svasdssvasds

รวมข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด-19 ควรเช็กก่อนแชร์!

รวมข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด-19 ควรเช็กก่อนแชร์!

ในยุคนี้เราให้ความสำคัญที่จะตรวจสอบข่าวปลอมเป็นอย่างมาก ผู้ใช้โซเชียลมีเดียได้ให้ความสำคัญกับการเสพข่าวมากขึ้น แต่การระบาดของข่าวปลอมก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง จนเราสับสนว่าอันไหนข่าวจริง อันไหนข่าวปลอม

ข่าวปลอมโควิด-19 เป็นข่าวที่ผู้คนแชร์กันมากที่สุด และทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันในสังคม จะมีข่าวไหนบ้างมาดูกัน

รวมข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด-19 ควรเช็กก่อนแชร์!

ข่าวปลอม! ควรหยุดฉีดวัคซีนโควิด 19 เพราะจะทำให้เสียชีวิตได้

 

กรณีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นควรหยุดฉีดวัคซีนโควิด 19 เพราะจะทำให้เสียชีวิตได้ ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า วัคซีนทุกชนิดที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ได้ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลกแล้ว โดยข้อมูลการศึกษาประสิทธิผลการใช้จริงในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 ที่เป็นการระบาดของสายพันธุ์เดลตา และช่วงเดือนมกราคม 2565 ที่มีการระบาดของโอมิครอน พบว่า การฉีดวัคซีน 2 เข็ม ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 นั้น สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 71% และยังป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 97% แต่เมื่อถึงเดือนมกราคม 2565 กลับพบว่าไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนได้ แต่อย่างไรก็ตามวัคซีนก็ยังคงป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 89% เลยทีเดียว

สำหรับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 ก็ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 93% และป้องกันการเสียชีวิตได้มากถึง 99% ในส่วนของเดือนมกราคม 2565 แม้ว่าการป้องกันการติดเชื้อจะลดลงเหลือ 68% แต่ยังคงป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 96% ทั้งนี้การฉีดเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา พบว่าประสิทธิผลดีไม่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 3 เดือน จึงควรรีบมาฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์โดยเร็ว

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : วัคซีนทุกชนิดที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น ยังคงมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งได้ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลกแล้ว ทั้งยังป้องกันการเสียชีวิตได้

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

ข่าวปลอม! กรมการแพทย์ ปรับลดระยะกักตัวเหลือ 5 วัน สำหรับคนไม่มีอาการ

จากกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลว่ากรมการแพทย์ ปรับลดระยะกักตัวเหลือ 5 วัน สำหรับคนไม่มีอาการ ส่วนคนที่ปอดติดเชื้อจะได้รับยาต้านไวรัสกิน และรอดูอาการนั้น ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า ไม่มีการออกจากแนวทางการรักษาคนไข้โควิด-19 เลยแต่อย่างใด โดยกรมการแพทย์ได้ประกาศแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ตามฉบับปรับปรุง วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_FIle/Bandner_(Big)/Attach/25641212172600PM_25641103093725AM_update-CPG_COVID_v19.5_n_02211102.pdf

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : กรมการแพทย์ไม่มีการออกแนวทางการรักษาคนไข้โควิด-19 โดยปรับลดระยะกักตัวเหลือ 5 วัน สำหรับคนไม่มีอาการแต่อย่างใด

ข่าวปลอม! หน้ากากแบบผ้าไม่สามารถป้องกันโอไมครอนได้

กรณีที่มีการแชร์เรื่องราวที่ระบุว่าหน้ากากอนามัยแบบผ้าป้องกันโควิดสายพันธุ์โอไมครอนไม่ได้ ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่าหน้ากากผ้ายังสามารถป้องกันสายพันธุ์โอไมครอนได้ เพราะโอไมครอนยังออกมากับสารคัดหลั่ง แต่ต้องเลือกผ้าที่มีเนื้อแน่น เช่น ผ้าฝ้ายมัสลิน เย็บซ้อนกันอย่างน้อย 2 ชั้นขึ้นไป ตัดเย็บให้ปิดคลุมจมูกและปาก เสริมแถบลวดตรงสันจมูก สายรัดกระชับ และต้องใส่ปิดจมูก ปาก คาง ใส่ให้กระชับกับใบหน้าตลอดเวลา และต้องซักทำความสะอาดทุกวัน

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : หน้ากากผ้ายังสามารถป้องกันสายพันธุ์โอไมครอนได้ เพราะโอไมครอนยังออกมากับสารคัดหลั่ง แต่ต้องเลือกผ้าที่มีเนื้อแน่น เช่น ผ้าฝ้ายมัสลิน เย็บซ้อนกันอย่างน้อย 2 ชั้นขึ้นไป ใส่ให้กระชับกับใบหน้าตลอดเวลา และต้องซักทำความสะอาดทุกวัน

