svasdssvasds

WFH Burnout หมดไฟ กายพัง เบื่อบ้าน สัญญาณอันตราย ต้องรีบแก้!


WFH Burnout หมดไฟ กายพัง เบื่อบ้าน  สัญญาณอันตราย ต้องรีบแก้!


ใครที่ Work from home นานๆ เช็กหน่อยว่ามีภาวะ WFH เป็นพิษส่งผลต่อสุขภาพจิตและกายในระยะยาว โดยไม่รู้ตัวอยู่ไหม เช่น รู้สึกหมดไฟ เครียดง่าย คิดงานไม่ค่อยออก ไม่อยากทำงาน เบื่อบ้าน แยกเวลางานกับเรื่องส่วนตัวไม่ได้ อาจกำลังเป็น WFH Burnout หรือ Cabin Fever ที่ต้องรีบแก้

       โควิด19 รอบ3 ตั้งแต่ต้นปี ทำเอาหลายคน WFH ทำงานอยู่ที่บ้านมาไม่ต่ำกว่า6 เดือนแล้ว จากที่คิดว่าเป็นลาภอันประเสริฐคงรู้แล้วว่ามันมิใช่ เพราะมันทำให้เราแบ่งเวลาทำงาน กับ เวลาส่วนตัวได้ยากมากขึ้น แถมบางที่ประชุมออนไลน์กันมากกว่าเดิม ซ้ำร้ายยังออกไปข้างนอกไม่ได้อีกตามมาตรการรัฐ หลายคนเกิดอาการ WFH TOXIC กันได้ง่ายๆ ซึ่งถ้าเป็นมันไม่ใช่เรื่องดี เพราะอาจส่งผลเสียทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และกระทบกับการทำงาน

       ซึ่งหากเรามีบ้านหลังโตแบ่งส่วน ห้องทำงาน ห้องนอน ห้องนั่งเล่นได้เหมือนในละครหลังข่าว การทำงานที่บ้านคงไม่ใช่เรื่องยาก แต่อนิจจาคนธรรมดาทั่วไป จะห้องทำงาน ห้องกินข้าว ห้องนั่งเล่น ห้องดูซีรีย์ มันก็โซฟาตัวเดิม! ไม่แปลกที่หลายคนจะแบ่งเวลาทำงาน กับ เวลาส่วนตัวได้ยาก บางคนเผลอทำงานเกินเวลา ข้าวปลาไม่ได้กิน เวลาจะหลับตากลับยังคิดงาน แบบนี้แย่แน่
WFH TOXIC เป็นพิษ จะแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ

WFH Burnout คือ อาการหมดไฟในการทำงานที่บ้าน เหนื่อยล้า แม้ไม่ได้ทำอะไรหนัก สาเหตุเกิดจากการทำงานอย่างยาวนานที่บ้าน ไม่ได้ออกไปไหน เครียดวนไป ก็หมุนวนในห้องคนเดียว

อาการ :
1.หมดไฟในการทำงาน ไม่อยากทำ ประสิทธิภาพลดลง

2.เครียดง่ายขึ้น อารมณ์ฉุนเฉียว แปรปรวนง่าย

3.สร้างสรรค์งานใหม่ไม่ออก สมองตัน เหนื่อยล้าแม่ไม่ได้ทำงานหนัก

4.ไม่มีสมาธิ หลุดโฟกัสได้ง่าย

5.นอนไม่หลับ สุขภาพแย่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :


Cabin Fever
คือ ความรู้สึกเบื่อบ้าน เกิดจากการอุดอู้ที่บ้านเป็นเวลานาน แล้วต้องทำงานอีก โดดเดี่ยวจากมาตรการเว้นระยะทางสังคม ซึ่งฝืนกับความเป็นมนุษย์ที่สุด จึงรู้สึกว่าบ้าน ไม่เป็นสถานที่ในการพักผ่อน อีกต่อไป

WFH Syndrome
เหมือน Office syndrome คือ อาการปวดเมื่อยร่างกาย ที่เกิดจากการทำงานที่บ้านด้วยอิริยาบถเดิม ท่าทางเดิมๆ ติดต่อกันระยะเวลานาน โดยไม่ได้ยืด หรือ พัก เพียงพอ

 

