svasdssvasds

ปรากฏการณ์ตู้ปันสุข กับทฤษฎีส่งต่อความดี จากหนัง Pay It Forward

ปรากฏการณ์ตู้ปันสุข กับทฤษฎีส่งต่อความดี จากหนัง Pay It Forward

ตู้ปันสุข ปรากฏการณ์แห่งการแบ่งปัน แม้ช่วงนี้จะมีดราม่าบ้าง แต่ก็สะท้อนให้เห็นความจริงของสังคมในหลายมิติ โดยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ที่นำเสนอทฤษฎีส่งต่อความดี ซึ่งแม้โลกใบนี้จะไม่ได้สวยงามขึ้นทันตา แต่เชื่อเถอะว่า “เมล็ดพันธ์ุแห่งการให้” ที่หว่านไป จะออกผลให้เราได้ชื่นชมในสักวัน

จากปรากฏการณ์ตู้ปันสุข ที่ตอนนี้มีวางตามชุมชนต่างๆ มากมาย โดยแนวคิดนี้ก็คือ การแบ่งปันโดยการนำอาหาร หรือสิ่งของที่จำเป็นไปใส่ไว้ในตู้ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการ หยิบไปรับประทานหรือใช้สอย

แม้จะมีภาพที่ไม่สู้ดีออกมาบ้าง เช่น การกวาดอาหารเกลี้ยงตู้ หรือการแย่งชิงกันในบางพื้นที่ ซึ่งถ้ามองในมุมนี้ “ผู้ให้” หลายคนอาจรู้สึกท้อใจ แต่ว่าไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้คนในสังคมเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

ณ ขณะนี้ เราไม่อาจบอกได้ว่า เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง การเกิดขึ้นของตู้ปันสุข จะสะท้อนให้เห็นด้านบวกหรือด้านลบของมนุษย์มากกว่ากัน

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม “การให้” ก็มีคุณค่าและงดงามเสมอ ซึ่งจากปรากฏการณ์ตู้ปันสุข ทำให้ผู้เขียนนึกถึงภาพยนตร์ที่ชื่อว่า Pay It Forward

จุดเริ่มต้นของทฤษฎีส่งต่อความดี

“ทฤษฎีส่งต่อความดี” ถูกนำเสนอผ่าน Pay It Forward ภาพยนตร์ฮอลลีวูด เมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยผู้คิดค้นทฤษฎีนี้ขึ้นมา เป็นเด็กชายอายุ 12 ขวบ ชื่อ “เทรเวอร์ แม็คคินนีย์” รับบทโดย "ฮาร์เลย์ โจแอล ออสเมนท์" (อดีตหนูน้อยที่แจ้งเกิดจาก Six Senses)

จุดเริ่มต้นเกิดจากการบ้านของครูซิมโมเน็ต ที่ตั้งโจทย์ว่า “นักเรียนมีวิธีทำอย่างไร เพื่อให้โลกใบนี้ดีขึ้น” ซึ่งไม่เพียงแต่คิดวิธีการเท่านั้น แต่ต้องนำไปปฏิบัติด้วย เพื่อให้รู้ว่า สิ่งที่คิดมันเวิร์กหรือไม่ ?

หลักการของทฤษฎีส่งต่อความดี

เทรเวอร์ได้นำเสนอสิ่งที่ตัวเองคิดหน้าชั้น โดยตั้งชื่อว่า "ทฤษฎีส่งต่อความดี" วิธีการก็คือ ให้ช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่ขอให้คนคนนั้น ไปช่วยเหลือคนอื่นๆ อีกอย่างน้อย 3 คน

และเมื่อเทรเวอร์ได้นำทฤษฎีของตัวเองไปปฏิบัติ ก็ทำให้รู้ว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย แต่อีกมุมหนึ่งก็ทำให้เขาค้นพบความหมายที่แท้จริงของการเป็นผู้ให้

ความเป็นจริงของชีวิต

แม้เนื้อหาของภาพยนตร์จะพูดถึงความดีงาม แต่ก็ไม่ได้ดำเนินเรื่องแบบโลกสวย ตรงกันข้าม กลับสะท้อนถึงความเป็นจริงของชีวิตได้อย่างเจ็บปวด

โดยตัวของเทรเวอร์เอง ที่เกิดและเติบโตในสังคมที่ปากกัดตีนถีบ มีแม่ติดเหล้า ส่วนพ่อก็มักทำร้ายร่างกายแม่ จนต้องแยกทางกัน

แต่สิ่งที่เขาคิด ก็สะท้อนให้เห็นถึงจิตใจที่ใสสะอาด เขาได้เรียนรู้ความหมายของการให้ ผ่านการลงมือทำ แม้บ่อยครั้งจะเกิดคำถามว่า สิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาทำ มันจะเปลี่ยนโลกบัดซบใบนี้ได้จริงหรือ ?

