svasdssvasds

กฎหมายคุกคามสื่อฯ ! เฟกนิวส์คืออะไร ความหมายของรัฐที่แตกต่างกับประชาชน

กฎหมายคุกคามสื่อฯ ! เฟกนิวส์คืออะไร ความหมายของรัฐที่แตกต่างกับประชาชน

Springnews สัมภาษณ์ สุภิญญา กลางณรงค์ จากกรณีรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 ยกระดับการคุกคามสื่อ ที่สะท้อนให้เห็นว่า ความหมายเฟกนิวส์คืออะไร ในความเข้าใจและความต้องการของรัฐ นั้นแตกต่างกับประชาชน !

จากกรณีที่เมื่อวานนี้ ได้มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 สาระสำคัญยังคงมุ่งคุกคามสิทธิสื่อมวลชนและประชาชน ในการเผยแพร่ข้อมูล รวมถึงแสดงความเห็น เพื่อให้เห็นว่าเฟกนิวส์คืออะไรในความหมายของรัฐและประชาชนต่างกันหรือไม่

โดยในข้อ 1 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 เนื้อหาเหมือนกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 มาตรา 9 ข้อ 11 ซึ่งระบุว่า “ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน”

มิหนำซ้ำยังเพิ่มดีกรีความเข้มงวดด้วยข้อ 2 ที่ให้อำนาจ กสทช.สามารถแจ้งบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตของผู้ที่กระทำการขัดกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 จึงเป็นการยกระดับความรุนแรงในการคุกคามสื่อและประชาชน และเมื่อพิจารณา พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับ ก็จะเห็นได้ว่า ความต้องการของรัฐ ไม่ใช่การกำจัด “เฟกนิวส์” ตามที่รัฐมักกล่าวอ้าง เพราะใน พ.ร.ก. ดังกล่าวใช้คำว่า “...ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว...” จึงก่อให้เกิดข้อสงสัยว่า ความหมาย “เฟกนิวส์” ของรัฐบาล กับประชาชนนั้น ตรงกันหรือไม่ ?

Springnews สัมภาษณ์ สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ก่อตั้ง Cofact Thailand ซึ่งก็ได้ให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

Supinya Klangnarong

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1. “เฟกนิวส์” ในบริบทสังคมไทย วาทกรรมที่ครอบจักรวาล

สุภิญญา ให้ข้อมูลว่า การใช้คำว่า เฟกนิวส์ (Fake News) กับข้อมูลปลอม ข้อมูลบิดเบือน ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนักถ้าว่ากันตามหลักการ ที่การเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะ “ข่าว (News)” แต่ยังรวมถึงข้อมูลในรูปแบบอื่นๆ ด้วย

“คำว่า ‘เฟกนิวส์ (Fake News)’ ตอนนี้เหมือนเป็นวาทกรรมที่เอามาใช้แบบครอบจักรวาล มีการดิสเครดิตการทำหน้าที่ของสื่อ เหมือนกับคำว่า ‘ขัดความมั่นคงของชาติ และศีลธรรมอันดี…’  ซึ่งเป็นการเหมารวม

“โดยเฉพาะการใช้คำว่าเฟกนิวส์ มันเป็นกับดัก เพราะว่า ‘นิวส์ (News)’ หมายถึงข่าว มันจึงเป็นการดิสเครดิตสื่อว่า เป็นข้อมูลข่าวสารที่สับสนอลม่าน เช่นเรื่องโควิด เรื่องวัคซีน ทำให้สื่อกลายเป็นแพะ เพราะว่ามันมีคำว่า ‘ข่าว’ อยู่

“แต่ในหลักการของต่างประเทศ เขาจะใช้คำว่า ‘ข้อมูล (Information)’ เพราะคำว่า ‘ข้อมูล’ มันจะสะท้อนข้อเท็จจริงได้มากกว่าข่าว ซึ่งในยุคนี้อาจจะมาในรูปแบบคลิป อินโฟกราฟฟิก ภาพตัดต่อ ฯลฯ

“ปัญหาเรื่องของข้อมูลบิดเบือน ข้อมูลผิดพลาด ข้อมูลสับสน มันมีอยู่จริงในโลกทุกวันนี้ โดยเฉพาะในยุคโควิดที่ Infodemic หรือโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร มันมีอยู่ เพียงแต่ว่ามันมาจากหลายช่องทาง และจากหลายแหล่ง

