svasdssvasds

ในหลวงในความทรงจำ ศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จสวรรคตไปแล้วปีนี้เป็นปีที่ ๔ แต่มรดกที่พระองค์พระราชทานให้แก่ศิริราชและประชาชนยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๙ และบรรพกษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี

วงการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เริ่มต้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ท่านเป็นผู้พระราชทานผืนดินที่เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลศิริราช โดยมีพระราชประสงค์เพื่อให้โรงพยาบาลศิริราชสามารถดูแลประชาชนที่ยากไร้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ยุคเริ่มต้นของการแพทย์แผนปัจจุบัน

รศ. นพ. นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แนวพระราชดำรัสของรัชกาลที่ ๕ ท่านพระราชทานเพื่อให้ศิริราชรักษาผู้ป่วยยากไร้ ซึ่งได้ถูกถ่ายทอดมาจากสมัยนั้นจนถึงปัจจุบัน ถ้าเกิดมาทันศิริราชในช่วง ๑๐ กว่าปีที่แล้ว คนที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช พอคนไข้จะกลับบ้าน การคิดเงินจะใช้คำว่า ค่าใช้จ่ายจำนวนเท่านี้ ไม่ทราบว่าจะบริจาคให้ศิริราชจำนวนเท่าไหร่ เป็นคำที่เราใช้ในการเก็บเงินคนไข้ ด้วยการที่ศิริราชถูกตั้งขึ้นโดยพระราชประสงค์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ให้รักษาคนไข้ฟรี แต่ว่าหลังจากที่เราใช้วิธีนี้มา เราจะเห็นว่าสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป สถานพยาบาลไม่สามารถอยู่ได้ถ้าไม่มีการทำให้สมดุลระหว่าง การรักษาฟรี กับการหาเงินเข้ามาเพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง 

นอกจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงพระราชทานแผ่นดินแห่งนี้เพื่อสร้างโรงพยาบาลศิริราชแล้ว พระองค์ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนตั้งต้น รวมถึงการไม่รื้อเมรุพระศพของสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ แล้วพระราชทานเมรุพระศพ ศาลาที่ใช้ นำมาก่อสร้างโรงพยาบาลศิริราชอีกด้วย 

การที่ประเทศไทยมีการแพทย์แผนปัจจุบันที่พัฒนาและก้าวหน้าจนถึงปัจจุบัน เรียกว่าเป็นสายพระเนตรอันยาวไกล เป็นพระมหากรุณาธิคุณตั้งแต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงเป็นผู้ริเริ่มในเรื่องของการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่คนไทยในยุคสมัยนั้นก็ยังคงใช้วิธีการรักษาแพทย์แผนโบราณเป็นหลักอยู่ดี

ในหลวง ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงของการแพทย์แผนปัจจุบัน 

ในยุคสมัยพระราชโอรสพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ ๕ คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ท่านทรงถูกชักชวนโดยกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ให้มาดูกิจการของโรงพยาบาลศิริราช เมื่อท่านมาดูแล้วท่านก็รู้สึกเศร้าพระทัยว่า ทำไมโรงพยาบาลศิริราชที่ใหญ่โต ที่ริเริ่มโดยรัชกาลที่ ๕ ไม่ได้รับการพัฒนา ท่านจึงมีพระราชหัตถเลขาความว่า จะเปลี่ยนใจไม่เรียนทหารแล้ว แต่ฉันจะไปเรียนแพทย์

พระราชหัตถเลขานี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้การแพทย์แผนปัจจุบันของไทยได้รับการพัฒนา เนื่องมาจากเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ลงมาเรียนแพทย์ และลงมารักษาคนไข้ด้วยตนเอง ถือเป็นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การแพทย์ของไทยได้รับการพัฒนา เมื่อประมาณ ๑๐๐ กว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ประเทศไทยมีการแพทย์และการสาธารณสุขมั่นคงและพัฒนาทัดเทียมประเทศต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับการพิสูจน์จากการรับมือสถานการณ์โรคโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์และวงการสาธารณสุขไทย 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่สร้างขวัญและกำลังใจโดยพระราชทานปริญญาบัตรให้กับนักเรียนแพทย์ สมัยนั้นเรียก เวชชบัณฑิต ซึ่งคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ยังคงสังกัดอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปัจจุบันปริญญาบัตรนั้น ถูกเรียกว่า แพทยศาสตร์บัณฑิต 

