svasdssvasds

สตช. ชี้แจง "พ.ต.ท." ติดเชื้อที่อื่น ไม่เกี่ยวตั้งด่าน สั่งกัก 6 ลูกน้องใกล้ชิด

สตช. ชี้แจง "พ.ต.ท." ติดเชื้อที่อื่น ไม่เกี่ยวตั้งด่าน สั่งกัก 6 ลูกน้องใกล้ชิด

พากันผวาทั้ง สน. หลัง "พ.ต.ท." ตั้งด่านสกัดโควิด-19 ติดเชื้อ สั่งกัก 6 ตำรวจปฏิบัติงานใกล้ชิด สตช. ชี้แจงรับไวรัส จากที่อื่นไม่เกี่ยวภารกิจคัดกรอง ขอให้มั่นใจและเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่คัดกรองของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศไทยยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมประกาศปิดพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งขอให้ประชาชนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ งดการเดินทางข้ามจังหวัด รวมทั้งตั้งด่านสกัดคัดกรองทั่วประเทศ เพื่อลดการแพร่ระบาด แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

ล่าสุดวันที่ 29 มีนาคม มีรายงานว่าโลกออนไลน์ รวมทั้งสื่อกระแสหลักได้นำเสนอข่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ยศ “พ.ต.ท.” สน.ตลิ่งชัน ติดเชื้อไวรัสโควิดจากการตั้งด่านสกัดตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนหวาดผวาไปทั้งโรงพัก รวมทั้งประชาชนที่ผ่านด่านคัดกรอง

สตช. ชี้แจง "พ.ต.ท." ติดเชื้อที่อื่น ไม่เกี่ยวตั้งด่าน สั่งกัก 6 ลูกน้องใกล้ชิด

ขณะที่ พ.ต.อ.วราวัชร์ ธรรมสโรช ผกก.สน.ตลิ่งชัน ได้ลงนามในหนังสือคำสั่ง สน.ตลิ่งชัน ที่ 29/2563 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจกักบริเวณภายในบ้านพัก ระบุว่า ด้วยได้รับแจ้งจาก พ.ต.ท.วรชัย ธนนิธิสกุล สารวัตรจราจร สน.ตลิ่งชัน เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นเพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโรคดังกล่าว สน.ตลิ่งชัน จึงได้มีคำสั่งให้ผู้ที่ใกล้ชิด พ.ต.ท.นายนี้กักตัวอยู่ในบริเวณบ้านพักของตนเอง เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม-8 เมษายน รวม 6 นาย ทั้งนี้ ให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งนี้อย่างเคร่งครัด

สตช. ชี้แจง "พ.ต.ท." ติดเชื้อที่อื่น ไม่เกี่ยวตั้งด่าน สั่งกัก 6 ลูกน้องใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับ พ.ต.ท.ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คาดว่าเกิดขึ้นหลังจากที่มีการตั้งด่านคัดกรองตามพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายจากการประกาศบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะที่ไทม์ไลน์ของนายตำรวจคนนี้พบว่า วันที่ 16-18 มีนาคม ที่ผ่านมา นั้น ได้มาทำงานตามปกติ มีอาการไข้เล็กน้อย วันที่ 19-25 มีนาคม มีอาการไข้เล็กน้อย นั่งทำงานอยู่ในห้องทำงานส่วนตัวเท่านั้น วันที่ 26 มีนาคม ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราชและถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ กระทั่งวันที่ 27 มีนาคม ถูกนำตัวเข้าห้องไอซียู ที่โรงพยาบาลตำรวจ

ต่อมาเวลา 11.45 น. วันที่ 29 มีนาคม พล.ต.ต.เอกชัย บุญวิสุทธิ์ ผบก.น.7 เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้รับรายงานจากพ.ต.อ.วราวัชร์ ยืนยันว่า พ.ต.ท. ที่พบว่ามีอาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจแล้วก่อนที่จะมีการตั้งด่านจุดตรวจจุดสกัดป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสดังกล่าวตามประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 1

สตช. ชี้แจง "พ.ต.ท." ติดเชื้อที่อื่น ไม่เกี่ยวตั้งด่าน สั่งกัก 6 ลูกน้องใกล้ชิด

จากการสอบถามเบื้องต้นทราบว่า พ.ต.ท.ดังกล่าวได้ไปแข่งฟุตบอลมากระทั่งสงสัยว่าตัวเองมีอาการผิดปกติคล้ายกับติดเชื้อไวรัสดังกล่าวโดยไม่ทราบสาเหตุจึงได้กักตัวไว้ก่อนที่จะเข้ารักษาตัว นอกจากนี้ต้องรอผลตรวจสอบสาเหตุการติดเชื้อดังกล่าวโดยละเอียดอีกครั้งว่าติดมาได้อย่างไร ส่วนลูกน้อง 6 รายที่ทำงานใกล้ชิดกับพ.ต.ท.คนดังกล่าว เบื้องต้นได้กักตัวเอาไว้หลัง พ.ต.ท.ดังกล่าวเข้ารักษาตัวแล้ว โดยให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้เพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่าติดเชื้อไวรัสดังกล่าวด้วยหรือไม่ต่อไป

ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ชี้แจงว่า จากการสอบสวนประวัติโรคติดต่อของนายตำรวจยศ พ.ต.ท.รายดังกล่าว คาดว่าน่าจะติดมาจากที่อื่นและยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจจุดตรวจคัดกรองควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด ซึ่งผู้ป่วยไปพบแพทย์โรงพยาบาลศิริราช และปัจจุบันถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ

สตช. ชี้แจง "พ.ต.ท." ติดเชื้อที่อื่น ไม่เกี่ยวตั้งด่าน สั่งกัก 6 ลูกน้องใกล้ชิด

รองโฆษก ตร. กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติภารกิจจุดตรวจคัดกรอง มีมาตรการในการรับมือและป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยขอให้มั่นใจและเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่คัดกรองของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในการยับยั้งและป้องการการแพร่ระบาด ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีความเป็นห่วงสุขภาพตำรวจทุกนายที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ กำชับให้เพิ่มความระมัดระวังและความรอบคอบในการป้องกันตนเองให้มากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) รายงานข้อมูลข้าราชการตำรวจที่ติดไวรัสโควิด-19 ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 13-28 มีนาคม มีจำนวน 36 ราย ออกจากโรงพยาบาลแล้ว 2 ราย แบ่งเป็น บช.น. 25 ราย ภ.1 3 ราย ภ.8 1 ราย ภ.9 1 ราย บช.ก. 1 ราย บช.ปส. 1 ราย บช.ส. 1 ราย สตม. 1 ราย บช.ตชด. 1 ราย รพ.ตร. 1 ราย และมีข้าราชการตำรวจกลุ่มเสี่ยงกักตัวเฝ้าระวังอาการอีก 666 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวพบว่าในต่างจังหวัดเริ่มรุนแรงมากขึ้น หลายจังหวัดมีการออกประกาศปิดพื้นที่งดการเดินทางเพิ่มเติม รวมทั้งออกคำสั่งให้ร้านสะดวกซื้อเปิดปิดเป็นเวลาหลายจังหวัดแล้ว เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดออกไปอีก โดยพบว่าวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ลงนามคำสั่งจังหวัดนราธิวาสที่ 1362/2563 เรื่อง กำหนดพื้นที่เสี่ยงเพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เพิ่มเติม โดยมีคำสั่งห้ามเข้าออกพื้นที่ ต.กาหลง อ.ศรีสาคร และ ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี มีกำหนด 14 วัน ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม-13 เมษายน

ขณะที่ จ.ปัตตานี มีการออกมาตรการเข้มอีก​โดยมีหนังสือแจ้งนายอำเภอทุกอำเภอ​ ชุมชนทุกชุมชน​และผู้นำในพื้นที่ยกระดับความเข้ม ประกอบด้วย

1.ด่านขาออกทั้งหมดห้ามผ่านยกเว้นตามคำสั่งและหรือที่หัวหน้าด่านตรวจพิจารณาว่าจำเป็น

2.ด่านขาเข้าจากนราธิวาสและยะลาห้ามผ่านเด็ดขาด ให้เลี้ยวรถกลับ ยกเว้นตามคำสั่งที่แจ้ง และหรือหัวหน้าด่านตรวจพิจารณาเห็นว่าจำเป็น

3.ด่านขาเข้าออก ทั้งหมดห้ามผ่านตั้งแต่เวลา 20.00-06.00 น. ยกเว้นตามคำสั่ง และหรือหัวหน้าด่านตรวจพิจารณาเห็นว่าจำเป็น

4.ห้ามรถโดยสารประจำทาง รถโดยสารรับจ้าง หรือยานพาหนะอื่นใดที่มีผู้โดยสารผ่านเข้าออก หากมีความจำเป็นให้ควบคุมรถโดยสารดังกล่าวไปรายงานตัวที่โรงยิม สนามกีฬาอบจ.ปัตตานี เพื่อทำการคัดกรองอละสั่งให้อำเภอท้องที่มารับตัวไปกักกันต่อไป

นอกจากนั้นด่านเกาะหม้อแกง ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก และด่านนิคมโคกโพธิ์ ต.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ​ซึ่งเป็นด่านประตูเมือง​เข้าออกในพื้นที่ปัตตานี​ ยะลา​ นราธิวาส​ และออกสู่ภาคใต้ตอนบน จะเข้มงวดเรื่องการผ่านเข้าออกยานพาหนะ ดังนี้

1.ห้ามยานพาหนะ เข้าสู่ จ.ปัตตานี ตั้งแต่เวลา 20.00-08.00 น.