“โดยผู้ที่ทำให้เกิดข้อมูลสับสน อาจจะเป็นไปได้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อ หรือประชาชแต่ละคน ที่สร้างเนื้อหาขึ้นมาเอง แต่พอใช้คำว่า เฟกนิวส์ ก็ทำให้คนเข้าใจว่า สื่อต้องเป็นผู้รับผิดชอบเท่านั้น

“หากถามว่าสื่อจะปฏิเสธความรับผิดชอบทั้งหมดได้ไหม ก็คงไม่ได้ และที่สำคัญต้องดูบริบทในการใช้ด้วย ถ้าเอามาใช้โดยภาครัฐที่มีอำนาจบริหาร ส่วนใหญ่ในหลายประเทศ มักจะถูกนำมาใช้ในการดิสเครดิตสื่อ เพื่อหาทางควบคุม เช่นในสหรัฐฯ ในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีการใช้คำนี้บ่อยมาก ในที่สุดก็โดนสื่อบอยคอต เพราะว่าทรัมป์เอง ก็เป็นคนปล่อยข่าวที่ไม่ถูกต้อง

“เราเรียกว่าเฟกนิวส์ติดปากไปแล้ว ก็เข้าใจได้ แต่ก็อยากให้นึกถึงบริบทด้วย สำคัญที่สุดเวลาพูดถึงเรื่องเฟกนิวส์ เราต้องระวังให้มาก ซึ่งในกรณีที่พูดประเด็นนี้ในสังคม อาจหมายถึง การเตือนให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันสื่อ อยากเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆ ต้องตรวจสอบก่อน

แต่ถ้าพูดโดยผู้มีอำนาจรัฐ สันนิษฐานได้ว่า อาจจะเป็นการดิสเครดิตสื่อ เพื่อเบี่ยงประเด็นไป ในเรื่องของปัญหาที่รัฐกำลังเผชิญอยู่

กฎหมายคุกคามสื่อ

2. ความไม่ชัดเจนของข้อกำหนด ที่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือคุกคามสื่อ-ประชาชน

ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 26 มีการกำหนดอย่างชัดเจน ข้อมูลที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย คือข้อมูลที่บิดเบือน ข้อมูลที่ไม่จริง ข้อมูลปลอม (Fake)

แต่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 ข้อ 11 และ ฉบับที่ 29 ข้อ 1 กลับระบุอย่างคลุมเครือครอบจักรวาลว่า “ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร...”

โดยเฉพาะ “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” ก็ทำให้เกิดการตีความไปต่างๆ นานา ที่ก่อให้เกิดคำถามว่า “อาจจะไม่เฉพาะข้อมูลอันเป็นเท็จ” เท่านั้น ซึ่งสุภิญญา ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ดังนี้

“เฟก (Fake) แปลตามตัวก็คือ ไม่จริง ปลอม ลวง ข้อมูลข่าวสารก็อาจจะมีแบบนั้น แต่ว่าส่วนใหญ่มันจะเป็นหลายเฉดสี

“การที่รัฐออกมาพูดเหมารวมว่า ‘แก้เฟกนิวส์’ แต่ไปดูถ้อยคำในกฎหมาย มันไม่ใช่แค่เฟกนิวส์ มันพูดถึงข้อความที่ทำให้ตื่นตระหนก กลัว ที่หลายคนตีความกันว่า มันอาจจะเป็นข้อเท็จจริงก็ได้ อาจจะเป็นเรื่องที่จริงบางส่วน หรืออาจะเป็นเรื่องที่เท็จไปเลย

“ฉะนั้นแล้ว ถ้าจะออกกฎหมาย ทำไมไม่เขียนให้ชัดไปเลยว่า การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ที่พิสูจน์แล้ว หรืออะไรก็ตามแต่ ที่ต้องลงรายละเอียดที่ชัดเจนว่า ต้องการแก้เฟคนิวส์ หรือข้อมูลเท็จ

“แต่เมื่อเขียนกว้างๆ อย่างนี้ มันก็เปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการตีความ มันก็เหมือนสมัยก่อนที่บอกว่า อะไรที่ขัดความมั่นคงของชาติหรือศีลธรรมอันดี ก็คือผิดกฎหมาย

