svasdssvasds

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้ชื่นชอบดาราศาสตร์

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้ชื่นชอบดาราศาสตร์

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดของไทย การท่องเที่ยงเชิงดาราศาสตร์ หนีจากมลภาวะแสงในเมือง หลบไปนอนนับดาวที่ 5 อุทยานแห่งชาติ ห้วยน้ำดัง, ผาแต้ม, ป่าหินงาม, ภูแลนคา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

จะมีอะไรโรแมนติกไปกว่าการมีคนมาชวนนอนนับดาวบนท้องฟ้าด้วยกัน แต่คนเมืองอาจไม่มีเวลาให้หยุดพักและดื่มด่ำกับความสวยงามของธรรมชาติมากนักเพราะ ฝุ่น ควัน มลภาวะทางแสง ทำให้บดบังทัศนียภาพความสวยงามของท้องฟ้าไปจนหมด 

ยิ่งเราเข้าสู่ยุคสังคมดิจิทัลมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งหาโอกาสเงยหน้ามองกันเองก็ว่ายากแล้ว จะเอนตัวมองดาวนี่ยิ่งน้อยลงไปอีก ถือเป็นข่าวดีที่จะทางภาครัฐและวงการดาราศาสตร์ของไทย ร่วมมือกันสงวนพื้นที่เพื่อทำเป็นการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ อีกทั้งยังเชิญชวนภาคประชาชนผู้ที่สนใจยื่นเสนอชื่อเพื่อเข้ารับสมัครเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดด้วยตัวเอง 

วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดจำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย 

  1. อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง
  2. อุทยานแห่งชาติผาแต้ม
  3. อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม
  4. อุทยานแห่งชาติภูแลนคา
  5. และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

เข้ารับโล่พร้อมใบประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2565 จากนายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย ณ ห้องประชุมจารุวัสตร์ ชั้น 10 อาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรุงเทพฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ร่วมกันผลักดันเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย (Dark Sky in Thailand) ให้เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ของนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์และเป็นการรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงมลภาวะทางแสง ซึ่งนอกจากอุทยานท้องฟ้ามืดทั้ง 5 แห่งแล้ว ยังมีชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล และเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง อีกจำนวน 7 แห่ง รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 12 แห่ง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย 

ปักหมุด 12 เขตอนุรักษ์ท้องฟ้าของไทย ณ ปัจจุบัน (12 ก.ค.65)

ทั้งนี้ สถานที่ที่ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในแต่ละรูปแบบ จะได้รับการรับรองจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ว่าเป็น “แหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ในประเทศไทย” ที่มีความพร้อมตามหลักเกณฑ์ เช่น คุณภาพท้องฟ้า การบริหารจัดการแสงสว่าง และความเหมาะสมของพื้นที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ อีกทั้งสถานที่ที่ขึ้นทะเบียนจะได้รับการสนับสนุนข้อมูล สื่อดาราศาสตร์ และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ ให้ประชาชนและผู้สนใจรับทราบอย่างทั่วถึง

โดยมีเกณฑ์พิจารณา “การวัดค่าคุณภาพท้องฟ้า” มีดังนี้ 

ค่าคุณภาพท้องฟ้า มีหน่วยเป็น แมกนิจูดต่อพื้นที่ (magnitude/arcsec^2 : mpsas) ยิ่งมีค่าคุณภาพท้องฟ้าที่มาก ท้องฟ้าจะมืดและสามารถสังเกตเห็นดวงดาวที่มีความสว่างน้อยๆได้ดี เช่น ที่ค่าคุณภาพท้องฟ้า 21 mpsas ท้องฟ้าจะปรากฏดาวที่มีความสว่างน้อยให้เห็นเยอะกว่า ที่ค่า 20 mpsas มากกว่า 2,000 ดวง สามารถสังเกตเห็น กาแล็กซี กระจุกดาว ได้ชัดเจน รวมถึงส่งผลต่อภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ให้มีความสวยงาม และคมชัดมากขึ้น

การวัดค่าคุณภาพท้องฟ้าหลักๆ มีด้วยกัน 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1 การตรวจวัดด้วยอุปกรณ์ Sky Quality Meter (SQM) เป็นอุปกรณ์วัดแสงของท้องฟ้าที่ตกกระทบบนชิพเซนเซอร์ และวัดจำนวนโฟตอนเทียบกับค่ามาตรฐาน ทำให้การวัดค่าด้วยอุปกรณ์มีความแม่นยำและสะดวกต่อการใช้งานอย่างมาก 

วิธีที่ 2 คือ การสังเกตดาวฤกษ์ที่สว่างน้อยที่สุดด้วยตาเปล่า (Naked-Eye Magnitude limited: NEML) เป็นการวัดค่าคุณภาพของท้องฟ้า จากค่าอันดับความสว่างของดาวฤกษ์ที่สว่างน้อยสุดที่ผู้สังเกตสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และแปลงค่าอันดับความสว่างของดาวฤกษ์เทียบกับอุปกรณ์ SQM อีกครั้งหนึ่ง วิธีการนี้นิยมใช้สำหรับประมาณค่าคุณภาพท้องฟ้าเบื้องต้นเท่านั้น

สมาคมอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดสากล (International darksky association: IDA) ระบุว่า พื้นที่ที่มีค่าคุณภาพท้องฟ้า มากกว่า 20 แมกนิจูด เป็นสถานที่ที่ท้องฟ้ามีความมืดเหมาะสมต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ห่างไกลจากมลภาวะทางแสง ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ สัตว์ป่า ระบบนิเวศ และการสิ้นเปลืองของพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันมีสถานที่กว่า 130 แห่งทั่วโลก

รู้แบบนี้แล้วเล็งวันฟ้าโปร่งปลอดฝนจัดทริปกับเพื่อนหรือจูงมือคนรักขับรถไปตามรายชื่อ หามุมสงบวางมือถือลง เอนหลังบนหญ้านอนดับดาวที่กว้างสุดขอบฟ้านี้ด้วยกัน ฟินๆ หลับฝันดีแน่นอน

ที่มา
1 2

ขอบคุณภาพจาก
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม