svasdssvasds

ย้อนจับไต๋สารพัดกลโกงรอบ 200 ปี ที่ไม่เคยเปลี่ยน แต่เราก็เชื่อ! ผ่าน Netflix

จากคดี NAS App แชร์ลูกโซ่ พามาฟังกลลวงทางการเงินสนุกๆในรอบ 200 ปี ผ่านสารคดีบน Netflix เจาะประเด็นวิเคราะห์การเงิน ตั้งแต่สมัย 1821 นายพลเกรเกอร์ จนถึง คดี Crypto Queen รูจา อิกนาโทว่า ก็ยังคงมีแก่นเหมือนเดิม ถ้าเราจับไต๋ถูก รู้ทันก็ไม่ตกเป็นเหยื่อ

จากคดี NAS App ที่กำลังอื้อฉาวอยู่ในปัจจุบัน มาย้อนดูสารคดีบน Netflix เจาะประเด็นวิเคราะห์การเงิน กันหน่อย เป็นสารคดีสั้นเป็นตอนๆ ตอนนี้จะพาเล่าย้อนไปถึงกลโกงทางการเงินสมัยแรกๆว่า สาเหตุที่ทำให้มนุษย์ หลงเชื่อพวกมิจฉาชีพนี้ในเรื่องเงิน มันเพราะอะไร? ทั้งที่จริงๆ รูปแบบ แพทเดิมเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะ 200 กว่าปีก่อน หรือ ปัจจุบัน วันนี้เรามาทำความรู้จัก กลโกงทางการเงิน ให้มากขึ้น  เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อ 

 

แก่นกลโกง ที่ว่าไม่ต่างกันเลยกว่า 200 ปี นี่คืออะไร?

นายพลเกรเกอร์ แมคเกรเกอร์ กับ
ประเทศที่ลาวาดั่งทองคำ (โปเย่เอส) มีด้วยหรือ?

นายพลเกรเกอร์ แม็คเกร์เกอร์

สารคดีเล่าว่า การหลอกลวงมีมานาน แต่ก็ใช้วิธีการเดิม ในปี 1821 มีนักผจญภัยชื่อ นายพลเกรเกอร์ แม็กเกรเกอร์ ชาวสก็อตแลนด์ผู้นี้ ล่องเรือจากอเมริกา มาขึ้นฝั่งที่ลอนดอน พร้อมกับธงประจำประเทศ "โปเยเอส" จัดตั้งสำนักงานพร้อมป่าวประกาศให้ผู้คนนำเงินปอนด์ มาแลกกับค่าเงินของประเทศนี้เอาไว้ เพื่อจะได้ไปรวยด้วยกันที่นั่น พร้อมอ้างสรรพคุณว่า ตัวเขามีโอกาสเดียวที่นำมาให้ผู้คนที่ประเทศนี้ โดยประเทศของเขา(โปเยเอส? อยู่ไหนในโลกก็ไม่รู้ เพราะมันไม่มีอยู่จริง) อยู่แถบอเมริกา อุดมสมบูรณ์มาก ผลไม้ออกทั้งปี มีลาวาไหลดั่งทองคำ เราจะไปรวยที่นั่นด้วยกัน (แถมจู่ๆก็มีหนังสือสเก็ตภาพ เล่าอ้างอิงถึงประเทศนี้ ว่าสวยและอุดมสมบูรณ์แค่ไหน พอดิบพอดี แม้ผู้เขียนจะคนละชื่อกับนายพลแม็กเกรเกอร์ แต่สุดท้ายก็คือคนเดียวกันเป็นคนเขียนหนังสืออ้างอิงเล่มนั้นขึ้นมาเองนั่นแหละ) และสุดท้าย ก็หายต๋อมไปพร้อมๆกับเงินเพราะประเทศนี้มันไม่มีจริง 

 

คดีฉาว ONE Coin ของ ดร.รูจา อิกนาโทว่า  (Crypto Queen )