วิธีแก้ 
       หากเราเริ่มมีอาการในกลุ่มใด กลุ่มหนึ่งดังที่พูดมาโดยไม่รู้ตัวแสดงว่าเราอาจจะเริ่มมีภาวะ WFH Toxic การทำงานที่บ้านเป็นพิษแล้ว ซึ่งอย่างที่บอกว่าถ้าปล่อยไว้ มันอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ต่อสุขภาพจิต หรือต่องานที่เราทำได้ ควรเร่งแก้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ค่ะ


1.แบ่งเวลาให้ชัด : 8 ชม. ทำงาน หลังจากนั้น ชั้นจะปิดคอมพัก! และแม้ทำงานที่บ้านก็ควรเซ็ตเวลาตื่นนอนเวลาเดิมสม่ำเสมอ จะช่วยให้ร่างกายจดจำและมีเวลาทำงานได้ตามเป้าหมาย
 

2.ทำ To do list : ยิ่งทำงานที่บ้าน ภารกิจงานอาจเพิ่มขึ้นเยอะสิ่ง เพื่อไม่ให้ตกหล่นควรจดไว้ โดยอาจเลือกงานสำคัญมาไว้ช่วงเช้า ที่สมองเราจะแล่นเพื่อจัดการก่อน จะช่วยให้สมองคิดงานสำคัญออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

3.ออกกำลังกาย ขยับตัวหน่อย: ขอแค่ขยับวันละ 20 นาทีทุกเช้า จะช่วยให้วันนั้นคุณกระปรี้กระเปร่าและมีความสุขมากขึ้นจะ คาดิโอเบาๆ หรือ โยคะยืดเส้น ก็ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง แก้ออฟฟิศซินโดรมได้ แนะนำ เบเบ้ Fit routine เลย
 

4.ทานอาหารตรงเวลา : เช้า กลางวัน  เป็นมื้อสำคัญอย่าให้ขาด มีงานวิจัยพบว่าคนที่ทานอาหารเช้าเป็นประจำ มักทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอารมณ์ดี รวมทั้งควบคุมน้ำหนักได้ดีกว่าคนที่ไม่ทาน ส่วนมื้อกลางวันคือการ เติมพลังงานดีๆเข้าสู่ร่างกายให้มีแรงทำงานต่อ ถ้ากลัวลืมทานเซ็ตนาฬิกาเตือนเอาไว้เลย

5.ทำกิจกรรมผ่อนคลาย : เชื่อไหมว่าคนที่ประสบความสำเร็จในโลก ก็ยุ่งมากเช่นกัน แต่เขายังคงหาเวลาทำงานอดิเรกเพื่อผ่อนคลาย เพราะรู้ว่ามันสำคัญและทำให้พวกเขาได้ไอเดียใหม่ เช่น บิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ ใช้เวลาว่างในการตีเทนนิส มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าพ่อเฟซบุ๊ค ใช้เวลาว่างเรียนภาษาจีน วอร์เรน บัฟเฟตต์ พ่อมดการเงินระดับโลก ใช้เวลาว่างเล่น อูคูเลเล่ แล้วคุณเป็นใคร ถึงจะใจร้ายไม่ให้รางวัลตัวเองเลย การมีงานอดิเรกจะช่วยให้สมองผ่อนคลาย คิดงานได้ดีกว่าเดิม

 

6.ระบายกับเพื่อน : มนุษย์เป็นสัตว์สังคม โควิด19 เป็นโรคที่มาพรากความเป็นมนุษย์จากเราไปแทบทั้งหมด ไม่สามารถใช้ภาษากาย กอดกันได้เหมือนเคย และยังไม่สามารถไปพบเจอ กันได้บ่อยเหมือนก่อน สิ่งที่ทำได้ดีสุดตอนนี้คือ โทรคุยกัน การได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับเพื่อนอาจจะทำให้คุณมองเห็นปัญหาตัวเองชัดขึ้น หรือระบายความเครียดที่มีให้ใครสักคนฟัง อาจช่วยให้ความเครียดลดน้อยลง หรือถ้ายังไม่ดีขึ้น โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้

 

       รู้แบบนี้แล้ว หากใครกำลังมีอาการ WFH TOXIC อย่างที่ว่ารีบแก้ อย่าปล่อยทิ้งไว้นานเรื้อรัง อาจส่งผลเสียทั้งต่อหน้าที่การงาน สุขภาพกาย และสุขภาพใจในระยะยาวได้นะ

ที่มา : กรมควบคุมโรค , กรมสุขภาพจิต

related