svasdssvasds

ชวนมาดูเมนู อาหารกลางวันเด็กนักเรียนต่างประเทศ หน้าตาดีมีโภชนาการ

ชวนมาดูเมนู อาหารกลางวันเด็กนักเรียนต่างประเทศ หน้าตาดีมีโภชนาการ

เมนู อาหารกลางวันเด็กนักเรียนต่างประเทศ มาตรฐานเพื่อเด็กๆ ได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบหมู่ สมวัยแห่งการเติบโต เทียบกับเด็กไทยมื้อละ 21 บาท

จากกระแสดราม่าในโซเชียลมีเดีย ที่มีการแชร์ภาพ มื้ออาหารกลางวันเด็กนักเรียน บนหน้าเพจ อยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทริน์ part 3 จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามถึงปริมาณ ความเหมาะทางโภชนาการ และงบประมาณสำหรับให้โรงเรียนนำไปทำอาหารสำหรับเด็กๆ นี้คำนึงถึงค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันแล้วหรือยัง ก็ยังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันต่อไป 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งอาหารกลางวันเด็ก เป็นมื้อระหว่างวันสำหรับเด็กๆ ที่ต้องจัดให้มีคุณภาพเพียงพอกับพลังงานและสารอาหารที่ต้องใช้สำหรับเด็กกำลังโตในแต่ละช่วงวัย โดยปัจจุบัน โครงการอาหารกลางวันของนักเรียน ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้มีการปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนเป็นอัตรา 21 บาท/คน/วัน เพิ่มขึ้น 5% จาก วันละ 20 บาท/คน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 64

ในวันนี้จึงอยากชวนคุณผู้อ่านมาส่องหน้าตามื้ออาหารกลางวันเด็กนักเรียนต่างประเทศกันดูบ้างว่า เค้ากินเมนูอะไรกันและจะชวนน้ำลายไหลกันขนาดไหน ต้องตามมาดู

สหรัฐอเมริกา 
อาหารกลางวันของประเทศมหาอำนาจแต่กลับโดนวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยๆ มีข้อมูลออกมาว่า หนึ่งในสามของนักเรียนมัธยมต้นที่กินอาหารกลางวันที่โรงเรียนเป็นประจำนั้นมีน้ำหนักเกิน หลายๆ โรงเรียนจึงได้มีการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น จัดเตรียมให้มีความเหมาะสมทางโภชนาการมากขึ้น ด้วยส่วนประกอบจากเนื้อสัตว์ ขนมปังโฮลเกรน นม และผลไม้กระป๋อง

ฟินแลนด์
นักเรียนรับประทานอาหารฟรี ฟินแลนด์โมเดลระบุว่า ค่าอาหารกลางวันของโรงเรียนมีค่าใช้จ่าย 8% ของค่าเล่าเรียนของนักเรียนแต่ละคน อาหารแต่ละมื้อจะต้องมีผักสดและปรุงสุกคลุมจานไว้ครึ่งจาน มีปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และผลเบอร์รี่หรือผลไม้เป็นของหวาน   

ฝรั่งเศส
โครงการอาหารกลางวันแต่ละโรงเรียนจะขึ้นอยู่กับทุนจากเทศบาลในแต่ละท้องถิ่น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 ดอลลาร์ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 100 บาท) ซึ่งถ้าอยู่ในเขตที่มีรายได้ดี เช่น ปารีส พบว่าค่าอาหารกลางวันอาจมีราคาถึง 7 ดอลลาร์ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 250 บาท) และยังมีเงินสนับสนุนให้กับครอบครัวที่มีรายได้น้อย โดยอาหารฟูลอิ่มๆ สามและสี่คอร์สมีให้เพื่อเด็กประมาณ 6 ล้านคนในแต่ละวัน

สำหรับในเด็กประถมและมัธยมต้นจะมีให้บริการแบบเซตเมนู ส่วนในมัธยมปลายจะมีเมนูให้เลือกประมาณ 2-3 อย่าง

เกาหลีใต้
มื้ออาหารกลางวันของเด็กนักเรียนเกาหลีใต้หน้าตาและคุณภาพไม่แพ้ระดับภัตาคาร ซึ่งมีทั้ง ข้าว เนื้อวัว สลัด และกิมจิ (แม้ว่าถาดโลหะจะจิ๋วไปหน่อย)

บราซิล
โรงเรียนในบราซิลมีโครงการอาหารกลางวันฟรีที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก สำหรับเด็กนักเรียน 42 ล้านคน ทั้งนี้รัฐบาลกำหนดให้ 30% ของส่วนผสมสำหรับอาหารกลางวันต้องมาจากฟาร์มของครอบครัวในท้องถิ่นซึ่งช่วยเศรษฐกิจและภาคเกษรตรถึงกว่า 4 ล้านคนและลดปัญหาภาวะการขาดสารอาหารในเด็ก

ส่งเสริมให้เด็กอยากใช้เวลาในโรงเรียนมากขึ้นเพราะอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณภาพมันน่าเย้ายวนกว่าอยู่บ้านเสียอีก

ญี่ปุ่น 
อาหารกลางวันเด็ก ที่โรงเรียนในญี่ปุ่นมักจะเป็นอาหารสไตล์โฮมเมด ซึ่งไม่นิยมใช้อาหารทอดสำเร็จรูปแบบในบางประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ โรงเรียนส่วนใหญ่จะจัดหาอาหารโดยคัดเลือกจากฟาร์มในท้องถิ่น โดยจะมีรูปแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ประกอบด้วย ข้าว ปลาและซุป มีความย้อนยุค ซึ่งคงรูปแบบมากว่าสี่ทศวรรษ

ทั้งยังมีการสอนประสบการณ์ให้กับเด็กๆ ผ่านช่วงเวลาอาหารกลางวันด้วยการให้เด็กๆ จัดเวรเพื่อเสิร์ฟบริการเพื่อนร่วมชั้นคนอื่นๆ โดยช่วงเวลาอาหารกลางวันทั่วไปแล้วจะกินความยาวประมาณ 45 นาที ซึ่งจะสอดแทรกการสอนเกี่ยวกับชุมชนและโภชนาการไปด้วย

อังกฤษ
หลังจากปรับกฎหมายในปี 2015 ทำให้เด็กๆ ในอังกฤษมีมื้ออาหารกลางวันที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น เพราะมีการกำหนดให้ต้องมีผักหรือสลัดรวมอยู่ด้วย ส่วนอาหารประเภททอดหรือขนมอบมีได้ไม่เกินสองส่วนในแต่ละสัปดาห์

โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากเชฟชื่อดัง เจมี่ โอลิเวอร์ ที่ตั้งคำถามและขับเคลื่อนให้ครอบครัวหรือชุมชนที่มีรายได้น้อยในประเทศได้มีอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนที่มีคุณค่าทางโภชนาการเทียบกับประเทศอื่นๆ

จีน
ด้วยความที่เป็นประเทศขนาดใหญ่จึงทำให้มีโรงเรียนที่เสิร์ฟอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ และมีบางโรงเรียนที่เด็กๆ ต้องหิ้วอาหารมาเองโดยอาหารกลางวันจะเป็นอาหารจีนแบบดั้งเดิมที่ใช้ข้าวขาว ปลา และผักในท้องถิ่นปรุงเป็นมื้ออาหารให้กับเด็กนักเรียน



เรียบเรียงจาก businessinsider ranker

related