svasdssvasds

กินหมูดิบ เสี่ยงโรคไข้หูดับ จริงหรือ? อาการหูดับเป็นอย่างไร

กินหมูดิบ เสี่ยงโรคไข้หูดับ จริงหรือ? อาการหูดับเป็นอย่างไร

หลายคนอาจยังไม่เชื่อว่าการทานหมูดิบๆสุกๆ อันตรายต่อร่างกายมากจนอาจเป็นโรคไข้หูดับ เพราะยังคงมีเมนูพื้นบ้านอย่างลาบหลู้ ที่ยังคงทานหมูดิบกันอย่างไม่เกรงกลัวอันตราย วันนี้เรามาหาคำตอบกันว่ามันเสี่ยงอย่างไร แม้กระทั่งสัมผัสหมูก็มีโอกาสติดเชื้อได้

ทำความรู้จักโรค “ไข้หูดับ” แบบง่ายๆ 

โรคไข้หูดับ เชื้อนี้จะอยู่ในระบบทางเดินหายใจของหมู และเลือดหมู สามารถติดได้สองทาง
1.จากการรับประทานหมูหรือเลือดหมูแบบดิบๆ
2.การสัมผัสเนื้อหมูที่ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อ เครื่องใน ซึ่งเชื้อโรคจะสามารถเข้าได้ทางบาดแผล หรือรอยขีดข่วนเล็กๆตามร่างกายที่เราอาจไม่รู้ตัว

หลังจากเราได้รับเชื้อโรค 3-5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้
มีไข้สูง ปวดหัวศีรษะอย่างรุนแรง เวียนหัวจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หากคุณเคยมีความเสี่ยงเกี่ยวกับเชื้อโรคและมีอาการเหล่านี้ ต้องพบแพทย์ทันที 

กลุ่มคนประเภทไหนต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหากติดโรคหูดับ จะมีอาการรุนแรงมาก 
ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

วิธีป้องกันโรคไข้หูดับ คือ 
1.บริโภคอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน หากรับประทานอาหารปิ้งย่าง แยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน

 2.เลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ 

3.ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ขณะทำงานควรสวมรองเท้าบู๊ทยางและสวมถุงมือ หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง 
 

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นการทานชาบู ปิ้งย่าง หรืออาหารประเภทหมูที่อาจไม่สุก หรือกึ่งสุกกึ่งดิบควรหลีกเลี่ยงไปก่อน หากซื้อจากร้านอาหารให้ใช้การอุ่นด้วยเตาหรือไมโครเวฟอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ เพราะอันตรายจากเชื้อโรคไม่ใช่เรื่องเล่นๆอีกต่อไปแล้ว
 

related