svasdssvasds

ไวรัส RSV ข่าวล่าสุด พบมีความรุนแรงกว่าโควิดถ้าเทียบในเด็กเล็ก

ไวรัส RSV เป็นโรคที่เป็นสาเหตุสำคัญในการเจ็บป่วยไม่สบายในเด็กเป็นอันดับที่ 1 คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องตระหนักแต่ไม่ควรตระหนกมากจนเกินไป ฉะนั้นผู้ปกครองจึงควรทำความรู้จักกับโรคนี้ให้ดี เพื่อดูแลสุขอนามัยของเด็กๆ เลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ป้องกันการเกิดโรค

ไวรัส RSV ข่าวล่าสุด พบมีความรุนแรงกว่าโควิดถ้าเทียบในเด็กเล็ก

ไวรัส RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus ภาพรวมขององค์การอนามัยโลกในแต่ละปีจะมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เจ็บป่วยไม่สบายด้วยไวรัสอาร์เอสวีเกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ หลอดลมฝอยอักเสบ หรือปอดอักเสบ ปีละประมาณ 33 ล้านคน ในจำนวนนี้เด็กๆ ต้องนอนโรงพยาบาลมากกว่าปีละ 3 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณปีละมากกว่าหนึ่งแสนราย 

ข้อมูลโรคอาร์เอสวีจากคลังข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2560-2563 พบว่า มักพบผู้ป่วยโรคนี้ในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี จังหวัดที่พบจำนวนผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา สุรินทร์ ขอนแก่น มหาสารคาม และปัตตานี และจากข้อมูลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ของกรมควบคุมโรค ในช่วงตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2563 ถึงปัจจุบัน พบรายงานผู้ติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวีในหลายพื้นที่ของไทย ได้แก่ อุดรธานี อุบลราชธานี และชัยภูมิ รวมถึงพบผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นเด็กหญิงอายุ 10 เดือน ที่จังหวัดชัยภูมิ

รศ. พญ. วนัทปรียา พงษ์สามารถ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไวรัสอาร์เอสวีไม่ได้อยู่ในการเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย ดังนั้นเราอาจจะไม่ได้มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าเด็กในประเทศไทยมีเด็กที่ป่วยจากไวรัส RSV จำนวนเท่าไหร่ แต่สำหรับในโรงพยาบาลศิริราช เราจะมีการเก็บข้อมูลสำหรับเด็กที่นอนโรงพยาบาลด้วยเรื่องหลอดลมฝอยอักเสบ หรือว่าปอดอักเสบ แล้วตรวจดูว่าเราเจอไวรัสชนิดใดบ้าง ต้องบอกว่าช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ เด็กๆ เจ็บป่วยไม่สบายกันเยอะ ประมาณเดือนกันยายน ตรวจออกมาพบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดปอดอักเสบประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ตรวจออกมาเป็นเชื้อไวรัส RSV แต่ในเดือนที่แล้วก็คือ เดือนตุลาคม ตรวจออกมาเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นไวรัส RSV เพราะฉะนั้นตามข้อมูลจะเป็นช่วงพีคของเชื้อไวรัส RSV คือ เดือนกันยายน และเดือนตุลาคม

ความรุนแรงของโรค

สำหรับโควิด 19 เป็นที่รู้กันว่าคนไข้เด็กจะเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อน้อย แล้วก็ไม่ค่อยแสดงอาการ และอาการส่วนใหญ่ก็ไม่รุนแรง เพราะฉะนั้นโควิด 19 ในคนไข้เด็กจะมีอาการรุนแรง มีออกซิเจนต่ำประมาณไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่สำหรับไวรัสอาร์เอสวีส่วนใหญ่จะเป็นในเด็กเล็กๆ ภายในอายุ 2 ขวบ เด็กเกือบทุกคนจะเคยติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีทั้งหมด ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา

สำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีจะมีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ที่จะมีอาการค่อนข้างรุนแรง คือ ลงไปติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้เกิดหลอดลมฝอยอักเสบ หรือปอดอักเสบ เพราะฉะนั้นถ้าเทียบกับโควิดเฉพาะในผู้ป่วยเด็กแล้ว RSV ก็อาจมีความรุนแรงมากกว่าโควิด แต่สำหรับผู้ใหญ่ ในทางตรงกันข้ามจะเจอ RSV น้อย เพราะส่วนใหญ่จะเคยติดมาแล้ว เป็นซ้ำได้ แต่ความรุนแรงจะน้อยลง ถ้าเทียบแล้วโควิด 19 ในผู้ใหญ่จะมีความรุนแรงมากกว่า 

ไวรัส RSV ไม่ใช่โรคที่มีอัตราการเสียชีวิตเยอะ การศึกษาในประเทศไทยเคยมีทำออกมาแล้วว่า เด็กที่นอนโรงพยาบาลหรือว่าเจ็บป่วยด้วยไวรัสอาร์เอสวีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงหรือคนที่มีอาการรุนแรง เช่น เกิดการหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ อาจมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น และอาจจะเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ในบางรายงานด้วยซ้ำ ในขณะที่โควิด 19 แทบไม่ค่อยมีรายงานการเสียชีวิตในผู้ป่วยเด็กเลย น้อยกว่า 0.1 เปอร์เซ็นต์ ถ้าดูสำหรับผู้ป่วยเด็กแล้ว RSV ก็จะดูรุนแรงกว่า 

ไวรัสอาร์เอสวีไม่ใช่ไวรัสใหม่ มีรายงานการค้นพบตั้งแต่ปี 1956 หลายสิบปีมาแล้ว แต่อาจจะเป็นที่พูดถึงกันเยอะในช่วงไม่นานมานี้ เพราะการตรวจทำได้มากขึ้น ทำได้ง่ายขึ้น เลยทำให้มีคนตระหนักกันมากขึ้น ถ้าเทียบแล้วอาจจะมีความรุนแรงคล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่ สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เกิดหลอดลมอักเสบ เกิดปอดอักเสบในเด็กๆ และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 

ความแตกต่างของ RSV กับ ไข้หวัดใหญ่ 

1. ช่วงเวลาการระบาดของไทยเรา ไข้หวัดใหญ่จะเจอประมาณช่วงสิงหาคม-กันยายน แต่พอปลายฝนต้นหนาวช่วง กันยายน-ตุลาคม จะเป็นช่วงเวลาของ RSV ส่วนไข้หวัดใหญ่จะเริ่มเบาลง พออาร์เอสวีหาย เข้าหน้าหนาวเต็มๆ ไข้หวัดใหญ่ก็จะกลับมาระบาดใหญ่อีกรอบ สังเกตว่าฤดูกาลเหมือนทับซ้อนแต่ก็มีความต่างกันอยู่เช่นกัน 

2. เรื่องอายุจะต่างกัน โดยมากไวรัสอาร์เอสวีมักเป็นในเด็กเล็ก แต่ไข้หวัดใหญ่สามารถเจอได้ในทุกอายุ 

3. เชื้อไวรัสอาร์เอสวีจะเป็นอาการในระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก มีอาการไข้ ไอ น้ำมูก แล้วถ้าเกิดอาการรุนแรง คือลงหลอดลมทำให้เด็กมีหลอดลมตีบ หายใจสียงดังวี้ดๆ หรือว่าเกิดปอดอักเสบ คล้ายเด็กที่เป็นโรคหอบหืด หายใจดังฮืดๆ หายใจลำบาก นี่เป็นลักษณะที่สำคัญของไวรัส RSV

ขณะที่ไข้หวัดใหญ่จะมีไข้สูงเฉียบพลัน แล้วก็มีอาการน้ำมูก ไอ แต่จะมีอาการนอกระบบทางเดินหายใจด้วย เพราะว่าอาจจะส่วนหนึ่งเป็นในผู้ใหญ่และเด็กโตเขาอาจจะบอกได้ว่าปวดศีรษะ มีปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บางคนจะมีอาการของทางเดินอาหาร คือมีคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียได้ และไข้หวัดใหญ่ต่อให้ลงปอดก็จะไม่ค่อยมีเสียงหายใจดังวี้ด

ไวรัส RSV

ผู้ปกครองต้องสังเกตอย่างไรว่าลูกเป็น RSV หรือเปล่า

- เช็กการระบาดวิทยา ว่าขณะนี้ในชุมชน หรือในสังคมที่เราอยู่ หรือในเดย์แคร์ เนอสเซอรีที่เด็กๆ ไปมีเชื้ออะไรระบาด นี่คือสิ่งที่ผู้ปกครองควรต้องแจ้งให้ทางโรงเรียนหรือเนอสเซอรีทราบ เพราะจะเป็นประโยชน์แก่เด็กคนอื่นๆ ที่เจ็บป่วยไม่สบายได้

- เด็กเล็ก ถ้ามีอาการเหมือนหวัดมีน้ำมูกทั่วไปอาจจะไม่ค่อยกังวลมาก แต่ถ้าเมื่อไหร่เด็กเริ่มมีอาการที่ลงติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง อันนี้ให้ระวังเพราะอาจติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี

- เด็กอาจจะมีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็ว หรือว่าหายใจมีหน้าอกบุ๋ม มีจมูกบาน หรือบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ได้ยินเสียงหายใจดังวี้ดๆ ถ้าเราเอาหูแนบที่หน้าอกบางครั้งก็จะได้ยิน ให้สงสัยไว้ก่อนว่าจะเป็นไวรัสอาร์เอสวีได้ 

หากพบอาการเข้าข่ายที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อความมั่นใจแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แนะนำให้มาโรงพยาบาล เพราะหลายคนอาจจะจำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ต้องทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการว่าติดเชื้ออะไรกันแน่ระหว่าง ไวรัส RSV หรือ ไข้หวัดใหญ่ โดยการใช้สิ่งส่งตรวจจากทางเดินหายใจ

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสพบอาการรุนแรงได้

ไวรัสอาร์เอสวีในเด็ก ส่วนใหญ่ก็จะสามารถหายได้เป็นปกติใน 1-2 สัปดาห์ แต่อาจจะมีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีความเสี่ยงในการเป็น RSV แล้วเกิดอาการที่รุนแรงได้

คำว่าอาการรุนแรงในที่นี้คือ การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เกิดปอดอักเสบแบบรุนแรง จนทำให้เกิดการหายใจล้มเหลว ไม่สามารถหายใจได้เอง จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เมื่อเกิดภาวะออกซิเจนต่ำ ปอดทำงานได้ไม่ดี อาจจะมีผลต่ออวัยวะอื่นๆ ในร่างกายด้วย 

ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเกิด RSV ที่รุนแรง มีดังนี้

1.ในเด็กเล็ก โดยเฉพาะในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ยิ่งคลอดก่อน 29 สัปดาห์ จะมีอาร์เอสวีที่รุนแรงได้มาก 

2.ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เป็นโรคปอดเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ถ้าติด ไวรัส RSV ก็จะรุนแรงได้

3.ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่ต้องได้ยาสเตียรอยด์กดภูมิคุ้มกัน และผู้สูงอายุซึ่งอาจจะเคยติดมาก่อนแล้วตอนเด็กๆ แต่เนื่องจากมันมีหลายสายพันธุ์จะติดซ้ำได้ ผู้สูงอายุก็เป็นกลุ่มเสี่ยง 

อายุเด็กที่เสี่ยงเป็น RSV อยู่ในช่วงวัยใด

รศ. พญ. วนัทปรียา กล่าวว่า RSV ในเด็กเล็กพบเจอได้เยอะที่สุดก็คือ เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ มีการศึกษาออกมาแล้วว่า เด็กภายในอายุ 2 ขวบ จะเคยติดเชื้อไวรัส RSV เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเป็นซ้ำได้ไหม เป็นซ้ำได้ มันมีหลายสายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่เวลาเป็นครั้งหลังๆ จะไม่ค่อยมีอาการรุนแรงแล้ว ถ้าเป็นเด็กเล็กเป็น RSV โอกาสที่จะลงปอดหรือว่าหลอดลมฝอยจะเยอะ พอเป็นเด็กโตเป็น RSV ได้ แต่อาจจะมีอาการเป็นไข้หวัดธรรมดา อันนี้ก็จะไม่ต้องกังวลมาก อาการก็จะไม่รุนแรง แยกไม่ได้กับไข้หวัดอื่นๆ แต่อาจจะเอาไปให้น้องเล็กๆ ที่บ้าน อย่างหมอเองมีคนไข้เด็กอายุ 1 เดือน ติดอาร์เอสวีจากพี่คนโตอายุ 3 ขวบ น้องก็เลยต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะพี่อาจจะอาการไม่รุนแรง ดังนั้น การป้องกันอย่างการล้างมือจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

วัคซีนโควิด 19 กับเหตุผลที่แอสตร้าเซนเนก้าเลือกไทยเป็นฐานการผลิต

การรักษา 

วัคซีน RSV มี 2 ชนิด ดังนี้

1. วัคซีนตัวนี้เป็นเหมือนวัคซีนทั่วๆ ไป ที่เราฉีดในเด็กแล้วไปกระตุ้นให้เด็กหรือผู้ป่วยไปสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นๆ วัคซีนที่ป้องกัน RSV จึงอยู่ในช่วงการทดลองวิจัย ยังไม่ได้ผลสำเร็จ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระยะต้นๆ เลยด้วยซ้ำ ที่พัฒนามาไกลยังมีไม่มาก เป็นความหวังที่ยังต้องทำวิจัยต่อไป

2. วัคซีนอีกชนิดหนึ่งของ ไวรัส RSV นี้ เป็นการฉีดภูมิต้านทานที่มีความจำเพาะต่อไวรัสอาร์เอสวี เหมือนให้ภูมิต่ออาร์เอสวีเข้าไปเลย ตัวนี้มีขึ้นทะเบียนและมีใช้แล้วในต่างประเทศ ทั้งใน อเมริกา แคนาดา เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูกาลของไวรัสอาร์เอสวี เขาจะสามารถให้วัคซีนชนิดนี้ซึ่งเป็นภูมิต้านทานต่อ RSV ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กคลอดก่อน 29 สัปดาห์ ที่อายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กที่มีโรคหัวใจ เด็กที่มีโรคปอดเรื้อรัง มาฉีดวัคซีนตัวนี้เป็นรายเดือน เดือนละเข็ม ในหนึ่งฤดูกาลของ RSV ก็จะฉีดประมาณ 3-5 เข็ม

ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะต้องมาฉีดรายเดือนเข้ากล้ามเนื้อ 3-5 ครั้ง และราคาก็สูงมาก สรุปหนึ่งฤดูกาลฉีด 3-5 เข็ม สนนราคาจะตกอยู่ที่ประมาณ 150,000-200,000 บาท และวัคซีนชนิดนี้ยังไม่มีในประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทย แนะนำให้ผู้ปกครองนำบุตรไปฉีดวัคซีนตามความจำเป็นของเด็กๆ รวมทั้งส่งเสริมให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ อาจจะมีบางส่วนที่ดูใกล้เคียงกัน อย่างน้อยไข้หวัดใหญ่ยังป้องกันได้ แต่ RSV ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน” รศ. พญ. วนัทปรียา กล่าว

ยาต้านไวรัส RSV มีบางตัวที่มีข้อมูลในหลอดทดลองว่าใช้ได้ผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ แต่เมื่อเอามาให้ในเด็กแล้วยังพบว่า ไม่ช่วยในการลดความรุนแรงของโรค หรือว่าลดความเจ็บป่วยเข้าไอซียู เพราะฉะนั้นก็เลยยังไม่มียาต้านไวรัสที่เป็นมาตรฐานในการรักษา 

ยาไรบาวิริน ได้รับการขึ้นทะเบียนในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ได้ใช้ในเด็กที่เจ็บป่วย RSV เป็นประจำทุกราย เพราะข้อมูลออกมาพบว่าไม่ช่วยลดความรุนแรงในเด็กทั่วไป แต่อาจจะพิจารณาใช้ในเด็กที่มีอาการรุนแรงมากๆ โดยจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป นี่คือยาต้านไวรัส RSV ที่มีในปัจจุบันนี้ ซึ่งยานี้ในประเทศไทยก็มี ในต่างประเทศเป็นในรูปพ่น ในบ้านเราจะเป็นในรูปรับประทาน 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและอีกหลายๆ โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ กำลังเข้าร่วมงานวิจัยในระดับนานาชาติในการให้ยาต้านไวรัสชนิดใหม่ต่อไวรัส RSV โดยจะมีการเชิญชวนผู้ปกครองเด็กที่ตรวจพบไวรัสอาร์เอสวีว่า สนใจที่จะเข้าร่วมงานวิจัยหรือไม่ หากยอมรับเข้าร่วมงานวิจัยเด็กๆ ก็จะได้รับยาต้านไวรัส RSV ที่เป็นยาที่อยู่ในขั้นการทดลองค้นคว้าวิจัย โดยจะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้รับยาเป็นสำคัญ ฉะนั้นหากหมอพยาบาลเข้าไปติดต่อเรื่องนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็จะได้ไม่แปลกใจว่าเราก็ได้ทำการศึกษาวิจัยอยู่ในแง่ยาต้านไวรัส สำหรับเชื้อไวรัส RSV 
 

ผู้ปกครองต้องเตรียมรับมือ RSV อย่างไร

วิธีการรับมือที่ดีที่สุดคือ ต้องทำการป้องกันไม่ให้เด็กๆ ไปรับเชื้อมา และการป้องกันที่ดีที่สุดแบ่งได้เป็น 4 ประการ ดังนี้

ประการแรก สำหรับคุณพ่อคุณแม่ทุกคนขอความร่วมมือว่า หากลูกเจ็บป่วยไม่สบาย และมีอาการในระบบทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยควรจะหยุดเรียน เพราะว่าในคนที่แข็งแรงดีหรือในเด็กโตอาการอาจจะเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา ซึ่งสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ยิ่งถ้าแพร่ไปติดเพื่อนที่มีโรคหัวใจหรือโรคปอดอาจทำให้ติดแล้วจะรุนแรงได้ เพราะฉะนั้นคนที่เจ็บป่วยไม่สบายต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการที่จะหยุดเรียนอยู่กับบ้านจนกว่าไข้ลงอย่างน้อย 24 ชั่วโมง โดยที่ไม่ต้องทานยาลดไข้ และอาการในระบบทางเดินหายใจดีขึ้น แต่ถ้ารู้ว่าเป็น RSV เลยควรจะต้องหยุดเรียน หยุดไปเนอสเซอรี หรือเดย์แคร์ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย

ประการที่สอง ช่วงนี้หากเรารู้แล้วว่าในชุมชนมี RSV ฉะนั้นต้องหลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานไปในที่ชุมชนที่มีคนเยอะๆ เพราะเชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อที่มีความคงทนในสิ่งแวดล้อมได้เยอะ ถ้าเกิดว่าเด็กหรือผู้ที่มีเชื้อไวรัส RSV เอามือไปป้ายจมูกแล้วมีเชื้อติดอยู่ที่มือ เชื้อนี้สามารถอยู่ที่มือได้นานเกิน 30 นาที หากไม่ล้างมือ และติดอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมง 

ไวรัส RSV เป็นโรคที่แปลก เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่ไม่ได้ติดต่อกันโดยการไอจามรดกันเป็นหลัก แต่เป็นในแง่ของการสัมผัส ดังนั้นการไปสัมผัสเชื้อที่ติดอยู่ตามสิ่งแวดล้อมก็สามารถติดได้แล้ว เพราะฉะนั้นต้องเลี่ยงไปแหล่งชุมชนเพื่อที่จะไม่ให้ไปติดเชื้อมา

ประการที่สาม มาตรการที่สำคัญที่สุดในการป้องกันไวรัส RSV คือ การล้างมือ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าวิธีการติดหลักคือการสัมผัส ไม่ว่าจะสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อโดยตรง หรือการไปสัมผัสเชื้อที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมและอยู่ได้นานด้วย 

การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือการล้างมือด้วยน้ำและสบู่สามารถฆ่าเชื้อได้ ฉะนั้นถ้าเมื่อไหร่ก็ตามต้องไปสัมผัสสิ่งที่คนจับเยอะๆ เช่น ปุ่มกดลิฟท์ ลูกบิดประตู หรือว่าเมาส์คอมพิวเตอร์ ให้รีบล้างทำความสะอาดมือก็จะช่วยได้

