อกำหนด ไม่ผ่านข้อกำหนดอย่างไร ซึ่งตรงกับนโยบายของการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ต้องการจะปรับปรุงสนามภายใต้การดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทยฯ จำนวน 3 สนาม คือ สนาม ราชมังคลากีฬาสถาน, สนามที่เชียงใหม่ และ นครราชสีมา"

"บิ๊กอ๊อด" นำทีมพา "AFC" ตรวจ "สนามราชมังฯ" เตรียมจัดฟุตบอลระดับนานาชาติ

สำหรับ กฏ ระเบียบ ของประเทศเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ของ เอเอฟซี มีดังนี้

1. จำนวนสนามแข่งขัน 3-4 สนาม และสนามฝึกซ้อม ไม่น้อยกว่า 8 สนาม

2. ความสว่างของไฟ ไม่น้อยกว่า 1,800 LUX

3. สภาพสนามต้องมีความสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์

4. ความจุไม่น้อยกว่า 10,000 ที่นั่ง พร้อมติดตั้งเก้าอี้ครบถ้วน

5. มีจอ LED ขนาดใหญ่

6. มีพื้นที่รับรอง VIP และ VVIP รวมกันไม่น้อยกว่า 50 ที่นั่ง

7. ห้องพักนักกีฬาไม่น้อยกว่า 4 ห้อง

8. ห้องอาบน้ำไม่น้อยกว่า 4 ห้อง ต่อ 1 ห้องแต่งตัว

9. ห้องสุขา ไม่น้อยกว่า 4 ห้อง ต่อ 1 ห้องแต่งตัว

10. โถสำหรับผู้ชายปัสสาวะ ไม่น้อยกว่า 4 ชุด ต่อ 1 ห้องแต่งตัว

11. มีที่นั่งภายในห้องแต่งตัวนักกีฬา ไม่น้อยกว่า 30 ที่นั่ง ต่อ 1 ห้องแต่งตัว

12. มีเตียงนวด และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก อาทิ ตู้เย็น, เครื่องปรับอากาศ และกระดานวางแผน

13. มีห้องอำนวยความสะดวก และห้องอเนกประสงค์ อาทิ ห้องพักผู้ตัดสิน, ห้องตรวจสารกระตุ้น, ห้องพยาบาล, ห้องทำงานสำหรับเจ้าหน้าที่เอเอฟซี, ห้องเด็กเก็บบอล, ห้องเก็บของ, ห้องทำงานสื่อ, ห้องแถลงข่าว, มิกซ์โซน

14. การติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

15. ที่นั่งของผู้ควบคุมการแข่งขัน และผู้ประเมินผู้ตัดสิน ต้องอยู่บริเวณกึ่งกลางสนาม และสามารถเชื่อมสัญญาณถ่ายทอดสดได้

16. ที่นั่งสำหรับผู้วิเคราะห์การแข่งขัน สามารถนั่งได้อย่างน้อยสองคน พร้อมมีระบบไฟฟ้า

กฏ ระเบียบ ของสนามฝึกซ้อม ที่ต้องมี

1. ต้องติดตั้งระบบไฟส่องสว่างไม่น้อยกว่า 500 LUX

2. มีห้องอำนวยความสะดวก อาทิ ห้องแต่งตัว

3. ต้องมีประตูสำรอง, ประตูที่สามารถเคลื่อนย้ายได้

4. ต้องเป็นสนามแบบปิด

5. ต้องมีสนามซ้อมสำหรับผู้ตัดสิน โดยมีขนาดมาตรฐาน และลู่วิ่งสำหรับทดสอบสมรรถภาพ

โรงแรมที่พัก ที่ต้องมี

1. โรงแรมที่พักสำหรับ เจ้าหน้าที่เอเอฟซี จะต้องมีระดับ 4-5 ดาว อยู่ไม่ห่างจากสนามบินเกิน 100 กิโลเมตร และต้องเดินทางสะดวกในการไปยังโรงแรมที่พักของทีม ขณะที่สนามแข่งขัน และสนามฝึกซ้อม จะต้องเดินทางไม่เกิน 30 นาทีจากที่พัก

2. โรงแรมของทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน จะต้องมีระดับ 4-5 ดาว และต้องเดินทางถึงสนามซ้อมได้ภายใน 30 นาที

3. โรงแรมที่พัก จะต้องสามารถทำอาหารระดับนานาชาติ และมีอาหารฮาลาล

4. โรงแรมที่พัก จะต้องมีห้องฟิตเนส, สระว่ายน้ำ, ห้องประชุม และพอเพียงกับจำนวนทีมที่เข้าพัก

"บิ๊กอ๊อด" นำทีมพา "AFC" ตรวจ "สนามราชมังฯ" เตรียมจัดฟุตบอลระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียฯ จะมีการตรวจสนามแข่งขัน ทั้ง 6 สนาม, สนามฝึกซ้อมทั้งหมด ในช่วงระหว่างวันที่ 19-26 กุมภาพันธ์ 2562 และจะให้การบ้านเพื่อให้ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ การกีฬาแห่งประเทศไทย นำข้อบกพร่องต่างๆไปทำแผน และปรับปรุง พร้อมส่งรายงานภายในช่วงเดือนเมษายน จากนั้นทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงในส่วนต่างๆให้ตรงตามข้อกำหนด ของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย และจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้เอเอฟซีไปพิจารณาในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยทางเอเอฟซี จะมีการคัดเลือกสนามแข่งขันที่มีความพร้อมมากที่สุดจำนวน 4 สนาม เพื่อใช้แข่งขันในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ต่อไป

สำหรับการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2020 จะมีการแข่งขันในช่วงเดือนมกราคม 2563 และคัดเลือก 3 ชาติ ผ่านเข้าไปเล่นในมหกรรมโอลิมปิก ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ต่อไป

related