svasdssvasds

บำบัด "เด็กออทิสติก" กระตุ้นทักษะด้านการพูด การสื่อสาร

บำบัด "เด็กออทิสติก" กระตุ้นทักษะด้านการพูด การสื่อสาร

สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ ให้ความสำคัญกับเด็กออทิสติก ฝึกให้มีปฏิสัมพันธ์ สามารถสื่อสารกับผู้อื่น และทำกิจวัตรประจำวันช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด

นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ภาวะออทิสติก เป็นโรคหรือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในเด็กเนื่องจากความผิดปกติของสมอง เด็กจะมีความบกพร่องทางพัฒนาการด้านการ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและสภาวะแวดล้อมรอบตัว หากมองดูภายนอกเด็กออทิสติกจะดูเหมือนเด็กธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อเข้าไปพูดคุยหรือเล่นด้วยอาจพบว่า เด็กมักจะอยู่ในโลกของตนเอง และขาดความสนใจร่วมกับคนอื่น

ทั้งนี้เด็กออทิสติกจะมีความบกพร่องใน 3 ด้าน คือ

1.ด้านปฏิสัมพันธ์ เช่น ไม่สบตา เรียกไม่หัน ไม่ชอบเล่นกับบุคคลอื่น

2.ด้านการสื่อสาร เช่น ไม่พูดเลย หรือพูดช้ากว่าวัย ถามตอบไม่เป็น

3.ด้านพฤติกรรม เช่น ยึดติดกับการทำกิจวัตรซ้ำ ๆ กรีดร้อง อารมณ์รุนแรง เป็นต้น

ดังนั้นต้องฝึกให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ มีการสื่อสารกับผู้อื่น เพื่อลดปัญหาพฤติกรรมและส่งเสริมให้เด็กสามารถทำกิจวัตรประจำวันช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด

บำบัด "เด็กออทิสติก" กระตุ้นทักษะด้านการพูด การสื่อสาร

นายแพทย์ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากอาการออทิสติกไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง แต่สามารถฝึกฝนให้เด็กกลุ่มนี้มีชีวิตใกล้เคียงกับเด็กทั่วไปได้ กลุ่มงานแก้ไขการพูด สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้ดำเนินการบำบัดและฟื้นฟูโดยทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์พัฒนาการเด็ก จิตแพทย์เด็ก พยาบาล นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด นักแก้ไขการพูด และครูการศึกษาพิเศษ เป็นผู้ให้คำแนะนำและกระตุ้นทักษะด้านการพูด การสื่อสาร ร่วมกับผู้ปกครองและญาติในการช่วยดูแลฝึกพูดเบื้องต้นให้เด็ก ดังนี้

1.หากเด็กเคลื่อนไหวอวัยวะที่ใช้ในการพูดลำบาก ควรฝึกให้อ้าปาก ฝึกการเล่นเสียงง่าย ๆ

2.เด็กไม่รู้จักคำศัพท์ อาจฝึกทำตามคำสั่ง สอนคำศัพท์

3.เด็กไม่มีปฏิสัมพันธ์ เมื่อเด็กสนใจอะไรควรเข้าไปเล่นด้วย

4.เด็กไม่รู้จักวิธีสื่อสาร ควรกระตุ้นโดยให้สังเกตว่า เด็กชอบเล่นหรือชอบกินอะไรให้นำสิ่งนั้นมาเป็นแรงจูงใจในการสื่อสาร

ทั้งนี้รูปแบบการให้บริการฝึกพูดในเด็กออทิสติกเบื้องต้น เด็กที่มารับบริการฟื้นฟูมีทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม รวมถึงเครื่องมือเทคโนโลยีที่ใช้ในการฝึกพูด เช่น คอมพิวเตอร์โปรแกรมฝึกพูด นักแก้ไขการพูด แบบฝึกหัดสอนพูด เป็นต้น การบำบัดและฟื้นฟูดังกล่าวเพื่อให้เด็กออทิสติกสามารถสื่อสารช่วยเหลือตนเอง ตลอดจนอยู่ร่วมกับสังคมและครอบครัวได้อย่างมีความสุข

related