ปรากฏการณ์ตู้ปันสุข กับทฤษฎีส่งต่อความดี จากหนัง Pay It Forward

การให้ที่เจ็บปวด

คนแรกที่เทรเวอร์ช่วยเหลือ คือชายจรจัดติดยา ที่ไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยว แต่เทรเวอร์พาเขามาทานอาหารที่บ้าน แบ่งเงินของตัวเองให้ เพื่อที่ชายจรจัดจะใช้ซื้อเสื้อผ้าใหม่ ไปสมัครงาน

ต่อมาชายคนนั้นก็ได้งานทำ แต่แล้วเมื่อเทรเวอร์รู้ว่าชายที่เขาช่วยเหลือกลับไปเสพยาอีก ก็ทำให้เด็กชายรู้สึกผิดหวังและเจ็บปวดเป็นอย่างมาก

บาดแผลของชีวิต

คนต่อมาที่เทรเวอร์ช่วยเหลือ ก็คือครูซิมโมเน็ต ผู้ที่ให้การบ้านนี้ โดยเทรเวอร์แนะนำให้คุณครูรู้จักกับแม่ของเขา กระทั่งความสัมพันธ์ของทั้งคู่กำลังไปได้ด้วยดี กระทั่งจู่ๆ พ่อของเทรเวอร์ก็กลับมาขอคืนดี

ครูซิมโมเน็ตพยายามเตือนแม่ของเทรเวอร์ไม่ให้ใจอ่อน แต่เมื่อรู้ว่าเธอให้โอกาสอดีตสามีกลับมาใช้ชีวิตคู่ด้วยกันอีก ทำให้ครูซิมโมเน็ตโกรธเป็นอย่างมาก

แต่ไม่ได้โกรธเพราะความหึงหวง หากเป็นเพราะบาดแผลในอดีตที่เขาเคยถูกกระทำ และหวั่นว่าสองแม่ลูกจะมีชะตากรรมเหมือนกับเขา

โดยเมื่อเห็นพ่อของเทรเวอร์ ก็ทำให้ครูซิมโมเน็ตนึกถึงคนที่ทำร้ายเขาจนใบหน้าและร่างกายเต็มไปด้วยบาดแผล... คนคนนั้นคือ พ่อของเขาเอง

บาดแผลที่กาลเวลาไม่อาจเยียวยา

ครูซิมโมเน็ตเอง ก็ต้องพบกับบททดลองที่หนักหนาสาหัส ซึ่งเป็นปมในวัยเยาว์ที่เขาไม่อาจลืมเลือนและให้อภัยได้

ช่วงวัยรุ่น ครูซิมโมเน็ตถูกพ่อทำร้ายร่างกายจนต้องหนีออกจากบ้าน อีกไม่กี่ปีต่อมา เขากลับไปรับแม่มาอยู่ด้วย ทำให้พ่อของเขาโกรธมาก เตะต่อยครูซิมโมเน็ตจนสลบ ก่อนราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผา

แม้ครูซิมโมเน็ตรอดชีวิตมาได้ แต่ก็มีบาดแผลทั่วใบหน้า ร่างกาย รวมถึงในหัวใจ ที่กาลเวลาไม่อาจเยียวยาได้

ครูซิมโมเน็ต พยายามตัดใจจากแม่ของเทรเวอร์ แม้ต่อมาจะทราบว่า เธอได้เลิกรากับอดีตสามีแล้ว แต่เขาก็หลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวอีก เพื่อป้องกันตัวเอง ไม่ให้เจ็บซ้ำเจ็บซาก

แต่ในที่สุดเขาก็เปลี่ยนใจ เมื่อศิษย์รักขอร้องด้วยถ้อยคำที่สุดสะเทือนใจว่า “เพื่อการบ้านของผม และเพื่อผม.."