ข่าวปลอม! ฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้เป็นเอดส์

มีการแชร์ข้อมูลในโลกออนไลน์เกี่ยวกับ การฉีดโควิด-19 แล้ว ทำให้เป็นเอดส์นั้น ซึ่งเป็นการเผยแพร่คลิปจาก tiktok ของสตรีท่านหนึ่งที่อ้างว่า ฉีดวัคซีน covid ไปแล้ว จะทำให้เป็นโรคเอดส์ ไม่เชื่อให้ลองไปวัดค่าต่างๆ เช่น CBC CD4 CD8 ฯลฯ หลังจากฉีดได้เลย ?! 

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด ไม่ได้ทำให้เราจะเป็นโรคเอดส์หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งมีงานวิจัยจาก ศ. ดร. David Wohl ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ และทำวิจัยเกี่ยวกับไวรัสเอชไอวี ที่มหาวิทยาลัย University of North Carolina, Chapel Hill ประเทศสหรัฐอเมริกา บอกว่า วัคซีนโรคโควิดนั้น ไม่มีเชื้อเอชไอวีปนเปื้อน จึงไม่มีทางที่วัคซีนจะทำให้เกิดโรคเอดส์ได้ และวัคซีนโควิด ก็ไม่ได้ไปกดระบบภูมิคุ้มกัน  (immunosuppression) แต่วัคซีนมีหน้าที่ไปกระตุ้นทำงานของภูมิคุ้มกันให้ต่อสู้ป้องกันเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิดต่างหาก

ข่าวปลอม! สเปรย์พ่นปาก ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19

จากที่มีการแชร์ข้อมูลว่าใช้ผลิตภัณฑ์สเปรย์สำหรับพ่นปากและคอ สามารถยับยั้งเชื้อโควิด 19 ได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ชี้แจงว่า ไม่เคยมีการอนุญาตให้โฆษณาสรรพคุณตามที่ระบุบนสื่อออนไลน์ดังกล่าว โดยการอวดอ้างสรรพคุณทางยาเช่นนี้ จัดเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ความจริง ซึ่งเบตาดีนสเปรย์ที่ผ่านการอนุญาตกับ อย. มีสรรพคุณเป็นสเปรย์พ่นปาก ที่มีตัวยาโพวิโดน ไอโอดีน คุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อโรค โดยมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ลดอาการอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอ ได้แก่ อาการระคายคอ ความรู้สึกไม่สบายที่คอ แผลในปาก และระงับกลิ่นปาก เท่านั้น ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ตามที่กล่าวอ้าง

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ผลิตภัณฑ์สเปรย์สำหรับพ่นปากและคอ เบตาดีน โทรตสเปรย์ ไม่สามารถนำมาใช้พ่นคอ เพื่อหวังผลในการฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ตามที่กล่าวอ้าง

ข่าวปลอม! อาการเตือนการติดเชื้อโควิด 19 แบบวันต่อวัน จากกระทรวงสาธารณสุข

กรณีการโพสต์และแชร์ข้อความถึงอาการเตือนของการติดเชื้อโควิด 19 แบบวันต่อวัน และมีการระบุถึงสายพันธุ์ B.1.1.7 พร้อมกล่าวว่าข้อมูลดังกล่าวสรุปจากกระทรวงสาธารณสุขนั้น ทางสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบแล้วชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นผู้ให้ข้อมูลดังกล่าว และจากการตรวจสอบพบว่าสายพันธุ์ B.1.1.7 ซึ่งก็คือ สายพันธุ์อัลฟาที่เคยระบาดในประเทศไทยเมื่อปี 2564 เป็นการนำข่าวปลอมเดิมกลับมาปรับแต่งแล้วแชร์ใหม่

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : เป็นการนำข่าวปลอมเดิมกลับมาปรับแต่งแล้วแชร์ใหม่ โดยกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นผู้ให้ข้อมูลดังกล่าว อีกทั้งปัจจุบันการระบาดส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน

ข่าวปลอม! ฉีดวัคซีนโควิด 19 ทำให้ผู้หญิงมดลูกมีปัญหา มีลูกยาก ส่วนผู้ชายทำให้เป็นหมัน

กรณีการแชร์ข้อมูลที่ระบุว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มาแล้ว ในผู้หญิงจะทำให้มีปัญหาเกี่ยวมดลูก และมีบุตรยาก ส่วนในผู้ชาย จะทำให้มีปัญหาจำนวนเชื้ออสุจิน้อยลง มีบุตรยากหรือเป็นหมันนั้น ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงว่า ยังไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จะส่งผลต่อความสามารถในการมีบุตร ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยังไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนโควิด19 จะส่งผลต่อความสามารถในการมีบุตร ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย

ข่าวปลอม! หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ห้ามทำฟัน ห้ามฉีดยาชา

กรณีการเผยแพร่ข้อมูลถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยาชาในการรักษาทางทันตกรรม หลังได้รับวัคซีนโควิด 19 ว่าจะทำให้เสียชีวิตได้นั้น ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อประชาชน โดยการรักษาทางทันตกรรมที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ยาชาร่วมด้วยสามารถทำได้ทั้งก่อนและหลังการรับวัคซีนโควิด-19 ภายใต้ความปลอดภัยของผู้ป่วยและประสิทธิผลการรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งก่อนการรักษาควรได้รับคำแนะนำและประเมินตามขั้นตอนโดยทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ

ทางทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ ณ สถาบันทันตกรรม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยาชาที่ใช้ในการรักษาทางทันตกรรม ประกอบด้วย ตัวยาชา ยาที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่วนของสารป้องกันการเสื่อมสลายของยาทั้งสองชนิด และส่วนของตัวทำละลาย โดยยาชาที่ใช้ทางทันตกรรมมี 2 รูปแบบคือ ยาชาชนิดฉีด และชนิดเจล ใช้เพื่อระงับความรู้สึกในบริเวณที่ต้องการทำการรักษา และบรรเทาอาการปวดภายหลังการรักษา ซึ่งไม่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน ทั้งก่อนและหลังการรับวัคซีนโควิด 19 ในปริมาณยาชาที่เหมาะสมและถูกต้อง ทั้งนี้ผู้ที่เข้ารับการรักษาทางทันตกรรมสามารถรับการฉีดยาชา เพื่อทำหัตถการทางทันตกรรมได้อย่างปลอดภัย แต่ทั้งนี้ในหัตถการที่ไม่เร่งด่วน ควรเข้ารับการรักษาก่อนรับวัคซีนหรือภายหลังรับวัคซีนโควิด 2-3 วัน แต่ไม่เกิน 1 สัปดาห์ เพื่อลดความคลาดเคลื่อนในการวินิจฉัยแยกโรค เช่น ภาวะไข้ ว่ามีอาการข้างเคียงจากการรักษาทาง

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : วัคซีนโควิด-19 ไม่มีผลต่อการรักษาทางทันตกรรม ภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่ สามารถทำได้ทั้งก่อนและหลังการรับวัคซีน ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ข่าวปลอม! เลือดผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 สีดำคล้ำ ใช้รักษาผู้ป่วยไม่ได้

กรณีการโพสต์ภาพที่มีข้อความระบุว่า เลือดของผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 มีสีดำคล้ำ หากไปบริจาคเลือดก็ไม่สามารถนำเลือดไปใช้รักษาผู้ป่วยได้นั้น ทางสภากาชาดไทยได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อ และร่างกายจะเปลี่ยนแปลงเป็นภูมิคุ้มกัน เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ อาทิ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งไม่ทำให้สีของโลหิตมีสีดำคล้ำ และเกิดการเปลี่ยนแปลงสีแต่อย่างใด เพราะโลหิตเป็นของเหลว “สีแดง” ที่ไหลเวียนอยู่ภายในหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยฮีโมโกลบิล ทำหน้าที่ในการนำออกซิเจนจากปอดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย และนำคาร์บอนไดออกไซค์จากส่วนต่างๆ ของร่างกายไปขับออกที่ปอด ทำให้เม็ดเลือดแดงในหลอดเลือดแดงมีระดับออกซิเจนปริมาณสูง เลือดจึงมีสีแดงสด ส่วนเม็ดเลือดแดงในหลอดเลือดดำมีปริมาณออกซิเจนลดลง และมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซค์สูงกว่า เลือดจึงมีสีแดงคล้ำเมื่อบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่จะเจาะเก็บโลหิตจากข้อพับแขนที่เส้นเลือดดำ ทำให้โลหิตบริจาคมีสีแดงคล้ำกว่าเส้นเลือดจากหลอดเลือดแดง เป็นปกติทุกคน

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อ และร่างกายจะเปลี่ยนแปลงเป็นภูมิคุ้มกัน เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ ซึ่งไม่ทำให้สีของโลหิตมีสีดำคล้ำ และเกิดการเปลี่ยนแปลงสีแต่อย่างใด สามารถบริจาคโลหิตได้ และไม่เป็นอันตรายต่อผู้รับโลหิต