svasdssvasds

กลับสู่วิถีเดิม วาฬเพชฌฆาตกลับมาล่าวาฬสีน้ำเงิน หลังพ้นยุคมนุษย์ล่าวาฬ

กลับสู่วิถีเดิม วาฬเพชฌฆาตกลับมาล่าวาฬสีน้ำเงิน หลังพ้นยุคมนุษย์ล่าวาฬ

วงจรห่วงโซ่แบบเดิมเริ่มกลับมาแล้ว สำหรับวาฬเพชฌฆาตและวาฬสีน้ำเงิน คู่กัดต่างไซส์แห่งมหาสมุทร ศึกระหว่างวาฬที่ดุร้ายที่สุดปะทะวาฬที่ใหญ่ที่สุด ทำนักวิจัยเสียงแตก

ตามวิถีดั้งเดิมการออกล่าของวาฬเพชฌฆาตนั้น ในอดีตมีการรวมตัวกันเพื่อล่าสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่ามานานแล้วโดยเฉพาะวาฬสีน้ำเงิน แต่จำนวนของพฤติกรรมดังกล่าวนั้นได้ลดลงไปเนื่องจากในช่วงยุคล่าวาฬทำให้ประชากรวาฬสีน้ำเงินลดลงอย่างรวดเร็ว นักวิจัยอย่างคุณ Robert Pitman ผู้เผยแพร่งานวิจัยนี้เชื่อว่า เหตุการณ์นี้เป็นสัญญาณดีที่วาฬเพชฌฆาตเริ่มกลับมาล่าวาฬสีน้ำเงินเหมือนในอดีต เพราะวาฬมีเพียงพอให้พวกมันล่าจากการรอดพ้นยุคล่าวาฬโดยมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่ลดน้อยลงไป หรือเป็นสัญญาณของการฟื้นตัวของประชากรวาฬสีน้ำเงิน แต่ก็มีนักวิชาการบางส่วนเชื่อว่า อาจเป็นกระบวนการที่จะทำให้วาฬสีน้ำเงินสูญพันธุ์เร็วขึ้นเพราะประชากรของวาฬเพชฌฆาตนั้นมีเยอะมากขึ้น สงครามการล่าจึงอาจจะอุบัติถี่ขึ้นนั่นเอง

กลับสู่วิถีเดิม วาฬเพชฌฆาตกลับมาล่าวาฬสีน้ำเงิน หลังพ้นยุคมนุษย์ล่าวาฬ แม้ว่าที่ผ่านมาจะทราบกันอยู่แล้วว่าสัตว์ดุร้ายอย่างวาฬเพชฌฆาตนั้น มีการล่าวาฬสีน้ำเงินอยู่บ้างในบางครั้ง แต่เพราะขนาดตัวที่ใหญ่กว่าหลายเท่า ทำให้ยากที่จะล่า แต่ตอนนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว จากการสังเกตของนักวิจัยได้บ่งชี้ว่า วาฬเพชฌฆาตเริ่มรวมตัวออกหากินกันมากขึ้น ฝูงนึงมีจำนวนตั้งแต่ 30 ไปจนถึง 70 ตัว หรือมากกว่า เพื่อช่วยกันล่าวาฬสีน้ำเงิน สัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะอะไรกัน วงจรการล่าถึงเป็นเช่นนี้?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จากการเฝ้าสังเกตการณ์พบว่า...

นักวิจัยเริ่มทำการบันทึกการไล่ล่าของวาฬเพชฌฆาตฝูงหนึ่ง (Orcinus orca) ที่ได้ทำการโค่นวาฬสีน้ำเงิน (Balaenoptera musculus) ที่ตัวโตเต็มวัยกว่าพวกมันหลายเท่า พวกวาฬเพชฌฆาตได้ทำการบุกโจมตีวาฬสีน้ำเงินสามครั้ง โดยการล่าครั้งแรกเริ่มเมื่อเดือนมีนาคม 2019 บริเวณอ่าวเบรเมอร์ รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย และนักวิจัยก็เริ่มบันทึกการไล่ล่ามาตั้งแต่ช่วงระหว่างปี 2019 – 2021 โดยแต่ละครั้งที่โจมตีจะมีจำนวนวาฬเพชฌฆาตตั้งแต่ 30-75 ตัว หรือมากกว่า ช่วยกันโจมตี ตามการศึกษาที่ตีพิมพ์แบบออนไลน์เมื่อวันที่ 21 มกราคมในวารสาร Marine Mammal Science