รูจา อิกนาโทว่า


ในปี 2016 หญิงสาวหน้าตาคมเข้มในชุดสีแดง ดร.รูจา อิกนาโทว่า ผู้บริหารเหรียญคริปโต One coin เปิดตัวอย่างอลังการกลางเวทีใน ลอนดอน พร้อมเล่าถึง โอกาสเดียวของเธอที่ได้มาเยือนยังประเทศนี้ และเอาโอกาสดีๆแบบนี้มาให้ทุกคน เธอให้คำมั่นว่า เหรียญ One coin นี้เกิดมาเพื่อฆ่า Bitcoin เหรียญคริปโต สกุลคู่แข่ง เพราะเธออ้างว่ามัน ทั้งสะดวกกว่า ถูกกว่า และปลอดภัยกว่า ทั้งยังมอบคำสัญญาว่าจะเพิ่มเงินให้สองเท่าสำหรับนักลงทุน OneCoin ทุกคน ทำให้นักลงทุนั่วโลกพร้อมทุ่มเงินกว่า 4 พันล้าน ในช่วงเวลาเพียงแค่ 2 ปี 2015 – 2017 

       จนกระทั่งตุลาคม ปี 2017 รูจากลับหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยจนถึงปัจจุบัน นักลงทุนทั่วโลกสูญเงินทันที แม้มีการจับกุมดำเนินคดีผู้บริหาร One coin ได้บางส่วน แต่ก็ไม่สามารถเรียกเงินลงทุนคืนมาได้ และจากการตรวจสอบ OneCoin พบว่า สกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวไม่เคยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เหมือนสกุลเงินคริปโตอื่นๆแต่อย่างใด ทำให้มันไม่สามารถใช้การในฐานะ เงินคริปโตเคอเรนซีได้จริงอย่างที่ว่า (ตุ๋นจนเปื่อยเลยตั้งแต่แรกนั่นเอง ) 

       เห็นได้ชัดเจนเลยว่า 2 เคสนี้ เวลาห่างกันถึง 200 ปี แต่กลลวงก็ไม่ได้แตกต่าง คือ พูดหว่านล้อมล่อใจ ด้วยคำพูดเช่นว่า โอกาสเดียวในชีวิตคุณ นี่คือโอกาสเดียวมาให้คุณ อยู่ตรงหน้า มาลงทุนกับเราสิ แล้วจะไปรวยด้วยกัน บวกกับใช้หลักจิตวิทยานิดหน่อย ก็ทำให้คนลืมตรวจสอบให้ถี่ถ้วน ก่อนเชื่อสนิทใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

กลลวง 5 แบบ

  1. จ่ายก่อน ได้ก้อน
    วิธีนี้คลาสสิคมาก ยังใช้อยู่เยอะในปัจจุบันแค่แตกต่างรูปแบบจะมาทาง เมลล์ โทรศัพท์ หรือ Messenger วิธีคือ หลอกล่อเราว่าถูกรางวัลใหญ่จะได้เงินก้อน แต่ต้องจ่ายภาษีล่วงหน้าไปก่อน 10% ถึงจะได้เงินก้อนทีหลัง หรือทำทีว่ามีพัสดุก้อนใหญ่มาส่ง แต่ต้องจ่ายเงินถึงจะได้รับ ของก้อนใหญ่ หรือ เงินก้อนโต (ที่ไม่มีวันได้จริง)
     
  2. ปั่นและเท
    วิธีนี้ก็ยังใช้อยู่เยอะ โดยเฉพาะในวงการลงทุนเทรดคริปโต หรือ หุ้น วิธีการ คื  มิจฉาชีพจะใช้แอปสื่อสารกันเป็นกลุ่มใหญ่ เช่น เทเลแกรม ส่งข้อความปั่นราคาหุ้นบางชนิด ทำทีกระจายไปว่า ราคาหุ้นX กำลังจะขึ้นในอีก 20วิ ส่งผลให้คนทั่วไปเชื่อและเข้าไปซื้อหุ้นพร้อมๆกันจนราคาหุ้นขึ้น แต่พอถึงจุดสูงปุ้ป มิจฉาชีพเหล่านี้ที่ถือเงินหนา และ เล่นเป็นทีม ก็พร้อมใจกัน เทขายทันที! (ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นแค่ใน 1 นาที)  ส่งผลให้นักลงทุนทั่วไปงงตาแตก เทขายไม่ทัน ขาดทุนยับ
     
