svasdssvasds

ชุดตรวจโควิด 19 ต้นทุนต่ำ ไอเดียนักวิจัยไทยที่ใกล้เป็นจริง

ชุดตรวจโควิด 19 ต้นทุนต่ำ ไอเดียนักวิจัยไทยที่ใกล้เป็นจริง

ข่าวดีสำหรับคนไทย เพราะทีมนักวิจัยพัฒนา ชุดตรวจโควิด 19 ได้ในต้นทุนต่ำ ทุกคนก็จะมีโอกาสเข้าถึงและตรวจหาเชื้อได้เร็วขึ้น

ผลงานวิจัยนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 'COXY-AMP ชุดตรวจโควิด 19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว' ร่วมพัฒนาโดย ทีมวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

ชุดตรวจโควิด 19 ต้นทุนต่ำ ไอเดียนักวิจัยไทยที่ใกล้เป็นจริง ใครการันตี

COXY-AMP ชุดตรวจโควิด-19 ชิ้นแรกที่ผลิตขึ้นนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกใบรับรองให้ผ่านการประเมินเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์แล้ว และยังเป็นผลงานหนึ่งเดียวจากภูมิภาคเอเชียที่เข้ารอบ 1 ใน 20 ทีมสุดท้าย ในการประกวดของมูลนิธิ XPRIZE ซึ่งเป็นมีผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลกมากกว่า 700 ทีม

ชุดตรวจโควิด 19

วิธีใช้

ผู้ใช้ชุดตรวจใส่สารพันธุกรรม RNA ที่สกัดได้ในหลอดปฏิกิริยาทดสอบ แล้วนำไปบ่มที่อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส นาน 75 นาที หากมีการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ สีของสารในหลอดปฏิกิริยาจะเปลี่ยนจาก สีม่วง เป็น สีเหลือง อัตโนมัติ รู้ผลได้ทันที

ประสิทธิภาพ

จากการทดสอบชุดตรวจนี้กับตัวอย่างเริ่มต้น 146 ตัวอย่าง พบว่ามีค่าความไว (sensitivity) 92% ความจำเพาะ (Specificity) 100% และมีความแม่นยำ (accuracy) ที่ 97% อีกทั้งยังสามารถแสดงผลได้ภายใน 75 นาที ตามที่ระบุไว้

ทั้งนี้ การเก็บตัวอย่าง การตรวจสอบและประเมินผล ต้องดำเนินการโดยผู้ที่ได้รับอนุญาตและอยู่ในความควบคุมของแพทย์ นักวิจัย หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

นักวิจัย งานวิจัยไทย ชุดตรวจโควิด 19 รออะไร

ผลงานวิจัยภายใต้ สวทช.ที่ผ่านหลักเกณฑ์การตรวจสอบแล้วจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการหรือภาคเอกชนที่สนใจนำไปผลิตชุดตรวจฯ เชิงรุกควบคุมโรคโควิด-19 หรือต่อยอดสู่การใช้งานกับโรคอุบัติใหม่อื่นๆ ต่อไป

ล่าสุด วรรณสิกา เกียรติปฐมชัย นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. ผู้พัฒนาชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็ว เผยว่า มีองค์กรเอกชนซื้อลิขสิทธิ์ไปดำเนินการผลิต โดย SPRiNG จะอัปเดตให้ทราบในตอนต่อไป

เกี่ยวกับเราอย่างไร

เนื่องจากเป็นผลงานที่ทีมวิจัยคนไทยพัฒนาขึ้นและสามารถส่งต่อให้ผู้ประกอบการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้เอง จึงช่วยชาติประหยัดได้ในแง่ 'ลดการนำเข้า' หรือหากผลิตได้มากพอก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าชุดตรวจโควิดราคาแพงจากเมืองนอก และคนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเพราะต้นทุนในการตรวจคัดกรองตัวอย่างละ 300 บาท (ถูกกว่าวิธีตรวจ RT-qPCR ที่มีต้นทุนสูงเกือบ 1,000 บาท) ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าแล็บ ค่าบุคลากรทางการแพทย์ ค่าดำเนินการอื่นๆ ซึ่งต้องนำมาคำนวณรวมเป็นต้นทุนที่แท้จริงของการตรวจหาเชื้อต่อไป