svasdssvasds

แพทย์ เตือน พบเชื้อไวรัส RSV สูงขึ้น!

แพทย์ เตือน พบเชื้อไวรัส RSV สูงขึ้น!

ปี 2561 พบว่าผู้ป่วยที่มาด้วยอาการระบบทางเดินหายใจในโรงพยาบาล 9 แห่ง พบในกลุ่มผู้ป่วยทางเดินหายใจ 620 ราย ผลต่อเชื้อ RSV 65 ราย (ร้อยละ10) พบเชื้อสูงขึ้น ช่วงเดือนกรกฎาคม (ร้อยละ 29) และสิงหาคม (ร้อยละ 47)

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ข้อมูลเชื้อก่อโรคปอดอักเสบรุนแรงใน 30 รพ. โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างปี 2555–2559 พบว่าในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่มาด้วยอาการปอดอักเสบรุนแรง 425 ราย

ป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ร้อยละ 44 (187 ราย)

ตรวจพบเชื้อมากในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และเสียชีวิต 9 ราย

กลุ่มผู้ใหญ่ที่มาด้วยอาการปอดอักเสบรุนแรง 97 ราย มีการติดเชื้อฯ 4 ราย (คิดเป็นร้อยละ 5) และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย

สำหรับในปี 2561 ข้อมูลการเฝ้าระวังโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2561) พบว่าผู้ป่วยที่มาด้วยอาการระบบทางเดินหายใจในโรงพยาบาล 9 แห่ง พบในกลุ่มผู้ป่วยทางเดินหายใจ 620 ราย ผลต่อเชื้อ RSV 65 ราย (ร้อยละ10) และมีการตรวจพบเชื้อสูงขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม (ร้อยละ 29) และสิงหาคม (ร้อยละ 47)”

“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดว่าในช่วงนี้จะยังพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) เนื่องจากโรคนี้มักพบในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ

เชื้อไวรัส RSV ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ติดต่อโดยการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ โดยปกติผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน

ผู้ติดเชื้อจะมีอาการ ตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจเร็ว หอบเหนื่อยเนื่องจากปอดอักเสบ รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง

การวินิจฉัยทำได้โดยตรวจหาเชื้อไวรัสจากสารคัดหลั่งในจมูก การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่าประชาชนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้โดยการล้างมือให้สะอาด ล้างมือบ่อยๆ เช่น ก่อนมื้ออาหาร หลังเข้าห้องน้ำ เป็นต้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือปอดอักเสบ โดยเฉพาะไม่ควรให้เด็กที่คลอดก่อนกำหนดและทารกในช่วงอายุ 1-2 เดือนแรกสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการนำมือที่ไม่สะอาดมาป้ายจมูก ไม่ควรใช้แก้วน้ำร่วมกัน หากมีอาการป่วยควรหยุดพัก โดยเฉพาะนักเรียน และควรปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม ถ้าผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422”

related