svasdssvasds

กรมราชทัณฑ์ เร่งแผนใช้ “ลาดยาวโมเดล” แก้โควิดในเรือนจำ สกัดแพร่เชื้อเพิ่ม

กรมราชทัณฑ์ เร่งแผนใช้ “ลาดยาวโมเดล” แก้โควิดในเรือนจำ สกัดแพร่เชื้อเพิ่ม

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยยอดผู้ติดเชื้อในราชทัณฑ์ ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มีหลักพัน แต่ทุกคนอยู่ในกระบวนการรักษาตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข และจะใช้ ลาดยาวโมเดล แก้ปัญหาโควิดเรือนจำ อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์ได้งบรับมือโควิด19 แค่เพียง 750,000 บาทเท่านั้น

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ยอดผู้ติดเชื้อ (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2564) พบผู้ติดเชื้อโควิด19 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 1,794 ราย ทัณฑสถานหญิงกลาง 1,039 ราย  ซึ่งเป็นยอดผู้ติดเชื้อรวมตั้งแต่เริ่มมีการระบาดระรอกใหม่ในเดือนเมษายนเป็นต้นมา และผู้ติดเชื้อทั้งหมด ได้รายงานไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แล้ว

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำจะดำเนินการย้ายผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายในทันที และจะมีการแจ้งไปยังญาติผู้ต้องขังเป็นการเฉพาะราย  ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ต้องขังว่าต้องการแจ้งญาติหรือไม่

พร้อมทั้งเร่งขยายผลการสอบสวนโรคจากผู้ติดเชื้อดังกล่าวไปยังผู้ต้องขังที่อยู่ในระยะพื้นที่รับเชื้อทุกราย โดยจะตรวจซ้ำยืนยันภายใน 7 วัน และ 14 วัน และในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการหรือเป็นกลุ่มสีเขียว เรือนจำใดที่มีจำนวนผู้ต้องขังติดเชื้อจำนวนมากสามารถขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่เรือนจำภายใต้ความเห็นชอบของฝ่ายปกครองพื้นที่สาธารณสุขจังหวัด

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์  เปิดเผยอีกว่า กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว
1. Bubble and Seal เรือนจำที่มีการระบาดใหญ่จะลดการรับตัวผู้ต้องขังรายใหม่ลง  2. คัดกรองรายใหม่ก่อนเข้าเรือนจำ 3. เจ้าหน้าที่เรือนจำทุกแห่งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้กำชับให้อยู่ในพื้นที่บ้านพักลดการสัมผัสกับครอบครัว และต้องเข้ารับตรวจ Swab ค้นหาการติดเชื้อที่อาจรับเชื้อมาโดยไม่รู้ตัวโดยวิธี RT- PCR ทุก 14 วัน

ขณะที่ นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลในการแพร่ระบาดครั้งนี้ คือเรื่องของสายพันธ์ที่มีความไวต่อการติดเชื้อได้สูง แสดงอาการช้า และมีภาวะแทรกซ้อนอันตราย   ซึ่งนับเป็นเรื่องใหม่ที่กรมราชทัณฑ์ต้องเผชิญ อีกทั้งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ อาจจะมีบุคลากรเฉพาะด้านที่ไม่เพียงพอกับการดูแลผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งได้มีการเร่งจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือเพิ่มเติมได้แก่ เวชภัณฑ์ ยาต้านไวรัส Favipiravir ที่ยังอยู่ในระหว่างการขอรับการอนุเคราะห์จากกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์  

นายวีระกิตติ์ฯ กล่าวต่อว่า ด้วยการคัดกรองเชิงรุกแบบ 100% ในปัจจุบัน ซึ่งได้รับ การอนุเคราะห์รถพระราชทาน วิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ (PCR) มาสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ข้อมูล

โดยแผนดำเนินการหลังจากนี้ กรมราชทัณฑ์  จะเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลสนาม ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ให้สามารถรองรับผู้ป่วยระดับสีแดง อาการหนัก  โดยจะติดตั้งระบบ High Flow Oxygen และเครื่อง Ventilator ประมาณ 5 – 10 เตียง เพื่อรองรับไว้ และสำรองยาที่ใช้รักษาให้เพียงพอตลอด โดยเรียกการบริหารสถานการณ์ครั้งนี้ว่า “ลาดยาวโมเดล”

 

อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยเอกสาร เรื่อง การจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการดำเนินงานป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ปรากฏว่า งบประมาณเรือนจำทั่วประเทศ 142 แห่งได้งบเพียง 750,000 บาท  นั่นแปลว่า เฉลี่ยแล้วเรือนจำแต่ละแห่งจะได้ที่ละ 5,000 กว่าบาทเท่านั้น

ทั้งนี้  โดยประเทศไทยนั้นเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศจำนวน 143 แห่ง แบ่งออกเป็น การบริหารราชการส่วนกลาง ได้แก่ เรือนจำกลาง 33 แห่ง เรือนจำพิเศษ 4 แห่ง ทัณฑสถาน 24 แห่ง สถานกักกัน 1 แห่ง สถานกักขัง 5 แห่ง  การบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ เรือนจำจังหวัด 50 แห่ง เรือนจำอำเภอ 26 แห่ง   ขณะที่รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ สำรวจ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 พบว่า มีผู้ต้องราชทัณฑ์รวมทั้งสิ้น 310,830 ราย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ในห้องขังซึ่งทำมาตรการเว้นระยะห่างได้ยากมาก ดังนั้น อาจจะมีผู้ป่วยเพิ่มอีกขึ้นในอนาคต

related