svasdssvasds

ไวรัสโรต้าคืออะไร วายร้ายสำหรับลูกน้อยที่พ่อแม่ต้องระวัง

ไวรัสโรต้าคืออะไร ในช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้หากเป็นแล้วจะอันตรายต่อลูกน้อยมากขนาดไหน รวมถึงจำเป็นต้องดูแลลูกน้อยอย่างไร มาหาคำตอบกัน

ไวรัสโรต้าคืออะไร คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองที่มีลูกเล็กจำเป็นอย่างยิ่งต้องเฝ้าระวัง เพื่อไม่ให้โรคภัยถามหา สิ่งสำคัญคือการป้องกันโรคด้วยการหมั่นให้ลูกล้างมือให้สะอาดเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย

รศ. พญ. วนัทปรียา พงษ์สามารถ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ช่วงปลายฝนต้นหนาวการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เด็กๆ ก็ป่วยกันเยอะอยู่แล้ว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไปที่เราจะเข้าสู่หน้าหนาวจะมีอีกโรคหนึ่งที่พบมีการระบาดในเด็กของประเทศไทยเยอะก็คือ ท้องเสีย หรือลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าที่เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเกิดท้องเสียในเด็กไทยและในเด็กทั่วโลก 

ในประเทศไทยเด็กที่มีอาการท้องเสีย ลำไส้อักเสบ จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เมื่อทำการตรวจแล้วพบว่า 30-40 เปอร์เซ็นต์ เป็นโรต้าไวรัส ดังนั้นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังและใส่ใจอย่างยิ่งก็คือ มาตรการป้องกันอย่าง การล้างมือ ซึ่งจะช่วยป้องกันได้หลายโรคมาก รวมถึงไวรัสโรต้าด้วย

สาเหตุของการติดเชื้อไวรัสโรต้า

ไวรัสโรต้า สามารถติดได้ทางการรับประทาน ซึ่งอาจจะเป็นอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโรต้าอยู่ รวมถึงสิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่เชื้อไวรัสโรต้าติดอยู่บนของเล่น เมื่อเด็กๆ เอาของเล่นไปอม เข้าปาก แม้เชื้อจำนวนนิดเดียวก็สามารถติดเชื้อไวรัสได้

เด็กส่วนหนึ่งที่อาจจะติดเชื้อโดยที่ไม่มีอาการ เพราะฉะนั้นเด็กๆ จะติดทางการสัมผัส ทางการรับประทานเป็นหลัก เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายมากไม่แพ้กับ RSV เป็น 2 โรคหลักที่เด็กเล็กสามารถติดต่อกันได้ง่าย และเป็นกันเยอะ

การหยอดวัคซีนป้องกัน

สำหรับการหยอดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า ขณะนี้มีทั่วประเทศแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือตามสถานีอนามัย ตอนนี้ก็จะมีหยอดให้กับเด็กๆ โดยจะหยอด 2 ครั้ง ที่อายุ 2 เดือน 4 เดือน เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง สามารถที่จะพาเด็กๆ ไปรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าได้ทั่วประเทศ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งพึ่งเริ่มหยอดวัคซีนปีนี้เป็นปีแรก 

การป้องกัน

การหยอดวัคซีนเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่วัคซีนสำหรับป้องกันไวรัสโรต้านั้นมีอายุที่จำกัดเพราะว่าต้องดูเรื่องความปลอดภัย จึงแนะนำให้เด็กมาหยอดตามอายุ 2 เดือน 4 เดือน รวมถึงไม่แนะนำให้หยอดหากอายุเกิน 8 เดือนแล้ว เพราะฉะนั้นควรรีบปรึกษาคุณหมอตั้งแต่ยังเล็ก 

สำหรับคนที่อายุเกินแล้ว ไม่ได้หยอด จะไม่สามารถหยอดได้แล้ว ให้เน้นความสำคัญในการป้องกันเรื่องสุขอนามัยด้านการล้างมือ การทำความสะอาดของเล่น เป็นมาตรฐานที่ผู้ปกครอง ครู ต้องใส่ใจ และต้องย้ำว่าหากพบว่าเด็กๆ เจ็บป่วยไม่สบาย ครูและผู้ปกครองต้องให้เด็กหยุดเรียน รวมถึงพยายามแยกอย่าให้เด็กไปเล่นกับคนที่มีอาการท้องเสียอีกด้วย

