svasdssvasds

ผลกระทบของมลพิษทางเสียงใต้ทะเลจากกิจกรรมของมนุษย์ เสียงมหาสมุทรคืออะไร?

ผลกระทบของมลพิษทางเสียงใต้ทะเลจากกิจกรรมของมนุษย์ เสียงมหาสมุทรคืออะไร?

เมื่อมาหสมุทรเต็มไปด้วยเสียงคำรามจากกิจกรรมของมนุษย์ สิ่งมีชีวิตจะอยู่ได้จริงเหรอ? Springnews ชวนเข้าใจปัญหามลพิษทางเสียงใต้ทะเล ที่กระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ

‘ฉันต้องการความเงียบ’

“ฉันอยากว่ายไปอาร์กติก ที่นั่นก็ร้อนเหลือเกิน ฉันอยากว่ายไปทะเลจีนใต้ที่นั่นก็มีการทำประมงเยอะจนฉันกลัว ฉันว่ายไปทางไหนฉันก็เจอแต่เสียงดังก้องเต็มไปหมดเลย ฉันหาอาหารยากมากเพราะสัตว์น้ำน้อยใหญ่ต่างพากันหนีและซ่อนตัวจากเสียงวุ่นวายด้านบน ฉันหิวเหลือเกินและฉันไม่ชอบเสียงดังแบบนี้เลย หากวาฬและสัตว์น้ำต่างๆพูดได้ คงพูดแบบนี้กระมัง”

วาฬหลังค่อม

ท้องทะเลและมหาสมุทรทุกวันนี้เต็มไปด้วยเสียงคำรามจากทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเสียงเครื่องยนต์ของเรือประมง เรือท่องเที่ยว เสียงโซนาร์จับสัญญาณใต้ทะเล เสียงของการก่อสร้างบนชายหาด เสียงขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และอีกมากมายที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ กำลังทำให้พื้นที่หากินของสัตว์แคบลง

มนุษย์เราเองมักมีปัญหาทางจิตวิทยาบ้างหรือสภาพแวดล้อมบ้างในวลีที่ว่า ‘บ้านไม่ใช่ Safe Zone ของทุกคน’ สัตว์น้ำก็เช่นเดียวกัน เมื่อบ้านที่อาศัยอยู่นั้นไม่มี Safe Zone ให้ไปอาศัยล่ะ จะทำอย่างไรดี?

Springnews บทความนี้ชวนมาทำความเข้าใจกับผลกระทบของเสียงในมหาสมุทร มลพิษสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่แก้ไขได้ แต่จะแก้ไขอย่างไรได้บ้างนั้น ผู้เขียนอยากชวนทำความเข้าใจกับแหล่งที่มาของเสียงก่อนว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร จากอะไรบ้าง และมันเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมมันถึงทำร้ายสัตว์น้ำได้?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสียงมหาสมุทรคืออะไร เกิดอะไรขึ้น?

ข้อมูลจาก NOAA (องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ) ได้นิยามเสียงของมหาสมุทรไว้ว่า มันคือเสียงที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่สามารถแทรกแซงหรือกลบความสามารถของสัตว์ทะเลได้

สิ่งมีชีวิตในทะเลจำนวนมาก อาศัยความสามารถในการได้ยินเพื่อความอยู่รอด เสียงเป็นวิธีการสื่อสารใต้น้ำที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นวิธีหลักที่สัตว์ทะเลหลายชนิดใช้ดำรงชีวิตให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของพวกมัน สัตว์น้ำหลายชนิดใช้เสียงในการหาเหยื่อ หาคู่และสร้างครอบครัว หลีกเลี่ยงจากผู้ล่า นำทางและค้นหาที่อยู่อาศัย ตลอดจนฟังและใช้ในการสื่อสารซึ่งกันและกัน

ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา กิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเดินเรือ การพายเรือเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ และการสำรวจพลังงานได้เพิ่มขึ้นตามแนวชายฝั่ง นอกชายฝั่งและสภาพแวดล้อมในมหาสมุทรลึก เสียงรบกวนจากกิจกรรมเหล่านี้สามารถเดินทางไกลใต้น้ำ นำไปสู่การเพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของระดับเสียงในมหาสมุทร

ระดับเสียงที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ อาจส่งผลเสียต่อสัตว์ทะเลและระบบนิเวศ ระดับเสียงที่สูงขึ้นสามารถลดความสามารถในการสื่อสารของสัตว์เพื่อการดำรงอยู่

มีข้อมูลอะไรบ่งชี้บ้าง?

มีบทความหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Science เรื่อง “Soundscape of the Anthropocene Ocean” ที่ได้กล่าวถึงผลกระทบที่สะท้อนให้เรา ๆ ได้ทราบว่า มลพิษทางเสียงใต้น้ำสามารถเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในมหาสมุทรได้เช่นเดียวกับมลพิษอื่นๆ

ผู้เขียนบทความนี้คือ Carlos M.Duarte ศาสตราจารย์จากมาหวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี King Abdulla (KAUST) ของซาอุดิอาระเบีย เขากล่าวว่า

ในช่วง 200-300 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงร่องเสียงมหาสมุทรอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยการเดินทางของเรือ การทำประมงเชิงอุตสาหกรรม การก่อสร้างชายฝั่ง การขุดเจาะน้ำมัน การสำรวจคลื่นไหวสะเทือน การทำสงคราม การทำเหมือนใต้ทะเล และการนำทางด้วยโซนาร์ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ มลพิษทางเสียงใต้น้ำไม่ได้รับความสนใจเท่ากับบนพื้นดิน แต่เขามั่นใจว่า เราสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ไม่ต้องรอให้มันแย่

ทีมนักวิจัยระดับโลกของ Duarte ได้รวบรวมบทความทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 10,000 เรื่องเกี่ยวกับเสียงทะเลและผลกระทบของเสียงทะเลต่อสัตว์ป่า และพบหลักฐานอย่างท่วมท้นว่าเสียงที่มนุษย์สร้างขึ้น ส่งผลเสียต่อสัตว์ทะเลและระบบนิเวศของพวกมัน กระทบต่อพฤติกรรม สรีรวิทยา การสืบพันธุ์และในกรณีร้ายแรงทำให้เกิดการตาย

การเดินเรือเพียงอย่างเดียวมีส่วนทำให้เสียงความถี่ต่ำเพิ่มขึ้นประมาณ 32 เท่าตลอดเส้นทางเดินเรือหลักในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สัตว์ทะเลไม่ต้องอาศัยแหล่งเพาะพันธุ์และแหล่งอาหารที่สำคัญ แต่แม้กระทั่งการจราจรบนบก บนโครงสร้างอย่างสะพานหรือสนามบินชายฝั่ง ก็สามารถสร้างเสียงรบกวนในระดับต่ำและต่อเนื่องได้ซึ่งสามารถทะลุผ่านใต้น้ำได้

สรุปให้เข้าใจ สัตว์น้ำได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง?

  • หาคู่ไม่ได้
  • หาอาหารไม่ได้
  • ต้องอพยพหาที่เงียบสงบ
  • สื่อสารกันยาก
  • ไม่มีที่อยู่อาศัย
  • สุขภาพของสัตว์น้ำแย่
  • ผู้ล่าล่าเหยื่อไม่ได้
  • ระบบการนำทางแย่
  • หลีกเลี่ยงจากผู้ล่ายากจากการถูกจำกัดเขตของเสียงรบกวน
  • เสียชีวิต
  • ที่อยู่อาศัยหดตัวแคบลง
  • ลดจำนวนประชากรสัตว์น้ำ
  • สภาพแวดล้อมของระบบนิเวศมหาสมุทรแย่ตาม ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง

สรุปง่ายๆ กิจกรรมใดก่อเสียงรบกวนบ้าง?

  • การเดินเรือมหาสมุทร
  • การทำประมงเชิงอุตสาหกรรม
  • การทำประมงแบบไดนาไมต์ คือใช้ระเบิดเพื่อทำให้ปลาตกใจ
  • การก่อสร้างตามชายฝั่ง
  • การขุดเจาะน้ำมัน แหล่งพลังงานและก๊าซธรรมชาติ
  • การทดสอบระเบิดและนิวเคลียร์ทางการทหาร
  • คลื่นโซนาร์สำรวจใต้ทะเล
  • การสำรวจคลื่นไหวสะเทือน
  • เครื่องบินที่บินเหนือทะเลในระยะใกล้
  • การทำสงคราม
  • การทำเหมืองใต้ทะเล
  • เสียงกิจกรรมมนุษย์บนชายหาดและพื้นที่ใกล้ทะเล เช่น คอนเสิร์ต

แก้ไขได้ไหม อย่างไร?

