svasdssvasds

ทำความรู้จักกับ ข้าวสรรพสี พันธุ์ข้าวใบสีชมพู

ทำความรู้จักกับ ข้าวสรรพสี พันธุ์ข้าวใบสีชมพู

ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวเชื่อว่า ข้าวใบสีม่วง ชมพู ที่พบในแปลงข้าวไรซ์เบอร์รี่เกิดจากการปนของข้าวสรรพสี ไม่ใช่การกลายพันธุ์ตามธรรมชาติอย่างที่แชร์กันในโลกออนไลน์

ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า การสันนิษฐานว่าข้าวเหล่านั้นเกิดจากการกลายพันธุ์จากข้าวไรซ์เบอร์รี่นั้น ยังมีความคลาดเคลื่อนทางวิชาการอยู่มาก การกลายพันธุ์เกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ(Spontaneous mutation) และ เกิดขึ้นจากการกระตุ้น(Induced mutation) โดยใช้กัมมันตภาพรังสี การใช้สารเคมีก่อการกลายพันธุ์ หรือ พันธุวิศวกรรม

ในสาเหตุแรกเกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินั้น จะเกิดขึ้นในอัตราที่ต่ำมาก และใช้เวลานานจึงจะสะสมการกลายพันธุ์ จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลักษณะใหม่ขึ้น โดยมากมักจะคงลักษณะของสายพันธุ์เดิมเอาไว้ และเมื่อถอดรหัสจีโนมจะพบว่ามีความเหมือนกับพันธุ์เดิมของมันมาก เช่น การเกิดข้าวหอมมะลิแดงจากข้าวหอมมะลิ 105 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก

ส่วนการก่อการกลายพันธุ์นั้น รังสีหรือสารเคมีจะกระตุ้นให้จีโนมกลายพันธุ์ไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้นักปรับปรุงพันธุ์สามารถคัดเลือกพันธุ์กลายที่มีทั้งดีและไม่ดี ยกตัวอย่าง เช่น การเกิดข้าวเหนียว กข 6 และ กข 15 โดยการอาบ Gamma ray(รังสีแกมมา) เพื่อถอดรหัสจีโนมดูจะพบว่ามีความแตกต่างจากพันธุกรรมดั้งเดิมมากกว่า

ทำความรู้จักกับ ข้าวสรรพสี พันธุ์ข้าวใบสีชมพู

การกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ ลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการก่อกลายพันธุ์ คือ ต้องใช้เวลานานในการสร้าง ความนิ่ง และความสม่ำเสมอ จากภาพที่ปรากฏในสื่อออนไลน์พบว่า ข้าวมีความสม่ำเสมอสูงในเวลาอันรวดเร็วจนสามารถขยายเมล็ดพันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก ข้าวไรซ์เบอร์รี่เกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวเจ้าหอมนิลและข้าวขาวดอกมะลิ 105 ไม่เคยมีการใช้สารก่อกลายพันธุ์แต่อย่างใด และได้รับคัดเลือกให้มีความสม่ำเสมอและคงตัวจนได้รับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในการขยายพันธุ์ต้นแบบมาตลอด ไม่เคยพบข้าวกลายพันธุ์ในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด ขั้นตอนที่สำคัญ คือ การตรวจสอบสารพันธุกรรม (DNA)

ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว จึงตั้งสมมติฐานว่าข้าวใบสีม่วง-ชมพูทั้งต้น เกิดจากเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน มีเมล็ดปนจากข้าวสายพันธุ์ที่มีลักษณะดังกล่าวแม้จะมีจำนวนน้อย แต่หากไม่ได้ถูกกำจัดไประหว่างขบวนการขยายพันธุ์พืช ก็จะเพิ่มจำนวนได้จนปรากฏให้เห็น ที่สำคัญ ข้าวสีม่วง-ชมพูดังกล่าว ไม่เหมือนข้าวไรซ์เบอร์รี่แต่อย่างใด ตั้งแต่ทรงกอ ทรงใบ วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว คุณภาพหุงต้ม ความต้านทานโรค มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

ข้าวที่สวยงามเหล่านี้มาจากอะไร ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวและหน่วยค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ได้ใช้กระบวนการอาบรังสีด้วยระบบ Fast Neutron มาตั้งแต่ปี 2552 โดยใช้ข้าวเจ้าหอมนิลจำนวน 1 แสนเมล็ด และทำการสร้างห้องสมุดข้าวกลายพันธุ์ จำนวนมากกว่า 20,000 สายพันธุ์ ที่ค่อนข้างนิ่งเอาไว้ ในระหว่างนั้นก็ไม่พบข้าวใบสีม่วง-ชมพูแต่อย่างใด แต่พบการเกิดใบขาวขีดตามยาวแทรกตัวอยู่ระหว่างเส้นใบสลับสีเขียวและได้แยกออกมาจนสม่ำเสมอ ให้ชื่อว่า เจ้าหอมนิลลายคาดขาว

นักปรับปรุงพันธุ์ของเราได้นำเอาข้าวเจ้าหอมนิลลายคาดขาวไปผสมพันธุ์ กับ ข้าวใบสีม่วงทั้งต้น คือ ข้าวก่ำหอมนิล ซึ่งเป็นลูกผสมของ ข้าวก่ำดอยสะเก็ดและข้าวเจ้าหอมนิล มาตั้งแต่ ปี 2549 ทำการคัดเลือกรูปลักษณ์ เฉดสี รูปแบบ และทรงใบ ให้เหมาะสมกับการใช้ประดับ และตั้งชื่อว่า “ข้าวสรรพสี” ที่มีลักษณะ ใบสีม่วง ชมพู ทั้งต้น ซึ่งในระยะแรกได้พัฒนาสายพันธุ์นิ่งแล้วจำนวน 5 สายพันธุ์ ในปี 2556

ทำความรู้จักกับ ข้าวสรรพสี พันธุ์ข้าวใบสีชมพู

ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวเชื่อว่า ข้าวใบสีม่วง ชมพู ที่พบในแปลงข้าวไรซ์เบอร์รี่เกิดจากการปนของข้าวสรรพสี ไม่ใช่การกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ เพราะไม่เคยมีปรากฏว่าพบข้าวสีม่วง ชมพู ที่ไหนในโลกมาก่อน แม้จากข้าวก่ำพื้นเมืองที่มีสีม่วงเข้มทั้งต้นก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ดังนั้นข้าวดังกล่าวเป็นผลจากการผสมและคัดเลือกพันธุ์ โดยนักปรับปรุงพันธุ์เท่านั้น ดังนั้นการกล่าวว่าเป็นการกลายพันธุ์จากข้าวไรซ์เบอร์รี่ แท้จริงจึงเป็นไปได้ยาก

คำแนะนำสำหรับผู้เป็นเจ้าของสายพันธุ์ข้าวใหม่ ให้ผู้ค้นพบขอคำแนะนำจาก สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ซึ่งดูแลเข้าถึงพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชใหม่ รวมทั้งกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ก่อนจะทำการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ได้อย่างถูกกฎหมายต่อไป

สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว

ทำความรู้จักกับ ข้าวสรรพสี พันธุ์ข้าวใบสีชมพู ทำความรู้จักกับ ข้าวสรรพสี พันธุ์ข้าวใบสีชมพู

related