ปรากฏการณ์ตู้ปันสุข กับทฤษฎีส่งต่อความดี จากหนัง Pay It Forward

โลกวันนี้ จะต้องดีกว่าเมื่อวาน

ต่อมาสิ่งที่เทรเวอร์ทำ กลับออกดอกผลอย่างไม่คาดคิด ชายจรจัดที่เขาเคยช่วยเหลือนั้น แม้จะอ่อนแอ ไม่สามารถหักห้ามจิตใจ จนกลับไปเป็นทาสยาเสพติดอีก แต่เมื่อถึงเวลาที่ตัวเองต้องเป็นผู้ให้ เขาก็ได้ช่วยเหลือหญิงสาวที่กำลังจะฆ่าตัวตาย

และการช่วยเหลือตามทฤษฎีส่งต่อความดี ก็แพร่กระจายออกไป จนกระทั่งนักข่าวคนหนึ่งได้ประสบกับตัวเอง เขาจึงพยายามตามหาเจ้าของแนวคิดนี้ และได้พบกับเทรเวอร์ในที่สุด ทำให้เทรเวอร์ได้มีโอกาสออกรายการโทรทัศน์ และได้เสนอแนวคิดของตนให้สังคมวงกว้างได้รับทราบ

แต่เรื่องไม่ได้จบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้งเพียงแค่นี้ เพราะต่อมาเทรเวอร์ก็ถูกแทงจนเสียชีวิต ขณะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนที่ถูกรุมทำร้าย !

การตายของเทรเวอร์ แม้จะสร้างความโศกเศร้าให้กับผู้คนเป็นจำนวนมาก แต่ก็เกิดปรากฏการณ์การส่งต่อความดีในภาคปฏิบัติ แพร่กระจายไปอย่างกว้างไกล

แม้เขาจะตาย แต่สิ่งที่คิดและทำก็ยังคงอยู่ เป็นความงดงามบนโลกที่โหดร้าย ที่มนุษย์ยังไม่หมดหวังซึ่งกันและกัน และพร้อมที่จะทำความเข้าใจ เรียนรู้ เพื่อส่งต่อความดีด้วยความเชื่อที่ว่า โลกวันนี้ จะต้องดีกว่าเมื่อวาน

จากนิยาย สู่โลกภาพยนตร์

Pay It Forward สร้างจากนิยายของ แคทเธอรีน ไรอัน ไฮด์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ที่รถของเธอเสียช่วงกลางดึก บนถนนสายเปลี่ยว แล้วรถคันดังกล่าวก็ระเบิดขึ้น

แต่เธอก็รอดชีวิตมาได้ จากการช่วยเหลือของชายนิรนามสองคน ก่อนหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย โดยที่เธอยังไม่ทันได้เอ่ยปากขอบคุณ

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เธอตั้งใจทำความดีช่วยเหลือผู้อื่น เพื่อเป็นการขอบคุณชายนิรนามทั้งสอง และต้องการให้แนวคิดนี้ได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง เธอจึงเขียนนิยาย Pay It Forward ที่ประสบความสำเร็จ จนมีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ที่ได้รับกระแสชื่นชมอย่างล้นหลาม

ปรากฏการณ์ตู้ปันสุข

ในมุมมองของผู้เขียน จากปรากฏการณ์ตู้ปันสุข สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าในแง่ดีหรือแง่ลบ ก็ได้สะท้อนความเป็นจริงของสังคม ที่ทำให้เรารับทราบได้จากข่าวคราวเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่ง นั่นก็คือเมล็ดพันธ์ุแห่งการให้ แห่งความดีงาม ที่ได้หยั่งรากแล้ว ซึ่งเชื่อเถอะว่า มันจะปรากฏให้เราเห็น ให้เราได้ชื่นชม ในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน

https://www.youtube.com/watch?v=qfW0wCV9iFI

อ้างอิง

ภาพยนตร์ Pay It Forward

" Pay it Forward "... หากหัวใจเราพร้อมจะให้ เราจะได้มากกว่าหนึ่ง

Pay It Forward  : TK park

 

related