svasdssvasds

หยิบงานวิจัย MIT มาอธิบาย คลัสเตอร์ โควิด ห่าง 2 ม. หรือ 20 ม.ก็ติดได้

หยิบงานวิจัย MIT มาอธิบาย คลัสเตอร์ โควิด ห่าง 2 ม. หรือ 20 ม.ก็ติดได้

จากผลงานวิจัยของสถาบัน MIT และมหาวิทยาลัย Texas A&M มีประเด็นเกี่ยวกับ คลัสเตอร์​ โควิด ที่คุณควรรู้และต้องใส่ใจมากกว่า การเว้นระยะห่าง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในห้องแอร์ อ่านแล้วอาจมีอาการหนาวๆ ร้อนๆ

ผลงานวิจัยดังกล่าวชื่อว่า A guideline to limit indoor airborne transmission of COVID-19 มีคำอธิบายการแพร่กระจายเชื้อเอาไว้อย่างรอบด้าน ซึ่ง รักไทย บูรพ์ภาค บอกว่า งานวิจัยนี้สอดคล้องกับ คลัสเตอร์ โควิด ที่แพร่กระจายเชื้อในประเทศไทย SPRiNG จึงนำมาขยายความต่อ

5 ข้อสรุปจากงานวิจัย MIT

เพื่อให้เข้าใจง่าย รักไทยสรุปประเด็นจากงานวิจัยเอาไว้ 5 ข้อ ดังนี้

หยิบงานวิจัย MIT มาอธิบาย คลัสเตอร์ โควิด ห่าง 2 ม. หรือ 20 ม.ก็ติดได้

1. หากอยู่ในพื้นที่ปิดนานเกิน 2 ชั่วโมง การเว้นระยะห่าง 2 เมตร หรือ 20 เมตร ก็เสี่ยงติดเชื้อพอกัน โดยนัยสำคัญคือ ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลผู้ติดเชื้อ หากอยู่ร่วมกันหรือทำกิจกรรมในพื้นที่ปิด ก็เสี่ยงติดเชื้อไม่ต่างกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ สนามมวย เลานจ์ บ่อน เป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างรวดเร็ว

2. อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ง่าย จะลดความเสี่ยงได้มาก ถ้าเลือกได้ การกินข้าวตาม Street Food ดีกว่ากินข้าวในห้องแอร์ 

3. อยู่บ้านหรือคอนโดก็ตาม ควรเปิดหน้าต่างบ่อยๆ การเปิดหน้าต่างจะช่วยให้อากาศถ่ายเทอยู่เสมอ ซึ่งดีกว่าการปิดห้องแล้วใช้เครื่องฟอกอากาศเสียอีก

4. หมั่นทำความสะอาดที่พักทุก 3-4 วัน และจะดียิ่งกว่าหากทำทุกๆ 2 วัน

5. สวมหน้ากากอนามัยก็บินในประเทศได้ตามปกติ เพราะการบินในประเทศใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ปลอดภัยกว่าการนั่งรถโดยสารเป็นเวลานานๆ

ข้อสรุปเหล่านี้มายังไง

ในบ้านเรากำหนดให้เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร แต่ในสหรัฐอเมริกานั้นยึดหลัก 6-foot-rule หรือ กฎการเว้นระยะห่าง  6 ฟุต (เทียบได้กับ 180 เซนติเมตร หรือเกือบ 2 เมตรนั่นเอง)

โดยสิ่งที่ MIT สนใจคือ เมื่อเว้นระยะห่างตามข้อกำหนดและยังสวมหน้ากากอยู่ ทว่า อยู่แต่ในห้องหรือพื้นที่ปิด การแพร่กระจายเชื้อจะเป็นอย่างไร 

เนื่องจากละอองเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศออกมากับการหายใจออกของผู้ติดเชื้อ ทาง MIT จึงจำลองการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพื่อหาคำตอบว่า แนวทางความปลอดภัยหรือความเสี่ยงเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีอากาศถ่ายเทนั้นมากเพียงใด

