svasdssvasds

เครื่องดื่มที่คนเป็น โรคเบาหวาน พึงระวังและควรหลีกเลี่ยง

เครื่องดื่มที่คนเป็น โรคเบาหวาน พึงระวังและควรหลีกเลี่ยง

ปัจจุบันเราพบว่าคนเป็น โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ สาเหตุหลักมี 2 อย่าง นั่นคือ พันธุกรรม และ บริโภคเกินจนกระทั่งอ้วน

พฤติกรรมการกินส่งผลกระทบให้คนไทยเป็น โรคเบาหวาน เยอะขึ้นเรื่อยๆ และตัวเลขสถิติในปัจจุบันยังบ่งชี้ว่าผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน ตอนนี้วัยทำงานเป็นเบาหวานอยู่ประมาณกว่า 2 ล้านคน เหตุหนึ่งมาจากการเปลี่ยนลักษณะงาน ทำงานที่เคลื่อนไหวน้อยลง และบริโภคอาหารที่เกินความจำเป็นหรือเกินความต้องการของร่างกาย

คนชอบถามว่า ทานชาไข่มุกแล้วทำให้เป็นเบาหวานหรือเปล่า เราต้องไปดูก่อนว่ากิจวัตรประจำวันของเราเป็นคนแอคทีฟไหม ออกกำลังกายยังกระฉับกระเฉงอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า หรือว่าทำงานนั่งโต๊ะดูคอมพิวเตอร์ตลอด พอทานข้าวปกติแล้วสมมุติว่าได้ 1,500 แคลอรี่แล้ว เราไปทานชาไข่มุก หรือเครื่องดื่ม หรือของหวานที่เกินความจำเป็น ยกตัวอย่าง ชาไข่มุกจะมีแคลอรี่หรือพลังงานตั้งแต่ 200-400 แคลอรี่/วัน/แก้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราทานเข้าไป 400 แคลอรี่/แก้ว มันก็เกิน เมื่อทานเกินแล้วไปไหน มันก็ไปสะสมเป็นไขมันในร่างกายจนทำให้เราอ้วนขึ้น

เมื่อเรารับน้ำตาลเข้าไปเยอะขึ้นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า ตับอ่อนจะต้องทำงานหนักขึ้นๆ เพื่อเอาชนะน้ำตาลในเลือดที่สูง เพราะฉะนั้นเมื่อตับอ่อนเราทำงานหนัก พอมากเข้าตับอ่อนก็จะเสื่อม นั่นจึงทำให้เกิด โรคเบาหวาน 

งานวิจัยในต่างประเทศชี้ชัดเจนมากว่า หากเราคอนโทรลน้ำหนักตัวของเราด้วยการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหารอย่างดี เบาหวานจะลดลงอย่างชัดเจน ประสิทธิภาพสูงกว่ายาบางตัวหรือหลายตัวด้วยซ้ำไป 

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ต้องระมัดระวังในเรื่องอาหารและเครื่องดื่มก่อนที่จะบริโภค ต้องควบคุมถึงขั้นคำนวณปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ต้องทานเข้าไปเพราะมันจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association : ADA) ได้ระบุชนิดเครื่องดื่มที่ควรเลี่ยง รวมถึงแนะนำเครื่องดื่มเพื่อคงระดับน้ำตาลในเลือด
 

เครื่องดื่มที่คนเป็นโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยง

1. น้ำอัดลม

น้ำอัดลม ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งเครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง ไม่นับน้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาล โดยเฉลี่ยแล้ว 1 กระป๋อง 325 มิลลิลิตร ให้น้ำตาล 31 กรัม ให้พลังงาน 150 กิโลแคลอรี่ นอกจากจะหวานแล้วยังส่งผลต่อการเพิ่มของน้ำหนัก และส่งผลต่อฟันทำให้ฟันผุอีกด้วย ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงไม่ควรบริโภค

2. เครื่องดื่มชูกำลัง

เครื่องดื่มชูกำลังทั้งหลายมีส่วนผสมของคาเฟอีน และยังให้น้ำตาลที่สูง โดยทั่วไปแล้ว 1 ขวด 150 มิลลิลิตร ให้น้ำตาลซูโครส 26.5 กรัม การวิจัยแสดงให้เห็นว่าเครื่องดื่มชูกำลังไม่เพียงส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด แต่ยังส่งผลให้เกิดการดื้อต่ออินซูลินอีกด้วย เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2

โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 นี้เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ หรือไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนคาเฟอีนในเครื่องดื่มชูกำลังนั้นหากมากเกินไปอาจส่งผลให้เพิ่มความดันโลหิตและนำไปสู่การนอนไม่หลับได้

3. น้ำอัดลมแบบไม่มีพลังงาน หรือใช้สารทดแทนความหวาน

น้ำอัดลมแบบไม่มีน้ำตาลแต่ใส่สารให้ความหวานเทียมนั้น ถึงแม้จะไม่ได้ให้พลังงานก็ตามที แต่เมื่อบริโภคบ่อยเข้าอาจจะทำให้เสพติดความหวานได้ การติดหวานนี่เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เวลาไปทานอาหารประเภทอื่นๆ ข้างนอก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ เราออกไปทานก๋วยเตี๋ยวนอกบ้าน 1 ชาม ถ้าคนที่เขาไม่ติดหวานเสิร์ฟมาอย่างไรก็ไม่ปรุงเพิ่ม แต่ถ้าคนติดหวานก็จะต้องเติมน้ำตาลเพิ่มเข้าไปเพื่อให้ถูกปาก ซึ่งแน่นอนว่าร้านส่วนใหญ่อาจไม่มีน้ำตาลเทียมให้เราปรุงก็ได้ ทำให้ไปทานอาหารอื่นแล้วต้องการความหวานมากขึ้น และน้ำตาลก็จะเกิน เพราะฉะนั้นต้องไม่ทำให้ตนเองติดหวาน 

สรุปคือตัวน้ำอัดลมแบบไม่มีน้ำตาลไม่ได้ก่อโรคหรือทำอันตรายต่อร่างกาย แต่อาจทำให้เราติดหวานได้เช่นกัน คนเป็นโรคเบาหวานจึงพึงระวังไว้
 

4. น้ำผลไม้ที่ผสมน้ำตาล

น้ำผลไม้ทั่วไปตามท้องตลาดส่วนใหญ่มักผสมน้ำตาล ซึ่งสามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเพิ่มน้ำหนัก โดยทั่วไปแล้วใน 1 กล่อง ขนาด 200 มิลลิลิตร ให้น้ำตาลประมาณ 22 กรัม หากอยากดื่มน้ำผลไม้ ควรดื่มเป็นน้ำผลไม้คั้นสด 100 เปอร์เซ็นต์ หรือหากอยากผสมกับโซดา ก็สามารถลองปรับสูตรเพิ่มเติมได้ แต่ต้องไม่ผสมน้ำตาลเพิ่มจึงจะดีต่อผู้ป่วย โรคเบาหวาน

5. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

หากคุณมีความดันโลหิตสูงหรือเป็นโรคแทรกซ้อนทางเส้นประสาทของผู้ป่วย โรคเบาหวาน การดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปอาจทำให้อาการแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวว่าสามารถดื่มได้หรือไม่
ผลการศึกษาปี 2012 พบว่า ผู้ชายที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเบียร์มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 เพิ่มมากขึ้น ส่วนผู้หญิงนั้นแยกย่อยไปอีกคือ หากบริโภคแอลกอฮอล์ในปริมาณที่สูงจะทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 เพิ่มขึ้น ในขณะที่หากทานเป็นไวน์หรือเบียร์กลับมีความเสี่ยงน้อยกว่า จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของไวน์แดงต่อโรคเบาหวาน แม้ว่าหลักฐานยังไม่แน่นอน แต่ไวน์แดงก็เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากช่วยต้านอนุมูลอิสระและมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ การบริโภคไวน์แดงในระดับปานกลางไม่ได้ช่วยให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือเพิ่มอันตรายต่อโรคทางเมตาบอลิซึมในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ยังคงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงโรคเบาหวานและการบริโภคแอลกอฮอล์ต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

โรคเบาหวาน กับพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ก่อโรคได้จริงหรือ?

จับสัญญาณอย่างไรว่าเราเป็น โรคเบาหวาน แล้วหรือยัง?