กรมการปกครอง ปฏิเสธข่าวปลอมในออนไลน์ ยืนยันประเทศไทย ไม่มีการจัดตั้งศาลชารีอะห์ (ศาลที่พิพากษาตามหลักศาสนาอิสลาม) ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งหากคนในศาสนาอื่นมีคดีความกับคนไทยมุสลิมแล้ว ก็ต้องตัดสินตามหลักศาสนาอิสลาม โดยมีผู้พิพากษาเป็นนักบวชในศาสนาอิสลามนั้น
จากกรณีมีข่าวเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ระบุ สนช.ชุดปัจจุบัน จำนวน 63 คน (จากสมาชิกทั้งหมด 233 คน) ซึ่งเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามกำลังพยายามผลักดันกฎหมายเพื่อให้มีการจัดตั้งศาลชารีอะห์
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จทั้งสิ้น และขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบันมีสมาชิกที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวน 4 คนเท่านั้น ได้แก่
1.นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล, ศาสตราจารย์
2. ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ (เข้านับถือศาสนาอิสลามตามคู่สมรส)
3.นายวิทยาฉายสุวรรณ
4.นายอนุมัติ อาหมัด (ลาออกเมื่อวันที่ 28 ก.พ.62)
ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม ซึ่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและผ่านความเห็นชอบของ สนช.ชุดปัจจุบันมีเพียง 1 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2559 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.2559 เป็นต้นมา
ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามจำนวน 4 ฉบับได้แก่
พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานีนราธิวาสยะลาและสตูลพ.ศ. 2489
พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์พ.ศ. 2524 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540
พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2545
ส่วนศาลชารีอะห์คือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีความโดยใช้หลักศาสนาอิสลามเป็นสำคัญซึ่งจะต้องมีผู้รู้ทางศาสนาเข้าร่วมในการพิจารณาพิพากษาคดีด้วยปัจจุบันใช้อยู่ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามเช่นซาอุดิอาระเบียอิรักอิหร่านฯลฯ
โดยประเทศไทย ไม่มีการจัดตั้งศาลชารีอะห์แต่อย่างใด จะมีก็แต่การนำหลักศาสนาอิสลามในเรื่องครอบครัวและมรดกมาใช้สำหรับพิจารณาพิพากษาคดีที่คู่ความในคดีทั้ง 2 ฝ่ายเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม และอยู่ในเขตอำนาจศาลในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.สตูล เท่านั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 (ข้อ 3.1) เท่านั้น
ดังนั้น ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง หากผู้ใดนำเข้าหรือเผยแพร่ต่อถือว่ามีความผิดตามกฎหมายด้วย