svasdssvasds

งานวิจัยเผย โลมากำลังตะโกนคุยกัน เพราะกิจกรรมทางน้ำของมนุษย์ดังเกินไป

งานวิจัยเผย โลมากำลังตะโกนคุยกัน เพราะกิจกรรมทางน้ำของมนุษย์ดังเกินไป

นุดมันดังเกินไปอ่ะ! งานวิจัยชิ้นใหม่เผย โลมากำลังตะโกนคุยกัน เพราะเสียงจากกิจกรรมทางน้ำ เช่น เหมืองหรือการเดินเรือของมนุษย์ดังเกินไป จนพวกมันสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง

โลมาเป็นสัตว์สังคมและชอบรวมกลุ่มกันไปไหนมาไหนตลอด แต่เมื่อไม่นานมานี้ ความกังวลของนักวิทยาศาสตร์เริ่มปรากฎความจริงบางอย่าง การทดลองในงานวิจัยหนึ่งได้เผยให้เรารู้ว่า ตอนนี้โลมากำลังตะโกนคุยกัน เนื่องจากเสียงจาก "กิจกรรมทางน้ำของมนุษย์เริ่มดังเกินไปแล้ว"

Pernille Sørensen นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจาก University of Bristol และผู้เขียนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจจากการทดลองของเขาว่า เวลาเราไปเที่ยวผับ หรือในสถานที่ที่เสียงดังมาก ๆ เรามักจะตะโกนคุยกันหรือออกมาแล้วหูอื้อ ภาวะนี้กำลังเกิดขึ้นกับโลมาเช่นเดียวกัน เพราะพวกมันกำลังพยายามสื่อสารท่ามกลางเสียงของการก่อสร้างและการขนส่งทางเรือของมนุษย์ และหลายครั้งการสื่อสารของพวกมันล้มเหลว

โลมาสื่อสารกันไม่รู้เรื่องแล้วตอนนี้ โลมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำและใช้เสียงหวีดเล็กแหลมในการสื่อสาร รวมไปถึงการล่าเหยื่อ การสืบพันธุ์และการหลบหนีผู้ล่า ดังนั้น การใช้เสียงหวีดเล็กแหลมของโลมาจึงสำคัญต่อการใช้ชีวิตของพวกมันมาก ๆ เสียงเป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสชั้นดีของสัตว์ทะเล สามารถเดินทางได้ไกลหลายสิบหรือหลายร้อยกิโลเมตรใต้ทะเลลึก

นักวิจัยกล่าวว่า ตอนนี้ประสิทธิภาพในการหาอาหารร่วมกันของฝูงโลมากำลังลงลด และขั้นต่อไปมันจะส่งผลต่อสุขภาพโลมา และไม่เพียงแค่โลมาเท่านั้นที่กำลังประสบปัญหาเหล่านี้ สัตว์น้ำจำพวกวาฬที่ใช้เสียงในการสื่อสารกำลังประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทดสอบรู้ได้อย่างไรว่าโลมากำลังตะโกนคุยกัน

เดลต้าและรีส (Delta & Reese) คู่หูโลมาปากขวดเป็นตัวอย่างของการทดสอบนี้ กลุ่มนักวิจัยใช้ทั้งคู่มาทดสอบการเผชิญหน้ากับเสียงรบกวนในทะเลสาบแห่งหนึ่ง ซึ่งทั้งคู่เป็นโลมาที่ถูกฝึกมาอย่างดี

นักวิจัยทดลองการตอบสนองของพวกมันด้วยกิจกรรมที่พวกมันเคยฝึก โดยปกติแล้วทั้งคู่จะทำงานกันเป็นทีม ดังนั้น ทีมงานจึงนำปุ่มกดลงไปไว้ปลายสุดทั้งสองด้านของทะเลสาบ และพวกมันทั้งสองจะถูกปล่อยจากจุดเริ่มต้นในการทดลองแต่ละครั้งพร้อมกัน ประกอบกับเสียงรบกวนจำลองจะดังเรื่อย ๆ ตามสภาพที่เป็นจริงที่เกิดขึ้นในมหาสมุทร