ตามที่ Dr.Duarte เชื่อมั่นว่าเขาสามารถเผยวิธีแก้ไขปัญหานี้ได้ เขาเสนอว่า มลพิษทางเสียงนี้ ไม่เหมือนกับแรงกดดันอื่นๆ เช่น ภาวะโลกร้อนหรือมลภาวะทางเคมีที่จะต้องใช้เวลาหลายปีในการแก้ไข ทันทีที่เราปิดเสียงรบกวน ผลกระทบจะหายไป

การฟื้นตัวจะเกิดขึ้นเกือบจะในทันที โดยชี้ไปที่การสำรวจสิ่งมีชีวิตในทะเลที่ดำเนินการประมาณวันที่ 5 เมษายน 2020 เมื่อ 60% ของประชากรโลกอยู่ภายใต้รูปแบบการล็อกดาวน์บางรูปแบบ เขาบอกว่าเสียงมหาสมุทรลดลง 20%

“เราเริ่มเห็นสัตว์ทะเลกลับมาสู่แหล่งน้ำที่เคยพลุกพล่านซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน 20% นั้นเพียงพอสำหรับการตอบสนองที่น่าทึ่งและเกือบจะในทันทีของสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ที่เข้ามาใกล้ฝั่งและอ้างสิทธิ์ในอาณาเขตของบรรพบุรุษของพวกเขากลับคืนมา”

สิ่งที่จำเป็นที่สุด คือการควบคุมที่ดีกว่า “จำเป็นต้องมีนโยบายที่กำหนดให้มีการลดเสียงในสภาพแวดล้อมทางทะเล เรามีมาตรฐานด้านเสียงสำหรับรถยนต์และรถบรรทุก เหตุใดเราจึงไม่ควรมีมาตรฐานดังกล่าวสำหรับเรือ”

เขาต้องการสร้างกฎหมายควบคุมมลพิษทางเสียงกับเรือเป็นส่วนใหญ่ สรุปจากผู้เขียน

มลพิษทางเสียงในมหาสมุทร ถือเป็นอีกมลพิษหนึ่งที่มีความสำคัญมากๆในการรักษาระบบนิเวศทางทะเลให้สมบูรณ์ ข้อมูลงานวิจัยของ Duarte เผยว่า ปัญหาต่างๆเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ เสียงรบกวนบางอย่าง มนุษย์เรายังไม่ชอบเลย เช่น เสียงเครื่องยนต์รถที่ดังๆ เสียงก่อสร้างอาคารในยามเช้า เสียงพูดคุยซุบซิบๆในร้านอาหาร สำหรับบางคนแล้วแทบจะเกลียดเสียงเหล่านี้มากๆ แต่ถ้าสัตว์น้ำก็รู้สึกเช่นเดียวกันล่ะ แล้วถ้าสัตว์น้ำก็กำลังเผชิญกับวิกฤตเสียงเช่นกันล่ะ มันทำอะไรได้บ้างไหม

ตามสัญชาติญาณมันคงว่ายหนีไปหาที่เงียบๆ แต่ที่เงียบๆนั้นอาบจะไม่มีแล้ว บางที่ไปก็เจอแต่นักล่าที่หลบเสียงดังมาเหมือนกัน ไปทางไหนก็แย่ ดังนั้นงานวิจัยของ Duarte มุ่งหาวิธีแก้ วิธีแก้ของเขาเสนอว่า เราต้องปิดเสียงรบกวนให้หมด

โดยมีรายงานผลในช่วงการระบาดของโควิด-19แล้วคนต้องกักตัว เสียงรบกวนในทะเลลงไปเยอะมากเลย จึงทำให้ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์มากขึ้นในช่วงนั้น นอกจากนีเขายังเสนอให้มีการออกนโยบายควบคุมจำกัดความดังของเสียงในบริเวณน่านน้ำ เพราะขนาดบนท้องถนนหรือบนบกยังมีกฎหมายควบคุมความเร็วและความดังได้เลย ทำไมในน้ำจะทำไม่ได้

โลกร้อนขึ้นทุกวัน และปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็ย่ำแย่ การอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ในปัจจุบันก็ยิ่งลำบากมากขึ้น ไม่ว่าจะกับคนหรือกับสัตว์ การช่วยเหลือเกื้อกูนกันนั้นดีที่สุด สภาพแวดล้อมดี อุดมสมบูรณ์ มนุษย์ก็จะมีทรัพยากรหมนุเวียนเพียงพอในการดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ที่มาข้อมูล

https://www.theguardian.com/environment/2022/apr/12/ocean-of-noise-sonic-pollution-hurting-marine-life

https://time.com/5936110/underwater-noise-pollution-report/

https://www.dhigroup.com/areas-of-expertise/environment-and-ecosystems/managing-the-impacts-of-underwater-sound

https://ngthai.com/environment/34175/marine-noise-pollution/

https://www.science.org/doi/10.1126/science.aba4658

https://oceanservice.noaa.gov/facts/ocean-noise.html

related