svasdssvasds

แนะนำการใช้ ยาสามัญประจำบ้าน ช่วยบรรเทา แต่ถ้ามีอาการแบบนี้ควรพบแพทย์!!!

แนะนำการใช้ ยาสามัญประจำบ้าน ช่วยบรรเทา แต่ถ้ามีอาการแบบนี้ควรพบแพทย์!!!

ประโยชน์ของ ยาสามัญประจำบ้าน คือช่วยบรรเทาและรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ และช่วยปฐมพยาบาลเมื่อมีเหตุทำให้บาดเจ็บฉุกเฉิน ช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งสถานพยาบาล

แล้วการใช้ ยาสามัญประจำบ้าน ที่เรามีควรใช้อย่างไร อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์ เรามีคำแนะนำจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาฝาก

ยาสามัญประจำบ้าน

ปวดหัว เป็นไข้ หรือปวดกล้ามเนื้อ

หากผู้ใหญ่มีการปวดหัว เป็นไข้  สามารถทานยาแก้ปวด อย่าง พาราเซตามอล หรือแอสไพรินได้ แต่ถ้าเป็นเด็ก ห้ามใช้แอสไพรินในเด็ก ควรใช้พาราเซตามอล

ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการ ดังนี้

1. บาดเจ็บหรือมีการกระแทกที่ศีรษะก่อนมีอาการปวดหัว

2. อาการปวดหัวร่วมกับอาการใดอาการหนึ่งต่อไปนี้ หน้ามืดเป็นลม พูดไม่ชัด มึนงงสับสน หรืออาการ ผิดปกติทางสมองอื่นๆ

ปวดท้อง

ยาแก้ปวดท้อง ขับลม ลดกรด

ใช้เมื่อมีแสบร้อนยอดอก กรดไหลย้อน ให้เคี้ยวยาลดกรด ถ้ามีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ควรทานยาธาตุ หรือยาขับลม หากปวดท้อง ก็สามารถทานพาราเซตามอลได้ ไม่ควรกินยาแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟ่น เพราะยาเหล่านี้ ระคายเคืองกระเพาะอาหาร

ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการ ดังนี้

1. ปวดท้องติดต่อกันหลายวัน

2. มีอาการปวดท้องร่วมกับ คลื่นไส้ มีไข้ เบื่ออาหาร

3. ถ่ายเป็นเลือด อุจจาระสีดํา

4. อาเจียนเป็นเลือด

5. ปวดแสบเวลาปัสสาวะ หรือปัสสาวะขัด

6. ปัสสาวะเป็นเลือด

7. ถ่ายไม่ออกหรือถ่ายไม่ออกร่วมกับอาเจียน

8. หายใจขัด หายใจลําบาก

9. ได้รับบาดเจ็บที่ช่องท้องก่อนที่จะเกิดอาการปวดท้อง

10. อาการแสบยอดอก กรดไหลย้อนไม่ดีขึ้นหลังทานยา หรือมีอาการนานกว่าสองสัปดาห์

อาการที่ควรส่งโรงพยาบาลทันที!!!

ปวดท้อง กดเจ็บ บริเวณท้องด้านล่างขวา และมีอาการไข้และอาเจียนร่วมด้วย (อาการของไส้ติ่งอักเสบ)

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ

เมื่อมีอาการท้องเสียในผู้ใหญ่ ให้ทาน ผงถ่าน “แอกติ เวทชาโคล” หากถ่ายมากให้ค่อยๆ จิบผงนํ้าตาลเกลือแร่โออาร์เอสละลายนํ้าเพื่อชดเชยการสูญเสียนํ้า ถ้าไม่มีผงเกลือแร่ อาจดื่มนํ้าข้าว นํ้าผลไม้ นํ้าอัดลม นํ้าซุปใส แทนได้ โดยปริมาณการทดแทนของเหลวควรให้มากกว่าที่ร่างกายสูญเสียไป เช่น ถ่ายเหลวปริมาณมากหนึ่งครั้ง ให้ชดเชยด้วยการจิบโออาร์เอสหนึ่งซอง เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงนม แอลกอฮอลล์ ชา กาแฟ ในระยะ 3-5 วัน ควรพักผ่อน ทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม กล้วยสุก และควร หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด อาหารมัน

ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการ ดังนี้

1. ถ่ายเป็นสีดํา

2. ถ่ายเป็นมูกเลือด

3. มีไข้ร่วมกับอาการท้องเสีย อาเจียน

4. สงสัยว่าอาการท้องเสียเกิดจากยา

5. ท้องเสียเกินสองวันในผู้ใหญ่ และ 24 ชั่วโมงในเด็ก

และไม่ควรซื้อยาหยุดถ่ายหรือยาฆ่าเชื้อแก้ท้องเสียมาทานเอง เพราะยาบางชนิดอาจทําให้อาการของโรค แย่ลง

อาการที่ควรส่งโรงพยาบาลทันที!!!

1. ท้องเสียในเด็กอายุตํ่ากว่าสามเดือน

2. มีอาการขาดนํ้า

3. ปวดท้องรุนแรง

ยาสามัญประจำบ้าน

แผลเลือดออก สัตว์กัด หรือคนกัด

เมื่อเกิดแผลเลือดออกให้ใช้ผ้าก๊อซวางบนแผล แล้วใช้มือออกแรงกดเพื่อให้เลือดหยุดไหล จากนั้นใช้นํ้าเกลือปลอดเชื้อ (ถ้าไม่มีให้ใช้นํ้าอุ่นหรือนํ้าสบู่อ่อนๆ) ล้างทําความสะอาดแผล (ไม่ใช้แอลกอฮอลล์ ล้างลงบนแผลโดยตรง แอลกอฮอลล์จะใช้เช็ดฆ่าเชื้อ บริเวณรอบๆ แผลเท่านั้น) จากนั้นทายาฆ่าเชื้อลงบนแผล แล้วติดพลาสเตอร์ ถ้าปวดแผลสามารทานยาแก้ปวดได้

ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการ ดังนี้

1. สัตว์หรือคนกัด (ถ้าสัตว์เลี้ยงกัด ให้ถามประวัติการได้รับวัคซีนสุนัขบ้าของสัตว์เพื่อนําไปแจ้งแพทย์ด้วย) 2. ไม่สามารถทําแผลให้สะอาดได้
3. แผลถูกวัสดุโดยเฉพาะโลหะทิ่ม แทง เป็นแผลลึก หรือก่อนหน้านี้ไม่ได้รับวัคซีนบาดทะยักมาก่อน
4. แผลไม่หาย แผลมีอาการอักเสบติดเชื้อ ได้แก่ เจ็บแผลกว่าเดิม แดง บวม และมีหนอง

อาการที่ควรส่งโรงพยาบาลทันที!!!

1. บาดเจ็บสาหัส
2. กดแผล 10 นาทีแล้วเลือดยังไม่หยุดไหล
3. เลือดออกมาก หรือมีเลือดพุ่งออกมาจากแผล

แมลงต่อย

สําหรับแมลงต่อย ให้กดหรือใช้แหนบหนีบเอาเหล็กในออก ไม่ควรกดหรือบีบเหล็กในแรงๆ เพราะทําให้พิษใน เหล็กไหลถูกปล่อยออกมา ทําการประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการบวมอักเสบ ถอดเครื่องประดับออก เช่น ถ้าถูกต่อยที่นิ้ว อาจจะทําให้นิ้วบวม และไม่สามารถถอดแหวนออกได้ ถ้ามีอาการปวดให้ทานยาแก้ปวด ถ้ามีอาการคัน ให้ทานยาแก้แพ้หรือทาคาลาไมน์

อาการที่ควรส่งโรงพยาบาลทันที!!!

1.หายใจไม่ออก หายใจขัด

2.หน้ามืด วิงเวียน เป็นลม

3.เกิดผื่นลมพิษหรือลิ้นบวม

4.มีประวัติมีอาการแพ้แมลงต่อยขั้นรุนแรง


Cr. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์