svasdssvasds

ไฟเขียว! คมนาคมเล็งคลอด "ใบขับขี่บิ๊กไบค์"

ไฟเขียว! คมนาคมเล็งคลอด "ใบขับขี่บิ๊กไบค์"

คมนาคมเตรียมเสนอ ครม.ไฟเขียว 7 มาตรการ ลดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เล็งคลอดใบขับขี่บิ๊กไบค์ แบ่งเลนจักรยานยนต์ขับขี่

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดให้แก้ไขปัญหาและออกมาตรการความปลอดภัย เพื่อลดสถิติอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตจากจักรยานยนต์อย่างเร่งด่วน เนื่องจาก 74% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบทางถนนมาจากการขับขี่รถจักรยานยนต์

ไฟเขียว! คมนาคมเล็งคลอด "ใบขับขี่บิ๊กไบค์"

 ประกอบกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาแสดงความกังวลว่าปัจจุบันไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ที่ประชุมจึงมีมติให้ตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมา 3 ชุด มอบให้ไปจัดทำมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ และนำไปเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ และนำกลับมาเสนอคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ภายใน 30 วัน หลังจากนั้นจะเสนอให้นายศักดิ์สยาม พิจารณาเห็นชอบ และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป

โดยคณะทำงานย่อย 3 ชุดประกอบด้วย

1. คณะทำงานด้านยานพาหนะ

2. คณะทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน

3. คณะทำงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย และการประชาสัมพันธ์ โดยคาดว่าจะสามารถนำมาตรการมาบังคับใช้ได้ภาในปีนี้ เพราะเป็นมาตรการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการต้องรอการแก้ไขหรือ ออกกฎหมาย

ไฟเขียว! คมนาคมเล็งคลอด "ใบขับขี่บิ๊กไบค์"

 นายจิรุตม์ ยังกล่าวอีกว่า คณะทำงานย่อยฯ จะต้องกลับไปออกมาตรการ โดยต้องยึดตามกรอบมาตรการ 7 ด้านที่คณะทำงานเฉพาะกิจฯ เห็นชอบ คือ

1. มาตรการด้านคนขับขี่

2. มาตรการด้านใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยอาจจะต้องทบทวนใบขับขี่ แบ่งแยกประเภทใบขับขี่ตามขนาดของเครื่องยนต์ แบ่งเป็นรถเล็ก รถใหญ่บิ๊กไบค์

3. มาตรการด้านยานพาหนะ จะต้องหารือกับสมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ และผู้ผลิต เพื่อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยรถจักรยานยนต์ให้สอดรับตามมาตรฐานสากล โดยแบ่งตามประเภทของรถ เช่น มาตรฐานของระบบเบรก รถขนาดใหญ่อาจจะต้องใช้ระบบ CBS ส่วนรถขนาดเล็กอาจใช้ระบบ ABS เป็นต้น

4. มาตรการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับการขับขี่จักรยานยนต์ โดยมีแนวคิดให้จัดทำเลนรถจักรยานยนต์เฉพาะแยกออกจากเลนรถยนต์ เบื้องต้นมอบให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ไปศึกษาความเหมาะสม และจัดทำโครงการนำร่องในถนนที่เห็นว่าเหมาะสมกลับมาเสนอ รวมทั้งไปถึงการจัดทำสะพานลอยเฉพาะรถจักรยานยนต์ และทบทวนจุดกลับรถจักรยานยนต์ เพื่อแยกรถจักรยายนต์ออกจากรถยนต์ เป็นแนวทางลดอุบัติเหตุ

5. มาตรการทางกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย เช่น กำหนดมาตรฐานความเร็วของรถแต่ละประเภท และในแต่ละพื้นที่ การออกมาตรการควบคุมการขับขี่จักรยายนต์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น ในอุโมงค์ การออกมาตรการห้ามแซงรถยนต์ขณะขับสำหรับรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่หรือบิ๊กไบค์ โดยจะต้องขับรถต่อแถวกันเหมือนรถยนต์ทั่วไป

6. มาตรการด้านการประชาสัมพันธ์ WHO ได้เสนอให้ไทยควบคุมเนื้อหาการโฆษณา และประชาสัมพันธ์ที่เสี่ยงให้เกิดความเข้าใจผิดต่อเยาวชนเกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น การโฆษณาน้ำมันเครื่องที่มีเนื้อหาอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถเพิ่มสมรรถนะการขับขี่ได้เร็วขึ้น และ 7.มาตรการตอบสนองภายหลังการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งในส่วนของแพทย์และหน่วยงานกู้ภัย จะต้องมีการกำหนดขั้นตอนการช่วยเหลือที่ถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย

related