svasdssvasds

เบื้องหลังที่มาของชื่อ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ แห่งแรกของไทย

เบื้องหลังที่มาของชื่อ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ แห่งแรกของไทย

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ แหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ใจกลางเมือง แห่งแรกของไทยที่มีเครื่องฉายดาวเปิดให้เข้าชม ได้เปิดเผยที่มาที่ไปของชื่อ ที่ย้อนไปในยุคเริ่มต้นเมื่อตอนปี 2507 ได้เห็นถึงลูกเล่นในการใช้และความสวยงามของภาษาไทยจากเพียงการตั้งชื่อ

เพจเฟสบุ๊คของ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ได้ออกมาเผยเบื้องหลังที่มาชื่อ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ แฝงเบื้องหลังและประวัติศาสตร์ โดยทางเพจได้ชี้แจ้งไว้ว่า 

 

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ Bangkok Planetarium นั้นมาจากคำว่า planet หมายถึง ดาวเคราะห์ / -arium หมายถึง สถานที่ที่ประกอบไปด้วย…) แต่ในห้องฉายดาวที่เป็น ไฮไลท์สำคัญ กลับแสดงดาวฤกษ์และวัตถุบนท้องฟ้าอื่น ๆ (อ้าวยังไงกัน) 


ซึ่งมีที่มาจาก คำว่า "planetarium" แต่ก่อนเป็นคำที่ใช้เรียก "แบบจำลอง (model)" ที่แสดงการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ ซึ่งแบบจำลองดังกล่าวมีกลไกและฟันเฟืองคอยขับเคลื่อนทรงกลมเล็ก ๆ ให้มีตำแหน่งสอดคล้องกับตำแหน่งดาวเคราะห์บนท้องฟ้าจริง แบบจำลองนี้มีการเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "orrery" และถูกใช้เป็นสื่อการสอนดาราศาสตร์มาเป็นระยะเวลานาน


ต่อมา เมื่อมีท้องฟ้าจำลองเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1923 เพื่อใช้สอนดาราศาสตร์ คำว่า "planetarium" จึงถูกนำมาใช้เรียกท้องฟ้าจำลองด้วย แม้ว่าท้องฟ้าจำลองจะสามารถแสดงดาวฤกษ์และวัตถุบนท้องฟ้าอื่น ๆ ได้ก็ตาม ดังนั้นห้องที่มีการสอนดาราศาสตร์ด้วยการฉายภาพดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ และวัตถุบนท้องฟ้าต่าง ๆ จึงถูกเรียกว่า “planetarium””

โดยก่อนที่จะมาสรุปกันที่ชื่อ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ นั้นได้ชื่อที่เข้ารอบสุดท้าย 17 ชื่อด้วยกันที่เสนอขึ้นมาให้เลือกเพื่อตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ ประกอบด้วย 

 

1. ดาราศึกษาสถาน

2. จรจบฟ้า

3. ฟ้านฤมิตร

4. บ้านดารา

5. อาคารน่านฟ้า

6. เพดานฟ้า

7. จรจักรวาฬ (สะกดแบบสมัยก่อน)

8. เวหานิมิตร

9. ห้องเวหา

10. เวหาสน์จำรูญ

11. ดาราทัศนา

12. ดาราทัศนสถาน

13. เวหาทัศนาจร

14. เพดานประดับดาว

15. เวหาทัศนศึกษาสถาน

16. ห้องจักรวาฬ (สะกดแบบสมัยก่อน)

17. ท้องฟ้าจำลอง


โดยสุดท้ายมีมติให้ชื่อ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เป็นชื่อเฉพาะที่ไม่มี มหานคร ไม่มีไปยาลน้อยต่อท้ายและไม่เว้นวรรค นะจ๊ะ


ท้องฟ้าจำลองกรงุเทพ เปิดบริการมาครั้งแรก วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2507 และปิดปรับปรุงยกเครื่องใหม่ให้ทันสมัยไฉไลขึ้นด้วยการเปลี่ยนเครื่องฉายในห้องฉายดาวเดิมที่ชื่อว่า 'มาร์ค โฟร์ (Mark IV)' ที่ใช้งานอย่างต่อเนื่องมากว่า 56 ปี เป็นเครื่องฉายระบบดิจิทัล เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา 

 

ข้อดีของระบบเครื่องฉายใหม่นี้ ช่วยให้ซูมดูดวงดาวได้ใกล้ๆ ตาชิดมากขึ้น มองเข้าไปในวงแหวนดาวเสาร์แบบเต็มตา หรือ กระทั่งขยับหมุนดวงดาวต่างๆ ได้อีกด้วย (เอาสิ) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา และใช้กันแพร่หลายในหลายประเทศ เช่น ในโรงละคร หรือ ท้องฟ้าจำลองขนาดใหญ่ 

 

ช่วงสุดสัปดาห์นี้ใครอยากหากิจกรรมทำร่วมกันกับคนครอบครัวหรือพาคนรักไปเดท แทนการเดินห้าง สามารถจูงมือกันไปที่ท้องฟ้าจำลองแห่งนี้ เปิดรอบการแสดง ดังนี้ 

ศ. 11:00 13:00 14:00 15:00

ส.-อา. 10:00 11:00 13:00 14:00 15:00

ค่าบัตร เด็ก 20 บ. ผู้ใหญ่ 30 บ.

ซื้อบัตรได้ที่หน้าเคาน์เตอร์ของวันที่ต้องการเข้าชม และซื้อรอบใดก็ได้ในวันนั้น

 

เดินทางสะดวกสามารถเดินต่อจาก รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีเอกมัย ไม่ถึง 5 นาทีก็ถึง ใครที่ขับรถไปอาจจะหาที่จอดยากสักหน่อยนะ 

 

ที่มา

1 2