การพระราชทานปริญญาบัตรของรัชกาลที่ ๗ พระองค์เสด็จพร้อมสมเด็จพระราชินี เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ถือเป็นเกียรติอย่างสูงสำหรับผู้ที่จะจบมาเป็นแพทย์ ทำให้เห็นว่า พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ต่างเห็นความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์และวงการแพทย์ไทย

ในหลวง

พระราชมรดกสำคัญในยุครัชกาลที่ ๙

รัชกาล ๙ พระองค์ทรงมีคุณูปการกับประเทศไทย รวมทั้งศิริราชอย่างล้นพ้น ศิริราชเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลักษณะอันหนึ่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทุกหน้าฝนศิริราชก็จะน้ำท่วมทุกปี และเมื่อศิริราชน้ำท่วมก็แก้ไขโดยการเอาทราย สะพานไม้ มาตั้ง เมื่อท่วมมากๆ ก็ปิดโรงพยาบาล หยุดให้การรักษา 

บุคลากรทางการแพทย์มองเห็นว่าการปิดเนื่องจากน้ำท่วมเป็นเรื่องปกติของทุกปี แต่คนที่ไม่เห็นว่าการปิดโรงพยาบาลศิริราชเป็นเรื่องธรรมดา คือ รัชกาลที่ ๙ พระองค์ท่านก็คงรู้สึกว่า คนที่เดือดร้อนไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์

วันหนึ่ง ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระองค์เสด็จมาพร้อมกับแผนที่ของโรงพยาบาลศิริราช พระองค์เดินดูตามขอบแม่น้ำ เอาแผนผังของการระบายน้ำของศิริราชมาดู และในปีพุทธศักราช 2532 หลังจากที่รัชกาลที่ ๙ เสด็จไปที่ศิริราช พระองค์เชิญผู้เกี่ยวข้องมาหมดทำให้เกิดการสร้างเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่ลงมาและทำให้เกิดการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลเกิดขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย 

ในสมัยนั้นโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม เมื่อมีน้ำเสียก็จะปล่อยลงแหล่งน้ำเลย น้ำที่ออกจากโรงพยาบาลในสมัยนั้นอาจจะมีโรค สารเคมีต่างๆ จากการรักษาคนไข้ปล่อยลงไปสู่แหล่งน้ำ เพราะยังไม่มีโรงบำบัดน้ำเสีย ศิริราชจึงเป็นโรงพยาบาลแรกในประเทศไทยที่ก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียขึ้น ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติสถานพยาบาลเพื่อให้มีการบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ 

ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะ พระองค์ท่านไม่ต้องการให้ศิริราชปิด เพื่อไม่ให้คนไข้ได้รับความเดือดร้อนในช่วงหน้าน้ำท่วม เลยทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบของการระบายน้ำ การบำบัดน้ำเสีย และตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา ศิริราชไม่เคยน้ำท่วมอีกเลย 

ในหลวงในความทรงจำ ศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์

โครงการที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านพระราชทานให้กับศิริราชอีกโครงการหนึ่ง คือ การจราจรโดยรอบศิริราชที่คับคั่ง รถติดเหลือเกิน เมื่อมาถึงแล้วก็ยังไม่มีที่จอดรถอีกด้วย เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด ในแต่ละวันศิริราชมีคนไข้ที่มาเข้ารับการรักษาเกือบหมื่นคน รวมถึงบุคลากรอีกหมื่นเจ็ดพันคน ยังไม่รวมถึงประชาชนที่อยู่โดยรอบอีก  

“สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพในการที่จะเสียสละ จะขยายถนนก็ติดสถานีตำรวจ ติดตลาด ติดวัด หลายส่วน มีประชาชนที่อยู่รายล้อมเยอะมาก วันหนึ่งพระองค์ท่านจึงได้เรียกทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กระทรวงคมนาคม กทม. ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ศิริราช ประชาชนโดยรอบ พระองค์ท่านเป็นผู้ที่ประสาน ๑๐ ทิศ เพื่อทำให้เกิดโครงการปรับปรุงการจราจรโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช เหตุผลไม่ได้เพื่อพระองค์ท่านเอง เวลาพระองค์ท่านจะเสด็จไปไหน ท่านก็ไม่พยายามให้มีการปิดถนน หรือถ้าจะมีการปิดถนนล่วงหน้าในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีการเดือดร้อนของประชาชน” รศ.นพ.นริศ กล่าว

การจราจรโดยรอบ ถือเป็นพระราชมรดกที่สำคัญอันหนึ่งที่พระราชทานให้แก่คนไทย ซึ่งตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นผลเพราะโครงการยังคงดำเนินอยู่ ขอให้ทนไปอีกไม่เกิน ๒-๓ ปีจากนี้ การจราจรโดยรอบศิริราชจะคลี่คลาย

แม้ว่าพระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคตไปแล้ว ๔ ปี ปีนี้เป็นปีที่ ๔ แต่มรดกที่ท่านพระราชทานให้ยังคงดำเนินอยู่ พระองค์ท่านพระราชทานให้มีผลต่ออนาคตคนไทยไปไม่สิ้นสุด ให้กับคนไข้ ซึ่งไม่ได้พูดถึงพระองค์ท่านเองเลย นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมบุคลากรของศิริราชถึงได้รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๙

ในหลวงในความทรงจำ ศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์

นอกจากนี้ พระบรมวงศานุวงศ์ พระองค์ท่านได้เสด็จเป็นองค์ประธานในการระดมทุนให้กับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้กับคณะแพทย์อื่นๆ อีกมากมาย แม้ว่าจะพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มาบ้างบางส่วน แต่นั่นก็ทำให้เกิดการสร้างแรงบันดาลใจให้คนในประเทศได้ตั้งใจทำความดี และการทำความดีนั้นมันทำให้เกิดเป็นอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ของโรงพยาบาลศิริราช มูลค่า ๕,๐๐๐ ล้าน รัฐบาลให้มา ๒,๐๐๐ ล้าน อีก ๓,๐๐๐ ล้านมาจากการสร้างแรงบันดาลใจผ่านรัชกาลที่ ๙ มาเป็นเงินอีกจำนวนมากกว่า ๓,๐๐๐ ล้าน ทำให้เกิดตึกที่สามารถรองรับและดูแลรักษาผู้ป่วยยากไร้ได้ปีหนึ่งนับแสนๆ คน และตึกนี้จะอยู่ไปอีกนับร้อยปี คุณูปการที่เกิดขึ้นนั้นมากมายเหลือเกิน 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พระองค์ท่านพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ไม่ใช่ศิริราชเท่านั้นที่ทรงพระราชทานให้ พระองค์ท่านพระราชทานไปยังโรงเรียนแพทย์ต่างๆ รวมทั้งโรงพยาบาลต่างๆ ด้วย อาจจะไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ว่าพระองค์ท่านพระราชทานอะไร รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายๆ พระองค์ จึงเป็นการพระราชทานโดย ปิดทองหลังพระ อย่างแท้จริง

สิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ พระราชทานไว้ในอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา คือ เครื่องเร่งอนุภาคพร้อมระบบภาพนำวิถีด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MR Linac (N2)) เป็นเครื่องรักษามะเร็งที่ทันสมัยที่สุด และเป็นเครื่องแรกสุดในเซาท์อีสต์เอเชีย ทำให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งของโรงพยาบาลศิริราชจากเดิมที่หลายคนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ถ้ามารักษาที่ศิริราชอาจต้องรอคอยการรักษาถึง ๖ เดือน กว่าที่จะได้รับการฉายแสง เมื่อมีเครื่องนี้ทำให้ระยะการรอคอยการรักษามะเร็งของศิริราชหดลงเหลือเพียงเดือนเดียวเท่านั้น นี่จึงถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่หลายคนอาจไม่ทราบ

ในหลวงในความทรงจำ ศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์

ขอให้ถือประโยชน์ของคนไข้เป็นที่หนึ่ง และถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทำไมถึงลงท้ายว่าพระบรมราชชนก มีความหมายแฝงอยู่ ๒ นัย ดังนี้

- นัยที่ ๑ คือ พระองค์เป็นพระบรมราชชนกของพระมหากษัตริย์ถึง ๒ พระองค์ คือ รัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙

- นัยที่ ๒ คือ พระองค์เป็นพระบิดาแห่งวงการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย เป็นพระบิดาของวงการสาธารณสุขไทยด้วย

พระราชหัตถเลขาที่วงการแพทย์นั้นน้อมนำมาเป็นแนวทางในการเป็นบุคลากรทางการแพทย์

หนึ่ง คือ ฉันไม่ต้องการให้เธอเป็นเพียงแพทย์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ฉันต้องการให้เธอเป็นคนด้วย ความหมายของพระองค์ท่านชัดเจน ไม่ต้องการให้ทำหน้าที่หมอเหมือนเป็นเครื่องจักรที่ได้แต่รักษาเพียงอย่างเดียว แต่ความเป็นคนนั้นจะต้องดูในสิ่งอื่นๆ ของคนไข้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ได้น้อมนำมาใช้ตลอด อาทิ เราจะดูว่าคนไข้เดินทางได้ไหม คนไข้มีค่าใช้จ่ายหรือเปล่า คนไข้มีญาติไหม มีประเด็นอื่นๆ อีกไหมที่เราต้องรักษาในคนไข้นั้น ซึ่งไม่ใช่เป็นแค่โรคเท่านั้น แต่เป็นคนๆ หนึ่งที่ต้องการการดูแลรักษาทางร่างกายและจิตใจด้วย นี่ถือว่าเป็นพระราชดำรัสที่วงการแพทย์นำมาใช้ อย่างที่เรียกว่าฝังอยู่ในจิตใจ

สอง คือ ขอให้ถือประโยชน์ของคนไข้เป็นที่หนึ่ง และถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง นี่จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์ให้คำแนะนำอะไร พูดอะไร ล้วนแต่นึกถึงประโยชน์ของคนไข้ นึกถึงประชาชน เป็นที่หนึ่งเสมอ

รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๙ พระองค์ท่านเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรให้กับนักศึกษาแพทย์ที่หอประชุมราชแพทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีข้อความตอนหนึ่งพระองค์ท่านบอกว่า พระองค์และแพทย์ต่างๆ มีพ่อคนเดียวกัน เพราะว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชบิดาของรัชกาลที่ ๙ ขณะเดียวกันพระองค์ยังเป็นบิดาของวงการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยด้วย นี่ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นเกียรติอันสูงสุดกับบุคลากรทางการแพทย์ ที่พระองค์ท่านเห็นประโยชน์ของการทำหน้าที่ในการเป็นแพทย์ในแผ่นดินนี้ ในประเทศอื่นอาจจะไม่ได้รับเกียรติสูงเท่านี้มาก่อน พระองค์ทรงสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด น้อมนำมาใช้ แต่ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง เพื่อถ่ายทอดสิ่งต่างๆ เหล่านั้นให้กับประชาชนคนไทย ให้กับคนไข้ของเรา เพื่อให้คนไข้ของเราได้รับการรักษาและการดูแลที่ดีที่สุด

ในหลวงในความทรงจำ ศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์ ในหลวงในความทรงจำ ศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์

related