svasdssvasds

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับ27 และ 29 ความหมายครอบจักรวาล จำกัดเสรีภาพสื่อ - ประชาชน?

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับ27 และ 29 ความหมายครอบจักรวาล จำกัดเสรีภาพสื่อ - ประชาชน?

เพื่อให้เข้าใจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับล่าสุดที่รัฐบาลระบุว่า ออกมาเพื่อปราบปรามข่าวปลอม (Fake news) เป็นหลัก แต่หลายคนมองว่ากฏหมายนี้เป็นการคุกคามเสรีภาพประชาชน มาฟังความเห็น หนึ่งใน 6 องค์กรสื่อ ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตสื่อออนไลน์ กัน

ระวี ตะวันธรงค์        
       Spring สรุปให้ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์สดกับ ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็น 1 ใน 6 องค์กรสื่อ ที่ตั้งคำถามถึงรัฐบาล ว่ากฏหมายทั้ง  2 ฉบับนี้ ครอบคลุมในมิติใดบ้าง หลายต่อหลายครั้งแต่ยังคงไร้ซึ่งคำตอบ และล่าสุดได้แถลงจุดยืนเคียงข้างประชาชน จี้ให้รัฐยกเลิก พ.ร.ก.ฉบับนี้ อันแสดงถึงการจำกัดเสรีภาพสื่อและประชาชน พร้อมยื่นจดหมายเปิดผนึกไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้พิจารณาว่า กฏหมายทั้ง 2 นี้ เข้าข่ายละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการแสดงความเห็นตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 หรือไม่?
 

ที่มาของ พ.ร.ก. มาตรา 9 ฉบับที่ 27 และ 29
พ.ร.ก.ฉบับที่ 27 ข้อ 11

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา9 ฉบับที่ 27 ข้อ 11. 

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา9 ฉบับที่ 29
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 ฉบับที่ 29 
 

ที่มา  พ.ร.ก. มาตรา 9 ฉบับที่ 27 และ 29
       จากกรณีที่รัฐบาล ออกข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  มาตรา 9 ฉบับที่ 27 (ข้อ 11.) เพื่อปราบปรามข่าวปลอม หรือ Fake news มันครอบจักรวาลมาก จนไม่รู้ว่าข้อมูลไหนที่ประชาชนหรือสื่อโพสต์จะเข้าข่ายบ้าง ที่ระบุว่า 

    .....เพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าว หรือ การทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร

       รวมทั้งในฉบับ 29 ข้อ 1.....ห้ามมิให้ผู้ใดนำเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ สื่ออื่นใด ที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือ เจตนาบิดเบือนข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ…

       และข้อ 2.ได้ให้อำนาจ กสทช.ในการประสานผู้ให้บริการอินเทอร์เนต ระงับสัญญาณเนตได้ หากพบว่ามี IP Address ใดปล่อยข้อความที่เข้าข่าย ข้อ1.ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 นี้รวมทั้งส่งเรื่องแจ้งตำรวจดำเนินคดีได้ทันที 

       จะเห็นว่ากฏหมาย2 ฉบับ มันเขียนให้คนตีความแบบครอบจักรวาลมาก ซึ่งไม่ใช่แค่บังคับใช้กับสื่อ ประชาชนธรรมดาท่ีเล่นโซเชียลมีเดีย เป็นผู้โพสต์ข้อมูล แสดงความคิดเห็นต่างๆ ก็อาจเข้าข่ายได้ทั้งนั้น ซึ่งกับคำว่า จนทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ต้องถามว่า ใครกลัว? หากข่าวที่นำเสนอไปมีคนมองว่า กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ผิดเลยหรือ ที่สำคัญในกฏหมายนี้ไม่ได้ระบุเฉพาะเรื่องของโควิด19 เกิดมีคนไปฟ้องตำรวจในข้อความที่เราโพสต์ว่าเข้าข่ายนี้ เจ้าหน้าที่พิจารณาโดยใช้ดุลยพินิจแต่ละท่าน มองว่าผิดก็คือ มีความผิดเลยหรือ?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

จุดยืนของ 6 องค์กรสื่อ?

      ก่อนหน้านี้ 6 องค์กรสื่อ  คือ สื่อทุกแพลตฟอร์มได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชน
ได้ทำแถลงการณ์ถึง ศบค.ขอให้ช่วยลงรายละเอียดของ พ.ร.ก.นี้ให้ละเอียดอีกได้หรือไม่ เพราะเกิดว่าเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฏหมาย ใช้ดุลยพินิจที่ไม่เหมือนกันขึ้นมามันจะยุ่ง ต้องตีให้แตกว่าอันไหนเข้าข่ายผิดบ้าง เราไม่ได้ว่าหรือค้านโดยไร้เหตุผล ก็มีคำตอบว่ารับเรื่องแล้วแต่ต่อมาอีกวัน นายกรัฐมนตรี โพสต์เฟสบุค ระบุว่า ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เต็มที่ในการดำเนินการตามกฏหมายฉบับนี้อย่างจริงจัง พร้อมดำเนินคดีทันที ยิ่งทำให้เรามองว่าแบบนี้ ชัดเจนว่านายกฯและรัฐเลือกที่จะเมินเฉยต่อสิ่งที่เรากำลังตั้งคำถาม 


จัดเวทีเสวนา ส่งสัญญาณถึงรัฐบาล แต่สุดท้ายไร้ผล?