การโจมตีสองครั้งแรกเป็นลูกวาฬและวาฬอ่อนวัยอายุราว 1 ปี ส่วนครั้งที่ 3 เป็นการโจมตีวาฬตัวโตเต็มวัย ความยาวประมาณ 18-21 เมตร และสำเร็จเสียด้วย

หรือพูดง่ายๆก็คือ ตลอด 3 ปีที่นักวิจัยเฝ้าสังเกตและบันทึกมา พบว่าพวกมันไล่ล่าวาฬมาแล้ว 3 ครั้งในพื้นที่ๆเดียว การล่าครั้งหนึ่งใช้เวลาประมาณ  15-20 นาที และครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นใน 16 วันถัดมา แต่การล่าครั้งสุดท้ายกินเวลา 3 ชั่วโมงเพราะเป็นตัวเต็มวัย จนวาฬตัวนั้นตาย แต่ระหว่างนั้น วาฬสีน้ำเงินทำได้เพียงแค่ตบและปัดหางของมันไปมา ตามกลไกการป้องกันตัว แม้ว่ามันจะดิ้นทุรนทุรายยังไงก็ตาม น้ำทะเลบริเวณนั้นก็กลายเป็นสีเลือดไปแล้ว

ด้านล่างนี้คือคลิปเหตุการณ์ที่วาฬเพชฌฆาตจู่โจมวาฬสีน้ำเงิน >>>

วิธีการของพวกมันนั้นเหมือนจะโหดร้ายเป็นพิเศษกว่าสัตว์อื่นๆที่พวกมันล่า วาฬเพชฌฆาตบางตัวกระโดดขึ้นไปบนช่องลมของวาฬสีน้ำเงิน และกัดลากเพื่อบังคับให้ลงมาใต้น้ำ ร่องรอยที่พบจากการตรวจสอบสภาพร่างของวาฬสีน้ำเงิน คือ ครีบส่วนใหญ่ถูกกัดแหว่ง มีบาดแผลลึกจนเผยให้เห็นกระดูกบนพลับพลาหรือจมูกของมัน การเนื้อบางส่วนถูกกัดจนฉีกขาดเป็นชิ้นๆกระจัดกระจาย พอพวกมันรุมทึ้งเสร็จก็แยกย้ายกันเป็นเป็นฝูงขนาดย่อม นอกจากนี้หากวาฬสีน้ำเงินตัวไหนมีลูกติดอยู่จะเป็นเป้าหมายแรกของการโจมตี แต่แน่นอนว่าต้องผ่านด่านแม่ของมันไปก่อน

แม่ลูกจะเป็นเป้าหมายที่ดีในการจู่โจมของวาฬเพชฌฆาต พฤติกรรมของกลุ่มวาฬเพชฌฆาตนักฆ่านั้นแปลกประหลาดนิดหน่อยตรงที่มีเพศเมียเป็นจ่าฝูง ดังนั้นจึงมีแนวโน้มมากกว่าที่ตัวเมียจะเป็นผู้สั่งโจมตีและกินเหยื่อที่ล่ามาเยอะที่สุดต่อการล่าหนึ่งครั้ง เพราะต้องการอาหารมาให้ลูกของมันมากกว่าตัวผู้ที่โตเต็มวัย อีกทั้งอายุขัยของพวกมันยืนยาวพอๆกับมนุษย์ จึงทำให้พวกมันมีเวลาเคี้ยวกรำฝีมือจนช่ำชอง

จุดประสงค์ของการวิจัยนี้ มุ่งเน้นไปที่ความจำเป็นในการทำความเข้าใจนิเวศวิทยาของประชากรวาฬเพชฌฆาตมากขึ้น เพื่อให้เราสามารถระบุผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในน่านน้ำของออสเตรเลียได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ จอห์น ท็อตเตอ์เดลล์ (John Totterdell) ผู้ทำการวิจัยครั้งนี้กล่าวว่า “พวกมันดุร้ายและชอบกินปลาหมึก ปลา และวาฬจงอย ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จำนวนวาฬจงอยที่ถูกจับได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ มีข้อเสนอแนะว่าการล่าวาฬเพชฌฆาตขัดขวางการฟื้นตัวของประชากรวาฬสีเทาในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ แต่ในออสเตรเลีย เนื่องจากวาฬหลายสายพันธุ์ตกเป็นเป้าหมายของวาฬเพชฌฆาต ผลกระทบของการล่าวาฬต่อประชากรเหล่านี้จึงยังไม่ทราบแน่ชัด”

Orcas หรือ วาฬเพชฌฆาต เป็นสมาชิกที่ใหญ่ที่สุดของตระกูลปลาโลมา แต่ได้รับการขนานนามว่า "วาฬเพชฌฆาต" โดยกะลาสีโบราณที่สังเกตเห็นกลุ่มของ orcas ที่ล่าวาฬสายพันธุ์ที่ใหญ่กว่า ตามรายงานของ Whale and Dolphin Conservation ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

พฤติกรรมเหล่านี้มีความสุ่มเสี่ยงต่อการลดลงของประชากรวาฬสีน้ำเงิน เนื่องจาก ตามรายงานของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล วาฬสีน้ำเงินนั้นเสี่ยงเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ภัยคุกคามหลักต่อการอยู่รอดของพวกมัน ได้แก่ วิกฤตสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย และการไปติดตามตาข่ายจับปลาของชาวประมง พฤติกรรมการล่าของวาฬเพชฌฆาตนั้นอาจจะกลายมาเป็นปัจจัยเพิ่มเติมของการเร่งให้จำนวนประชากรวาฬสีน้ำเงินลดลงอย่างรวดเร็ว

วาฬเพชฌฆาตออกล่ากันเป็นฝูง และไม่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นข้อดีหรือข้อเสียในการโต้เถียงของนักวิจัย แต่มันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว คงต้องรอสังเกตการณ์กันต่อไปถึงสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นนี้ว่าจะอยู่ได้นานเพียงใดและจะยั่งยืนอย่างสมดุลหรือไม่

ไขข้อสงสัยทำไมประชากรวาฬถึงลดลง และทำไมการล่าวาฬสีน้ำเงินของวาฬเพชฌฆาตถึงหายไป

ในช่วงศตวรรษที่ 20 วาฬสีน้ำเงินถูกมนุษย์ล่าจนเกือบสูญพันธุ์ โดยในสมัยนั้นผู้คนมีความต้องการน้ำมันของวาฬมาใช้ และเนื้อของมันมาทำอาหาร จึงมีการล่าวาฬเชิงมาพิชย์มากขึ้นเพราะขายได้ราคาดี ในช่วงกลางทศวรรษ 1960 เริ่มมีการเล็งเห็นว่าการล่าวาฬที่มากเกินไปนั้นสุ่มเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ในเวลาอันใกล้และวิธีการล่าที่โหดร้าย จึงเกิดการเรียกร้องเพื่อปกป้องวาฬชนิดนี้ขึ้น

แม้ว่าการล่าวาฬเชิงพาณิชย์จะหยุดชะงักลงในปี 1966 แต่ความพยายามแสวงหาประโยชน์จากอดีตสหภาพโซเวียตนั้นยังคงดำเนินการล่าวาฬต่อไป จนในปี 1986 คณะกรรมการควบคุมการล่าวาฬนานาชาติ IWC (International Whaling Commission) ได้สั่งห้ามล่าวาฬเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ทำให้ความต้องการวาฬลดลง

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมของการลดจำนวนวาฬคือภัยคุกคามจากการโจมตีทางเรือ การกินขยะพลาสติก การพัวพันกับอุปกรณ์ตกปลาของชาวประมง และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการลดลงของอาหารวาฬ ซึ่งขณะนี้มีประชากรวาฬสีน้ำเงินอาศัยอยู่ทั่วโลกประมาณ 10,000-25,000 ตัว