Martin Z. Bazant ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเคมีจาก MIT จึงร่วมกับ John W.M. Bush ศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์ หาค่าการกระจายตัวของละอองเชื้อ โดยทั้ง Bazant และ Bush ตั้งข้อสังเกตว่า การเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ตามที่ CDC และ WHO บอก ไม่ได้ช่วยให้เราปลอดภัยขนาดนั้น

“กฎ 6 ฟุตไม่มีประโยชน์มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้คนสวมหน้ากาก” Bazant กล่าว และยังบอกเพิ่มว่า ไม่มีหลักฐานทางกายภาพระบุแน่ชัดว่า อากาศที่ผู้ติดเชื้อหายใจขณะสวมหน้ากาก มีแนวโน้มที่จะลอยขึ้น ลงในพื้นที่ปิดอย่างไร

แต่ที่แน่ๆ การทำกิจกรรมในพื้นที่ปิดมีผลต่อความยาวของรัศมีที่ละอองเชื้อจะตกหรือแพร่กระจายได้เป็นวงกว้าง

social distancing usa โควิด Photo by Elizabeth McDaniel on Unsplash

คลัสเตอร์ โควิด กับเหตุแห่งการแพร่กระจาย

กรณีตัวอย่าง : หากมีผู้ติดเชื้อโควิด 19 สวมหน้ากากและร้องเพลงเสียงดังในห้องปิด คนที่นั่งอยู่อีกฟากของห้อง แม้อยู่ห่างไป 20 เมตร ก็ไม่ได้ปลอดภัยกว่าคนที่นั่งห่างจากผู้ติดเชื้อ 2 เมตร

หยิบงานวิจัย MIT มาอธิบาย คลัสเตอร์ โควิด ห่าง 2 ม. หรือ 20 ม.ก็ติดได้ กราฟเปรียบเทียบรัศมีการแพร่กระจายเชื้อระหว่าง ‘การร้องเพลง - การร้องเพลงเบาๆ - การพูดคุย - การกระซิบ - การหายใจทางปาก - การหายใจทางจมูก’ | Source : pnas.org

“ยิ่งคุณใช้เวลาในห้องร่วมกับผู้ติดเชื้อนานเท่าไหร่ โอกาสรับเชื้อก็จะมากเท่านั้น และอันที่จริง ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ปิดก็มีความเสี่ยงไม่ต่างกัน” Bazant กล่าว

นี่จึงเป็นกราฟที่อธิบายได้ว่า ทำไมพื้นที่ปิดอย่าง ‘สนามมวย เลานจ์ บ่อนการพนัน’ จึงเป็นแหล่งกระจายเชื้อชั้นยอด

กล่าวโดยสรุปได้ว่า การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ได้ แต่ที่สำคัญและต้องใส่ใจไม่แพ้กันคือ การอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทนั้น ปลอดภัยกว่าการอยู่ในพื้นที่ปิด และไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม ไม่ควรใส่ใจแค่ การเว้นระยะห่าง แต่ต้องดูปัจจัยแวดล้อมที่อาจเพิ่มโอกาสสัมผัสเชื้อด้วย อาทิ

• อัตราการระบายอากาศ การถ่ายเท การกรองอากาศ ขนาดของห้อง

• อัตราการใช้หน้ากากอนามัยของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ

“การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาช่วยได้จริง และถ้าคุณจำเป็นต้องไปสถานที่ปิด เช่น ร้านอาหารห้องแอร์ ต้องถอดหน้ากากเพื่อกินข้าว ขอให้ใช้เวลาอย่างมากที่สุดในนั้น ‘ไม่เกิน 2 ชั่วโมง’ รบกวนแชร์ข้อมูลเพื่อป้องกันตัวและอยู่รอดปลอดภัยกันทุกท่านครับ” รักไทยกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : Ruktai.prurapark, CNBC, pnas.org