      6 องค์กรสื่อได้ร่วมจัดเวทีเสวนาออนไลน์เรื่อง หยุดอ้างข่าวปลอม หยุด พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ-ประชาชน ซึ่งมีตัวแทนและสื่อสำนักดังๆต่างๆเข้าร่วมแบบออนไลน์ กว่า 2 ชั่วโมง อาทิ

1. สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส

2. กิตติ สิงหาปัด ผู้ดำเนินรายการข่าว 3 มิติ

3.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ก่อตั้ง Cofact Thailand

4. นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว The Standard

5. ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

6.พีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย

7. มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

8. นายสุปัน รักเชื้อ รักษาการเลขาธิการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

       โดยมีผมเป็นผู้สัมภาษณ์ ผลปรากฏเวลาผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง แต่ก็ไร้ปฏิกิริยาตอบรับจากฝั่งรัฐบาล และในช่วง1 ทุ่ม กลับมี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 ออกมาเรียกว่ารัฐจงใจ ใช้กฏหมายที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ แต่การจะสั่งให้ผู้ให้บริการเนต ระงับสัญญาณนั้น เป็นการละเมิดสิทธิ์ประชาชนหรือไม่?และต้องถามทาง Platform นั้นๆด้วย เช่น เฟสบุ๊ค หรือ Instragram ว่าทำได้หรือไม่?


ประโยชน์หรือข้อดีของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับนี้?

       อย่างที่เราบอกแต่แรกว่าเราไม่ค้าน เพราะมันมีข้อดีในการจัดการกับ ข่าวปลอม หรือ Fake news ที่ทั่วโลกก็ประสบพบเจอ ปัญหาคือ การตีความคำว่า Fake news ไม่เท่ากัน ในมุมสื่อ Fake news คือ ข่าวปลอม เขาที่ถูกบิด เขาพูดอีกอย่าง ปล่อยข่าวอีกอย่าง แต่เราไม่รู้ว่า ข่าวปลอม ข่าวที่ถูกบิดเบือน ที่ทำให้ประชาชนตกใจในมุมรัฐ คือ คำพูดไหนบ้าง แยกไม่ออกระหว่าง ความคิดเห็น กับ ข่าวปลอม ซึ่งมันเหมือนทำให้คนไม่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็น 

 

ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานประชาชนตามรัฐธรรมนูญ?

       30 ก.ค. ที่ผ่านมา ตัวแทนของเราเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรี ขอให้ยกเลิกกฏหมาย 2 ฉบับนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยโฆษกประจำสำนักนายกฯ เป็นผู้รับเรื่อง และช่วงบ่ายเราได้ไปยื่นต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ช่วยพิจารณาทีว่าเข้าข่าย ละเมิดสิทธิ์พื้นฐานของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและวิจารณ์อย่างสุจริตหรือไม่? จากนี้ก็คงต้องรอดูผลว่าเป็นอย่างไร

 

การสื่อสารของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ?

       คิดอย่างไรกับความเห็นที่ว่า ทุกวันนี้ Fake news เยอะมาก ข้อมูลล้น ประชาชนสับสน ส่วนหนึ่งเพราะการสื่อสารของรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ?

       เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาเราต้องยอมรับความจริงว่า การสื่อสารของรัฐมีปัญหาจริงๆ อย่างที่ทุกคนเจอว่า  เช้าพูดอย่าง บ่ายพูดอย่าง คนนี้พูดอย่าง คนนั้นพูดอีกอย่าง ทั้งๆที่ข่าวเดิมที่เรานำเสนออยู่ ยังอยู่บนหน้าเว็บเลยด้วยซ้ำ กลุ่มสื่อเนี่ย เมื่อก่อนเคยมีไลน์กลุ่มกับ ศบค.ตอนนี้เราถอยออกมาจากกรุ้ปหมดเลยเพื่อรอความชัดเจนที่ยังไม่ชัด 

 

ฝากถึงประชาชนคนไทยในสถานการณ์วิกฤต

       เรื่องแรก Fake news ข่าวปลอม ต้องระวัง ก่อนจะแชร์หรือส่งต่อข้อมูลอะไร ควร copy รูป หรือ link บทความไป Search ใน Google ดูก่อนว่ามันเป็นเรื่องจริงไหม หากจริงสำนักข่าวใหญ่ๆเล่นข่าวนี้แน่นอน และดูด้วยว่าเป็นข่าวเมื่อปีไหน ปัจจุบันไหม เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมจริงๆ

       เรื่องสอง เราอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฉบับเดียวกัน เมื่อมีการประกาศออกมาแล้วเราก็คงต้องปฏิบัติตาม คือ ระมัดระวังให้มาก ในการโพสต์ หรือ แสดงความเห็น ผ่านทางโซเชียลมีเดียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Line Facebook Instragram twitter ฯลฯ ที่อาจเข้าข่ายเป็นข่าวปลอม ที่บิดเบือน แม้เป็นเรื่องของโควิด 19 จนทำให้ประชาชนเกิดความตกใจ หรือ กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ก็ฝากไว้ครับ แต่ไม่ว่าใครจะอยู่หรือไป สื่อก็ยังคงต้องทำหน้าที่ต่อไป ทั้ง 6 องค์กรสื่อของเราตกลงกันอย่างชัดเจนว่าจะทำหน้าที่สื่อในการตรวจสอบ อะไรที่มีกลิ่นว่าผิด เราก็ต้องตรวจสอบร่วมกัน เราจะยืนเคียงข้างประชาชน นำเสนอข้อเท็จจริงต่อไป...

 

related