svasdssvasds

ตำรวจ ปอท. เปิดสถิติ CyberCrime ประจำปี 2564 พร้อมเผยแนวโน้มปีนี้!

ตำรวจ ปอท. เปิดสถิติ CyberCrime ประจำปี 2564 พร้อมเผยแนวโน้มปีนี้!

ปอท. เปิดเผยตัวเลขการรับแจ้งความจากประชาชนย้อนหลัง 4 ปีจาก CyberCrime และชี้แนวโน้มการกระทำผิดปี 2565 ยังไม่แตกต่างจากเดิม 3 อันดับแรก “หมิ่นประมาท - แฮกข้อมูล - ฉ้อโกงออนไลน์” เพียงนัยสถิติชี้ประชาชนละเลยการป้องกัน ข้อมูล การเข้าถึง

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(รอง ผบก.ปอท.) กล่าวถึงแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีใน ปี พ.ศ.2565 ว่า  ข้อมูลจากสถิติการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน บก.ปอท. ปี พ.ศ. 2561-2564 พบว่า รูปแบบของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือใช้เทคโนโลยี ในการกระทำความผิดที่มีประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

สถิติ CyberCrime 2564

โดยในปี 2564 มีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 700 ราย สาเหตุที่การด่าทอ ให้ร้ายกันในสื่อสังคมออนไลน์ ครองความเป็นอันดับ 1 มาตลอดหลายปี อาจเนื่องมาจาก ประชาชนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น การโพสต์ การแสดงความคิดเห็น การส่งต่อข้อมูลที่ทำให้ผู้อื่นเสียหายจึงมีมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้มีผู้เสียหายด้วยกันถึง 1,618,748,400 บาท

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ที่น่าสนใจ คือ มีผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกแฮก เพื่อปรับเปลี่ยน/ขโมย/ทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ พบเป็นอันดับที่ 2 โดยมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 597 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 67 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึง ประชาชนอาจขาดการระวังป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์จากแฮกเกอร์

ส่วนการหลอกขายสินค้า/บริการ พบว่ามาเป็นอันดับ 3 โดยมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 445 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 45 ล้านบาท

ซึ่งจากสถิติข้างต้น ทำให้สังเกตได้ว่า รูปแบบของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในปัจจุบัน หากไม่นับความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว พบว่าจะมีอยู่ 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ การแฮกข้อมูล และการฉ้อโกงออนไลน์ เป็นหลัก ซึ่งพบว่าอาชญากรรมใน 2 รูปแบบนี้ คนร้ายมักอาศัยโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเอื้อประโยชน์ในการกระทำความผิด หรือปกปิดตัวตนไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสืบสวนหาตัวคนร้ายได้โดยง่าย โดยใช้ช่องทางต่างๆ เช่น การปกปิดตัวตนโดยนำภาพหรือชื่อบุคคลอื่นมาสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอม หรือใช้บัญชีอวตา (Avatar) , การปกปิดที่อยู่ไอพี (ip address) , การใช้ช่องทางสกุลเงินดิจิทัล ในการรับทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือ การซื้อบัญชีธนาคารจากผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างความยุ่งยากให้กับเจ้าหน้าที่ ในการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

จากความเห็นส่วนตัวยังเห็นว่า แนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในปี 2565 ยังไม่น่าจะแตกต่างไปจากเดิม แต่คนร้ายอาจนำเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 

  • การให้ร้ายหรือระรานทางไซเบอร์ (Cyber Bullying)
  • การหลอกลวงผ่านอีเมล (email scam)
  • การแฮกเพื่อเอาข้อมูลหรือเงินผ่านการลวงให้กด ล่อให้กรอก (Phishing)
  • มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware)
  • การหลอกลวงขายสินค้า
  • การหลอกรักออนไลน์ (Romance Scam)
  • การหลอกรักลวงลงทุน (Hybrid Scam)
  • การหลอกลวงด้วยการโทรศัพท์โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์
  • การหลอกให้ลงทุนในลักษณะแชร์ออนไลน์และแชร์ลูกโซ่
  • การขูดรีดดอกเบี้ยเงินกู้และการทวงหนี้ในลักษณะผิดกฎหมายจากแก๊งแอพพลิเคชั่นเงินกู้
  • การปล่อยข่าวปลอมในโลกออนไลน์เพื่อหวังผลด้านต่าง ๆ (Fake News)

ประโยคที่ว่า “อาชญากรรมมักทิ้งร่องรอย” ยังคงใช้ได้กับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนติดตามจับกุมคนร้าย ที่อาจพัฒนาตัวเองจากอาชญากรภาคพื้นดิน (On Ground) มาเป็นอาชญากรบนอากาศ (Online) โดยตำรวจต้องมีการพัฒนาทักษะ ความรู้ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทั้งนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการด้านต่างๆ ในการสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบข้อมูลในการสืบสวนสอบสวน

โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดในลักษณะดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้ ทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยีด้วย