เกร็ดความรู้เรื่องวาฬเพชฌฆาต

ลักษณะเด่น : วาฬเพชฌฆาตมีลักษณะเด่นคือสีดำขาว ส่วนหลังจะเป็นสีดำและส่วนอก บริเวณดวงตาและท้องจะเป็นสีขาว ลำตัวมีขนาดใหญ่และแข็งแรง โดยทั่วไปตัวผู้จะมีความยาวประมาณ 6-8 เมตร น้ำหนักประมาณ 6-7 ตัน ส่วนตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าไม่มากนัก แต่บางตัวอาจยาวได้สูงสุดประมาณ 10 เมตร หนัก 10 ตันได้เลยทีเดียว ความเร็วในการว่ายน้ำประมาณ 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

พฤติกรรม : เป็นสัตว์สังคมที่มีพฤติกรรมซับซ้อน มีตัวเมียเป็นจ่าฝูง ตัวเมียมีอายุเฉลี่ย 50-60 ปี บางตัวยืนยาวได้ถึง 910 ปี ส่วนตัวผู้อายเฉลี่ยเพียงแค่ 29 ปี สุงสุดคือ 60 ปี พวกมันกินอาหารต่อวันราว 227 กิโลกรัมต่อวัน และไม่เคยนอนหลับเลย แต่จะว่ายช้าๆเพื่อพักผ่อนแทน

การล่า : อาหารส่วนใหญ่จะเป็น ฉลาม โลมา แมวน้ำ สิงโตทะเล เพนกวิน ใหญ่สุดก้วาฬสีน้ำเงิน หรือวาฬอื่นๆที่ตัวใหญ่กว่า จึงได้ชื่อว่าเป็นวาฬที่ดุร้ายที่สุดในโลก

วาฬสีน้ำเงินมีขนาดเท่าช้าง 33 เชือกเชียวนะ เกร็ดความรู้เรื่องวาฬสีน้ำเงิน

ลักษณะเด่น : สัตว์สายพันธุ์วาฬที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลก สัตว์เลือดอุ่น ลำตัวยาวประมาณ 27-29 เมตร ใหญ่สุดเท่าที่เคยพบคือ 34 เมตร เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักประมาณ 100-200 ตันหรือเท่ากับช้าง 33 เชือก หัวใจของวาฬสีน้ำเงินมีขนาดเท่ากับรถ Volkswagen Beetle

พฤติกรรม : มีทั้งการรวมกลุ่มประจำถิ่น และบางกลุ่มก็อพยพไปเรื่อยๆ เพื่อหาอาหารและการผสมพันธุ์ มีอายุขัยประมาณ 70-90 ปี ใช้คลื่นเสียงในการหาอาหารและหาคู่ หรือการหลีกเลี่ยงนักล่า เป็นสัตว์ที่มีคลื่นเสียงที่ดังและไกลที่สุดในโลก ราวๆ 188 เดซิเบล ในขณะที่เสียงพูดคุยปกติของเราอยู่ที่ราวๆ 60 เดซิเบล ดังขนาดที่ทำให้มนุษย์หูหนวกได้

การล่า : กินสัตว์น้ำตัวจิ๋วอย่างตัวเคยได้ถึง 3,600 กิโลกรัมต่อวัน โดยการตะแคงกินไปตามผิวน้ำ หรือ Side Feeding บางครั้งก็ดักจับเหยื่อโดยใช้ฟองอากาศ หรือเรียกว่า Bubble-net feeding พ่นฟองอากาศใส่ฝูงปลาขนาดเล็ก มีหน้าที่คล้ายตาข่ายดักปลาให้อยู่ในวงล้อมและพุ่งเข้าเขมือบ

ที่มา

https://edition.cnn.com/2022/02/06/australia/orcas-hunt-kill-adult-blue-whale-intl-scli/index.html

https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/mms.12906]

https://ngthai.com/animals/39831/orcas-can-kill-blue-whales/

https://pet.kapook.com/view51686.html

http://www.plookfriends.com/blog/content/detail/90097/

https://phuketaquarium.org/knowleadge/%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%AC%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%8C%E0%B8%86%E0%B8%B2%E0%B8%95/

https://hmong.in.th/wiki/Killer_whale

https://www.livescience.com/orcas-hunt-and-kill-blue-whales

https://www.worldwildlife.org/species/blue-whale

https://www.fisheries.noaa.gov/species/blue-whale

 

related