การรักษา

ไวรัสโรต้า เป็นไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่ไม่มียาต้านในการฆ่าเชื้อไวรัสโรต้า เพราะฉะนั้นการรักษาก็จะเป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก คือ การให้รับประทานยาลดไข้ ถ้าคลื่นไส้อาเจียนก็ต้องมียาแก้คลื่นไส้อาเจียน และที่สำคัญคือการให้น้ำเกลือแร่ชดเชยเวลาที่เด็กอาเจียนหรือถ่าย เขาจะเสียทั้งน้ำและเกลือแร่ ฉะนั้นต้องทานเกลือแร่ตามสัดส่วนที่แนะนำข้างซอง พยายามทานชดเชย 

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลังจากที่ท้องเสียจากไวรัสโรต้า ผนังลำไส้อาจจะทำงานในการย่อยได้ไม่เหมือนปรกติ ฉะนั้นเด็กบางคนที่หายจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าแล้ว ไข้ลงแล้ว แต่อาการถ่ายยังไม่ดีขึ้น หมอหลายท่านอาจพิจารณาให้เปลี่ยนนม เป็นนมสำหรับท้องเสียโดยเฉพาะ เรียกว่านมสูตร LF (Lactose Free) นั่นเพราะลำไส้ไม่สามารถย่อยนมปรกติซึ่งมีน้ำตาลแลคโตสได้ จึงให้เปลี่ยนนมชั่วคราวประมาณ 1 สัปดาห์ ให้ลำไส้ของเด็กค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาเป็นปรกติ จึงจะสามารถย่อยนมทั่วไปได้ 

ส่วนเด็กที่รับประทานนมแม่ หมอจะให้ทานนมแม่ต่อไปเหมือนเดิม โดยเน้นให้พยายามรับประทานอาหารที่สุกสะอาดย่อยง่าย ประมาณหนึ่งอาทิตย์เด็กๆ ก็จะหายเป็นปรกติ

อาการที่พบรุนแรงที่สุดของโรค

เรารู้กันไปแล้วว่า ไวรัสโรต้าคืออะไร แต่ยังไม่รู้ถึงความรุนแรงที่เกิด ซึ่งระดับความรุนแรงที่สุดของโรคจะพบได้ในหลายๆ ประเทศที่การสุขอนามัยดูแลการสาธารณสุขยังไม่ดีพอ มีโอกาสที่เด็กจะถ่ายมากจนเกิดอาการช็อก ขาดน้ำ และเสียชีวิตได้ 

สำหรับในประเทศไทย เนื่องจากว่าผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการดูแลในโรงพยาบาลได้ง่ายและทั่วถึง แม้ว่าจะมีเด็กป่วยนอนโรงพยาบาลด้วยโรต้าเยอะ แต่ด้วยการรักษาโดยการให้น้ำเกลือชดเชยสารน้ำและเกลือแร่ที่เด็กขาดไปอย่างทันท่วงที จึงทำให้อัตราการเสียชีวิตภายในประเทศไทยของเราจึงต่ำมาก 

ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กก็สามารถเป็นโรคนี้ได้

โรคในเด็กเล็กๆ ที่ต้องระวังอย่างยิ่งทั้ง ไวรัส RSV และไวรัสโรต้า ผู้ปกครองที่ดูแลแท้จริงแล้วก็สามารถติดเชื้อต่อได้เช่นกัน ส่วนใหญ่ตรวจพบในคุณพ่อคุณแม่ที่ดูแลลูกที่เป็นโรต้า ซึ่งทั้งโรต้า และ RSV มีหลายสายพันธุ์ ฉะนั้นถึงตอนเด็กๆ จะเคยติดแล้วก็อย่าชะล่าใจ ผู้ใหญ่ก็สามารถติดได้หากเป็นสายพันธุ์ที่เรายังไม่เคยติด 

ผู้ปกครองที่ดูแลเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็น RSV หรือเด็กที่เป็นโรต้า หลังจากจับเด็กๆ เมื่อเขาเข้าห้องน้ำ ท้องเสีย ถ่าย เมื่อเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เสร็จแล้ว หลังจากดูแลลูกๆ คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองก็ต้องดูแลตัวเองด้วย รีบล้างมือเพื่อป้องกันไม่ให้เรารับเชื้อจากเด็กๆ ที่ป่วยไม่สบาย เพราะว่าผู้ใหญ่ที่ติดโรต้าไวรัสในบางรายอาจจะรุนแรง อาจถึงขั้นต้องเข้านอนในโรงพยาบาลได้

ไวรัสโรต้า

อ่านบทความด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง

ไวรัส RSV ข่าวล่าสุด พบมีความรุนแรงกว่าโควิดถ้าเทียบในเด็กเล็ก

วัคซีนโควิด 19 กับเหตุผลที่แอสตร้าเซนเนก้าเลือกไทยเป็นฐานการผลิต

โรคปอดบวม อาการและวิธีป้องกัน โรคยอดฮิตที่มาพร้อมลมหนาว