บ่อทดลองของเดลต้าและรีส

ในการทดลองได้อธิบายว่า พวกมันต้องว่ายไปกดปุ่มนั้น ๆ พร้อมกันในช่วงเวลาที่ครูฝึกกำหนดและต้องสื่อสารกันว่าจะกดปุ่มตอนไหน และดูเหมือนว่าการสื่อสารของพวกมันจะผิดพลาด ทำให้กดปุ่มไม่พร้อมกัน บางครั้งก็เลทไป 5-10 วินาทีเลย

การทดลองนี้ไม่ได้สังเกตแค่พฤติกรรมเท่านั้น แต่ยังใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยด้วย โลมาแต่ละตัวจะได้รับการติดตั้งอุปกรณ์แสดงการปล่อยเสียงและการเคลื่อนไหว ซึ่งจะถูกแปะไว้บริเวณด้านหลังช่องลม

นักวิจัยพบว่า เมื่อโลมาสัมผัสได้ถึงเสียงรบกวนของมนุษย์ ระดับเสียงของการสื่อสารจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เสียงหวีดแหลมเล็กจะหวีดสูงขึ้น ดังขึ้น แทบจะเป็น 2 เท่าของการสื่อสารระดับธรรมดาเพื่อให้พวกมันสื่อสารกันได้ และในบางครั้งเสียงก็ไม่ได้ผลในการสื่อสารจนทำให้พวกมันต้องคุยกันเป็นภาษากายแทน โลมาทั้ง 2 พยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผลการทดลองได้สรุปออกมาว่า การสื่อสารของพวกมันสำเร็จเพียงแค่ 62.5% เท่านั้น จากความคาดหวัง 85%

เสียงอ่อนไหวต่อสัตว์น้ำ

กลุ่มนักวิจัยเล่าว่า เสียงสามารถเดินทางผ่านน้ำได้เร็วกว่าอากาศอีกนะ ถึง 4.5 เท่าแหนะ นั่นหมายความว่า สิ่งมีชีวิตในทะเลอาศัยเสียงเป็นสัญญาณสำคัญในการเดินทาง หาอาหาร และหลีกเลี่ยงผู้ล่าจากการใช้เสียงสะท้อนวัตถุและการเคลื่อนไหวในทะเล ดังนั้น การรับเสียงของพวกมันจึงอ่อนไหวมาก ๆ

สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและปลาสามารถได้ยินเสียงในระดับความถี่ต่ำ ในขณะที่สัตว์จำพวกวาฬ สามารถได้ยินความถี่สูงได้มากถึง 200 kHz ที่เปรียบเสมือนโซนาร์ในการจับวัตถุเคลื่อนไหว หาอาหารและหลีกเลี่ยงผู้ล่า มีเพียงวาฬหลังค่อมเท่านั้นที่สามารถได้ยินไกลถึง 16,000 กิโลเมตร

งานวิจัยเผย โลมากำลังตะโกนคุยกัน เพราะกิจกรรมทางน้ำของมนุษย์ดังเกินไป

กิจกรรมทางน้ำของมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของสัตว์น้ำ

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ภูมิทัศน์ของเสียงใต้น้ำได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หลายน่านน้ำทั่วโลกถูกครอบงำไปด้วยมลพิษทางเสียงใต้น้ำ ตั้งแต่การขนส่งทางเรือ กิจกรรมการละเล่นทางน้ำ การสำรวจคลื่นไหวสะเทือน เหมืองใต้น้ำ การขุดเจาะน้ำมัน และฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของเสียงเหล่านี้นำไปสู่การเกยตื้น การเจ็บป่วย และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์น้ำ

อีกทั้งการศึกษาอีกชิ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็พบว่า วาฬสัมผัสได้ถึงแรงไหว ที่ใช้ในการสำรวจอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ พวกมันจะเริ่มดำน้ำทันทีเพื่อหนีออกจากเสียงรบกวนนั้น

นักวิทย์ยังมีความหวังกับความพยายามของมนุษย์ในการบรรเทาผลกระทบนี้ เช่น การใช้โครงสร้างตาข่ายฟองรอบไซต์ก่อสร้างเพื่อกลบเสียงบางอย่าง เช่น เสียงเครื่องยนต์เรือ ดังนั้น ต่อจากนี้เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์น้ำ มนุษย์จะต้องหาทางลดเสียงใต้มหาสมุทรลง หรือไม่ก็หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำได้

ที่มาข้อมูล

The Guardian

BBC

Current Biology

related