svasdssvasds

ปวดคอ มือชา ปวดร้าวที่แขน สัญญาณเสี่ยงเป็น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

ปวดคอ มือชา ปวดร้าวที่แขน สัญญาณเสี่ยงเป็น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

อาการ ปวดคอ มือชา ปวดร้าวที่แขน หากมีอาการเหล่านี้อย่าปล่อยไว้โดยเด็ดขาด เสี่ยงเป็น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อันตรายถึงขั้นอัมพฤกษ์อัมพาต

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นภาวะความเสื่อมสภาพของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน เนื่องจากการทำพฤติกรรมผิดๆ บางอย่างอยู่เป็นประจำ เช่น การก้มคอเล่นมือถือการนั่งหลังไม่พิงพนักพิง การนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ การนั่งโต๊ะทำงานอย่างผิดสุขลักษณะ การยกของหนัก การสะพายกระเป๋าหนักๆ เพียงข้างเดียว การนอนคว่ำอ่านหนังสือ เป็นต้น 

อาการของโรค

ในเบื้องต้นจะเกิดอาการปวดคอ บ่า ไหล่ร้าวลงแขน บางรายอาจมีอาการชาร่วมด้วย พฤติกรรมดังกล่าวทำให้กระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น และทำให้เกิดการทรุดตัวของโครงสร้างกระดูก จนอาจทำให้เกิดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทได้

วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น

เราสามารถสังเกตอาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ง่ายๆ ดังนี้

- ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณคอนำมาก่อน ซึ่งบางรายอาจจะมีอาการปวดร้าวไปที่แขนหรือที่มือ ร่วมกับมีอาการชา อาการอาจจะเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ 

- บางรายอาจจะทำให้แยกกับโรคออฟฟิศซินโดรมได้ยาก โดยอาจมีอาการปวดไปที่ศีรษะร่วมด้วย จึงทำให้นึกว่าเป็นอาการปวดศีรษะไมเกรน แต่ที่แท้จริงแล้วอาจมีโรคของหมอนรองกระดูกคอเสื่อมซ่อนอยู่ก็เป็นได้ 

- หากระยะโรคดำเนินไปถึงขั้นท้ายๆ จะมีอาการหยิบจับของลำบาก ติดกระดุมเสื้อไม่ได้ หรืออาจจะทำให้การเดินทรงตัวลำบากมากขึ้นได้

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

การวินิจฉัยโรค

เบื้องต้นหากพบว่ามีอาการของ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางทันทีเพื่อรับการตรวจ X-Ray หรือ MRI เพื่อทำการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ โดยโรคนี้ต้องรักษาด้วยวิธีที่มีผลวิจัยทางการแพทย์ยืนยันเท่านั้น เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเรื้อรังได้ ไปจนถึงขั้นอัมพฤกษ์อัมพาต หรือพิการได้เลยทีเดียว  

การรักษา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการเสื่อมของหมอนรองกระดูก

แนวทางการรักษานั้น แพทย์จะรักษาตามอาการเป็นลำดับขั้น ซึ่งอาการบางอย่างก็สามารถหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด 

- เริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน 

- การใช้ยา 

- การทำกายภาพบำบัดเฉพาะส่วนอย่างเคร่งครัด 

- การฉีดยาเข้าโพรงประสาท 

- วิธีสุดท้ายคือการผ่าตัดเอาส่วนที่กดทับเส้นประสาทออกนั่นเอง ซึ่งการผ่าตัดในปัจจุบันเน้นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว ไม่เจ็บแผล ทำให้การผ่าตัดไม่น่ากลัวอีกต่อไป  

นอกจากนี้เรายังสามารถป้องกันโรคดังกล่าวได้โดยปรับพฤติกรรม ดังนี้

- หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ 

- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก 

- ลดน้ำหนัก 

- งดสูบบุหรี่ 

- หมั่นออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวเพื่อให้มีกล้ามเนื้อไว้สำหรับพยุงคอ ซึ่งจะทำให้ลดการเสื่อมของหมอนรองกระดูกได้

ขอบคุณข้อมูลจาก นายแพทย์ปวินท์ เกษมพิพัฒน์ชัย แพทย์ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อเเละศัลยกรรมกระดูกสันหลัง ประจำคลินิกพิเศษด้านกระดูกสันหลัง ABSOLUTE SPINE CARE โรงพยาบาล  พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

related