ประการที่สี่ หมั่นทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่อยู่อย่างสม่ำเสมอ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน โดยปฏิบัติตามดังนี้

- คุณครูจะต้องพยายามทำความสะอาดสิ่งที่เป็นจุดที่มีคนสัมผัสร่วมเยอะๆ 

- ส่งเสริมให้มีการล้างมือได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะติดตั้งให้มีแอลกอฮอล์เจลหลายๆ ตำแหน่ง หรือว่ามีอ่างล้างมือก็ตาม แล้วเน้นให้เด็กๆ ล้างมือให้ถูกวิธี

-โรงเรียนต้องคัดกรองและเข้มข้นกับการตรวจเด็กที่ไม่สบาย คือ ถ้าวัดอุณหภูมิเด็กแล้วพบว่ามีไข้ หรือว่ามีอาการในระบบทางเดินหายใจ ควรให้หยุดเรียน ไม่ควรให้เข้าไปในโรงเรียน เพราะไม่อย่างนั้นจะไปแพร่เชื้อได้ โดยระหว่างรอผู้ปกครองมารับ เด็กๆ ยุคนี้ใส่หน้ากากอยู่แล้ว ให้ไปพักรอผู้ปกครองมารับกลับในห้องพยาบาล อย่าพึ่งให้เข้าไปเรียนกับเด็กคนอื่น 

- ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่เราใช้ในการป้องกันโควิดอาจจะไม่ใช่มาตรการหลักในการป้องกัน RSV แต่ก็จะช่วยป้องกันไวรัสอื่นๆ ที่ต้องเจอในช่วงนี้ได้ เช่น ไรโนไวรัส พาราอินฟลูเอนซาที่อาการคล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 ซึ่งอาจจะมีอยู่ในชุมชนแล้วแต่เรายังไม่ทราบก็เป็นได้ เรื่องของการใส่หน้ากาก การล้างมือนั้นช่วยแน่ๆ เรื่องการรักษาระยะห่าง เป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งต้องไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน เดี๋ยวนี้จะเห็นว่าบางโรงเรียน นอกจากจะให้เตรียมกระติกน้ำมาเองแล้ว ยังขอให้เอาช้อนส้อมเตรียมไปเองด้วย รวมถึงต้องไม่แชร์สิ่งของร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อผ่านน้ำลายน้ำมูกได้ ขอย้ำว่า การล้างมือคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ RSV

RSV เป็นโรคที่เป็นสาเหตุสำคัญในการเจ็บป่วยไม่สบายในเด็กเป็นอันดับที่ 1 ทำให้เกิดปอดอักเสบในเด็กทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย ไวรัสชนิดนี้ไม่ใช่ไวรัสชนิดใหม่ การดูแลสุขอนามัยเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าเด็กๆ เจ็บป่วยไม่สบายเป็นหวัดทั่วไปอาจจะไม่ต้องมีความกังวลหรือตรวจ RSV ในทุกราย 

รศ. พญ. วนัทปรียา กล่าวทิ้งท้ายว่า มีการตรวจที่สามารถตรวจทราบผลด่วนได้ในเวลา ½-1 ชั่วโมง สำหรับที่ศิริราชก็จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 500 บาท เพราะฉะนั้นในแต่ละที่ก็น่าจะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป หากผู้ปกครองพบว่าลูกมีอาการบ่งบอกถึงการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น มีอาการไข้สูง ซึม ไม่รับประทานอาหาร หรือมีอาการไอมาก หายใจลำบาก เด็กเล็กๆ อาจจะถึงขั้นหยุดหายใจได้ ถ้าสังเกตดูแล้วว่าลูกเริ่มมีอาการค่อนข้างเยอะควรจะต้องรีบพามาโรงพยาบาล ถึงแม้ว่าไม่มียารักษาที่จำเพาะ แต่เราสามารถให้การรักษาประคับประคอง แล้วช่วยให้ผ่านวิกฤตตรงนี้ไปได้

ไวรัส RSV