  3. กลลวงปอนซี
    ตั้งตามชื่อ พอล ปอนซี ชาวอิตาลีที่อพยพมาเมื่อปี 1900 กว่าๆ เขาเปิดให้คนทั่วไปลงทุนกับเขา โดยจูงใจว่า เขาจะให้ผลตอบแทน 2 เท่าใน 90 วัน! ส่งผลให้คนเอาเงินมาลงทุนกับเขาเยอะมาก แต่สุดท้ายเขาไม่ได้เอาเงินไปลงทุนที่ไหนเลย แค่เอาเงินคนใหม่ มาจ่ายให้คนเก่า วนไปๆ จนสุดท้ายพอคนมาขอเงินคืนพร้อมกัน ก็จบเห่ วงแตก
     
  4. PYRAMID ไม่ใช่ MLM(ขายตรง)
    วิธีนี้คือ ขายตรง แล้วรับสมัครสมาชิกเพิ่ม คนที่เข้ามาใหม่ก็จะต้องจ่ายค่าเข้า แล้วเอาไปให้คนเก่า ไล่วนไปตามไลน์ แม้จะมีความคล้ายธุรกิจขายตรง MLM มาก แต่สิ่งที่ต่างคือ กลลวงแบบพิรามิด ไม่มีรายรับทางอื่น นอกจากหลอกเหยื่อสมัครสมาชิกใหม่ แตกต่างจากธุรกิจขายตรง ที่ขายสินค้าจริงๆ และรายได้หลักมาจากสินค้าที่เขาขายนั่นเอง
     
  5. Coaching สอนให้รวย แต่ใช้ไม่ได้
    สมัยนี้มีเยอะมาก กูรูสอนรวย แต่เนื้อหาไม่ได้เรื่อง แล้วก็ยากที่เราจะแยกออกว่าอันไหนคือ กูรูที่พยายามถ่ายทอดจริงๆ แต่แค่มันไม่ได้ผล กับพวก มิจฉาชีพ ที่ไม่ได้รู้จริง แต่พูดไปเรื่อย เพื่อหวังขายคอร์สเอาเงินเรานั่นเอง ซึ่งสมัยนี้ก็จะยึดหลักวิธีการในการพูดหลอกลวง ด้วยประโยคด้านล่างนี้

    กลลวงทางการเงิน

       สุดท้ายเราก็เกิดความ ไว้ใจ และ หลงเชื่อ คำของคนเหล่านี้ไปโดยปริยาย อ่านมาทั้งหมด คุณพอจับจุดได้หรือยัง? ว่ามิจฉาชีพพวกนี้เล่นกับอะไรเรา?  นั่นคือเล่นกับ


ความโลภ ความอยากรวย และ ความรีบร้อน
ของเหยื่อนั่นเอง หากก่อนลงทุนอะไร เราตั้งสติ ไตร่ตรองให้ดีก่อนว่าผลตอบแทนมัน เกินจริง ไปหรือเปล่า? มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน เราก็จะไม่เสียรู้ตกเป็นเหยื่อ กลลวงทางการเงินเหล่านี้เลย เพราะไม่ว่าจะกี่ยุค กี่สมัย มิจฉาชีพก็ยังต้องเกิดขึ้นด้วยแก่นแพทเทิร์นคล้ายเดิม แต่อยู่ที่เรานี่แหละที่จะรู้เท่าทันพวกมันหรือเปล่า

related