“กฎหมายปกติ ตาม พ.ร.บ.ทั่วไป ต้องมีประกาศคำสั่งอย่างลงรายละเอียดด้วยว่ามันคืออะไร แต่นี่พอมาเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ตัดตอนให้รัฐตีความ ซึ่งขัดหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิในการสื่อสาร แล้วมันไม่ได้แก้ปัญหาเฟกนิวส์ที่รัฐอยากแก้จริงๆ เพราะมันไม่ได้ระบุให้ชัดเจนไปเลยว่า เป็นข้อความที่เฟก ปลอม ลวง หรือเท็จ”

กำหมายคุกคามสื่อ

3. ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากการออกกฎหมายคุกคามสื่อ-ประชาชน

อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความวิตกกังวล จากการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว ที่ผิดหลักสิทธิมนุษยชน นั่นก็คือการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการใช้ดุลยพินิจว่า ข้อมูลใดเข้าข่ายละเมิดกฎหมายบ้าง โดยสุภิญญาได้แสดงความคิดเห็นว่า เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะเหมือนกับว่า รัฐผลักให้ประชาชนกลายเป็นคู่ขัดแย้ง

“ในยามปกติที่สื่อนำเสนออะไรที่ผิดพลาด สังคมจะวิจารณ์สื่อ แต่ในยามวิกฤตแบบนี้ ที่ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น ไม่มีที่พึ่ง แม้ประชาชนส่วนหนึ่งจะไม่เชื่อสื่อ แต่เมื่อให้เลือกระหว่างรัฐกับสื่อ ประชาชนอาจจะเลือกปกป้องสื่อมากกว่า

“ผลเสียจากการที่รัฐมีมาตรการแบบนี้ มันจะยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐ ทำให้เกิดความขัดแย้ง แล้วมันจะทำให้การแก้ปัญหาโรคระบาดไม่ได้ผล เพราะถ้าคนเราหมดความเชื่อมั่นต่อรัฐ พูดซ้าย เขาก็จะไปขวา พูดขวา เขาก็จะไปทางซ้าย มันจึงอาจส่งผลร้ายแรงในระยะยาวได้

“ฉะนั้นแล้ว สิ่งที่รัฐควรจะทำก็คือ เอาเวลาตรงนี้ไปทำงานร่วมกับสื่อ ขอให้สื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริงดีกว่า ซึ่งสื่อยินดีจะเผยแพร่อยู่แล้ว แต่ว่าการทำให้เกิดความขัดแย้ง และการป้ายความผิดไปให้สื่อ มันก็เหมือนบีบให้ประชาชนเลือกข้าง

“สมมติทั้งสองกลุ่มพูดสุดโต่ง ประชาชนอาจไม่ชอบทั้งสองกลุ่ม บางทีก็ไม่ชอบสื่อด้วยแหละ เพราะหมั่นไส้ ไม่ชอบรัฐบาลด้วย แต่ถ้ารัฐบาลผลักว่าความผิดมันอยู่ที่สื่อ ประชาชนก็ต้องกลับมาปกป้องสื่อ เพราะเขาไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล ซึ่งมันไม่ควรเป็นอย่างนั้น

“ดังนั้นแล้ว รัฐบาลที่เข้าใจสถานการณ์ ควรจะดึงสื่อมาเป็นพวก ด้วยการบริหารจัดการอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่แบบนี้ ที่ยิ่งทำให้ปัญหาที่มันหน้าสิ่วหน้าขวาน มันวิกฤตอยู่แล้วเนี่ย วิกฤตยิ่งขึ้นไปอีก

“ในยามที่ประเทศชาติต้องการความเป็นเอกภาพ แต่ว่าต้องเริ่มที่ภาครัฐก่อน เพื่อที่จะดึงพลังของทุกกลุ่มมาช่วยแก้วิกฤต มันถึงจะแก้ได้

“ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ จากบรรยากาศที่เป็นเรื่องปกติ มีทะเลาะกันไปมาระหว่างสื่อกับรัฐบาลบ้าง แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว เพราะประเด็นมันถูกเบี่ยงเบน แทนที่รัฐจะชวนทุกฝ่ายมาแก้ปัญหา แต่เหมือนกับว่าโทษทุกฝ่าย

“ซึ่งตรงนี้จะส่งผลต่อการแก้ปัญหาโรคระบาด ที่ประชาชนต้องการความเชื่อมั่นมากที่สุด ในการที่เขาจะมีพลังใจเพื่อรักษาชีวิตตัวเอง รอเตียง หรือว่ารอเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ถ้าประชาชนไม่มีหลักยึด มันก็จะทำให้ภาพรวมของปัญหา ยิ่งหนักหนาขึ้นไปอีก”

related