2.ห้ามยานพาหนะออกนอกพื้นที่ จ.ปัตตานี เด็ดขาดตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ยกเว้นยานพาหนะตามประกาศ เช่น ทางการแพทย์ รถสินค้าอุปโภคบริโภค รถทางราชการ รถฉุกเฉิน เป็นต้น

เช่นเดียวกับที่ จ.ชัยภูมิ จังหวัดต้องออกมาตรการออกมาเข้มงวดต่อเนื่อง สั่งให้มีการตั้งด่านตรวจเข้มห้ามคนเข้าออกพื้นที่ใน 2 หมู่บ้าน ที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นรวมกันมากกว่า 3,000 ครอบครัว ใน 2 อำเภอ คือ ภูเขียว และเนินสง่า ดตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ขณะเดียวกันนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ มีคำสั่งเป็นมาตรการด่วนตามภาวะสถานการณ์ฉุกเฉินภายในจังหวัดและทั่วประเทศเพื่อห้ามไม่ให้ประชาชนทุกคนออกนอกบ้านในตั้งแต่ช่วงเวลา 20.00-05.00 น.ของทุกวัน และห้ามไม้ให้หัวหน้าส่วนข้าราชการ พนักงานลูกจ้างรัฐ องค์กรผู้นำปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ทุกคนออกนอกพื้นที่ จ.ชัยภูมิ โดยเด็ดขาด รวมทั้งประชาชนทุกคนที่ไม่มีเหตุจำเป็นออกนอกพื้นที่โดยเด็ดขาดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ส่วนที่ จ.กระบี่ ประกาศให้ร้านค้าขยาดย่อย ร้านค้าชุมชน ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ทยอยปิดให้บริการในเวลา 22.00 น.ตามประกาศของจังหวัดกระบี่ โดยให้เปิดบริการตั้งแต่เวลา 05.00-22.00 น.

สำหรับ จ.พิจิตร ชาวบ้านหมู่ 6 บ้านวังปลากราย ต.ห้วยแก้ว อำเภอบึงนารางจัดล็อกดาวน์หมู่บ้าน ห้ามประชาชนเข้าออกในหมู่บ้าน หลังผู้ป่วยพบไวรัสโควิดจากจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาในพื้นที่งานอุปสมบท

นอกจากนี้ที่ จ.อุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มีหนังสือสั่งให้ร้านสะดวกซื้อทุกประเภทปิดการจำหน่ายสินค้าในเวลา 22.00 น. และเปิดใหม่เวลา 05.00 น. ถึงวันที่ 12 เมษายน และกำลังพิจารณาสั่งห้ามร้านขายของชำไม่ให้จำหน่ายสุราและเบียร์เพื่อไม่เปิดโอกาสให้มีการตั้งวงสังสรรค์ดื่มสุราเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการทิ้งระยะห่างของสังคมลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมสั่งการให้ฝ่ายปกครองร่วมกับตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอปพร.เพิ่มการตั้งจุดสกัดคัดกรองประชาชนที่จะเดินทางเข้ามาในจังหวัด โดยแบ่งจุดสกัดไว้เป็น 2 วงรอบ คือ พื้นที่ส่วนในของจังหวัดรวม 8 เส้นทาง รอบนอกที่ติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง 10 อำเภอ จำนวน13 จุด

ขณะที่การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานและออกประกาศจังหวัดภูเก็ตฉบับที่ 10/2563 เรื่องปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดจากโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม โดยให้ปิดชายหาดทุกแห่งเนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 และปิดสวนสัตว์ สถานที่ที่มีการแสดงโชว์สัตว์ทุกประเภท นอกจากนี้มีมติให้ปิดถนนสายบางลาที่กำหนดอยู่ในเขตพื้นที่บริเวณที่ 2 (อ.กะทู้) ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่ เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในท้องที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ.2546 ตลอดทั้งสาย

โดยห้ามบุคคล ยานพาหนะ เข้าในถนนสายดังกล่าวตลอดเวลา ยกเว้นผู้ที่พำนักในเขตพื้นที่ดังกล่าว เป็นระยะเวลา 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-10 เมษายน หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม จะมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ รวมทั้งอาจได้รับโทษตามมาตร 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

เรื่องน่ารู้จาก COVID-19

อ่านข่าวแนะนำ >>> แพทย์แนะ มาตรการต้องมีในที่ชุมนุมชน รับมือไวรัสโควิด-19

4 ทริค รับมือ COVID-19 มฤตยูร้ายสายพันธุ์ใหม่ ให้อยู่หมัด

วิธี กักกันตัวเอง ที่บ้าน ทำอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด

Social Distancing ระยะห่างทางสังคม ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

related