svasdssvasds

รู้ทัน ข่าวปลอม ภัยเงียบของข่าวไม่จริง แต่เจ็บจริง!!!

รู้ทัน ข่าวปลอม ภัยเงียบของข่าวไม่จริง แต่เจ็บจริง!!!

โซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งชีวิตประจำวันของเรา ทั้งเรื่องการทำงาน ติดต่อสื่อสาร หาหรือเผยแพร่รูป ข้อมูล สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เชื่อมความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือคนที่เรารัก ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารมากมายในโลกออนไลน์ ที่มีทั้งข่าวจริงและข่าวปลอม

เรามาทำความรู้จักและเรียนรู้วิธีรับมือกับ ข่าวปลอม ให้มากขึ้นกับ คุณพณิดา โยมะบุตร นักจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กันดีกว่า

พณิดา โยมะบุตร

Fake New คืออะไร?

ด้วยคำจำกัดความของข่าวปลอมคือ ข่าวที่คนเผยแพร่มีวัตถุประสงค์ตั้งใจบิดเบือนข้อมูล หรือเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง หรือไม่รู้จริงแล้วเอามาเผยแพร่ ถ้าเราสังเกตข่าวปลอมมันจะเป็นข่าวที่มีผลกับความรู้สึกมากๆ ดูรุนแรง ดูมี Impact ต่อหลายๆ อย่าง เช่น เรื่องยารักษาโรค เรื่องวัคซีน หรืออะไรก็แล้วแต่ พอคนได้เห็นข่าวปลอมพวกนี้ ต้องยอมรับว่าคนเรามีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลที่มันสอดข้องกับความเชื่อเดิมของตัวเองอยู่แล้ว อันนี้เป็น Selective bias แล้วถ้าสังเกตดูว่าบนหน้าฟีดเรา จะมีแต่แหล่งข้อมูลที่เราเชื่อเค้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แล้ว  Algorithm ของ Social Media เค้าก็ฉลาดมาก เค้าป้อนข้อมูลที่ตรงตามความเชื่อ ตรงตามไลฟ์สไตล์ของเรา หรือแม้แต่เพื่อนที่เราเห็นบนหน้าฟีดก็มักจะเป็นคนที่เรามี Interaction ด้วยเยอะซึ่งคนที่มี Interaction ด้วยนั้นก็มักจะเป็นคนที่มีความเชื่อคล้ายคล้ายกัน คิดคล้ายๆ กัน

ทำไมข่าวปลอมจึงถูกแชร์มากกว่าข่าวจริงเสียอีก!!!

อันดับแรกเลยพอต้นตอของข่าวปลอมเค้าปล่อยมา แล้วมันผ่านเนี่ยมันมาเผยแพร่มาอยู่ที่เพื่อนเราหรือเพจที่เรา Follow ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อเดิมเรา อันดับแรกพอเราเห็นปุ๊บเราก็มีแนวโน้มที่จะกระโจนลงไปเชื่ออยู่แล้วพอพวกข่าวปลอมพวกนี้มันกระตุ้นความรู้สึกของคนเสพจะรู้สึกว่าต้องรีบแชร์แล้ว เพราะถ้าแชร์แล้วอาจจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นมันมีงานวิจัยของต่างประเทศ เพราะอะไรเราถึงแชร์ข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย 94% ของคนตอบบอกว่า เค้าแชร์เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งที่เค้าแชร์จะสามารถช่วยคนอื่นได้ อย่างเช่น ผู้สูงอายุในครอบครัวเราแชร์เรื่องการรักษาโรคต่างๆ ในไลน์ ถ้าลูกหลานทำตามจะสุขภาพดี มันก็เลยทำให้คนรีบแชร์โดยไม่พิจารณาเป็นเรื่องของความเชื่อและอารมณ์ โดยที่เชื่อว่าจะทำให้คนอื่นชีวิตดีขึ้น หรือมีผลดีต่อคนอื่นหรืออยากจะแชร์เพื่อแสดงออกให้เห็นว่าตัวตนของเราคืออะไร เราเชื่ออะไร เป็นต้น สมมุติถ้าคนเชื่อเรื่องสมุนไพรบางอย่าง เช่น น้ำมะนาวรักษาโรคมะเร็งได้ ซึ่งคนที่แชร์อาจจะมีความเชื่อมากๆ อยู่แล้ว เค้ามีกลไกที่ว่าถ้าแชร์ไปแล้วจะทำให้ตัวตนตรงนี้ของตัวเองชัดขึ้น เช่น เป็นคนที่ศรัทธาในการใช้สมุนไพรรักษาสุขภาพ

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

Fake News

เสพข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์อย่างไร ให้สบายกาย สบายใจ ท่ามกลาง Fake News!!!

พื้นฐานเลยคือ ลด ละ เลี่ยง !!! อันนี้ฟังดูย้อนแย้งใช่ไหมค่ะ อยากเสพแต่ต้องลด ถ้าอยู่กับแพลตฟอร์ม Social Media หรือแพลตฟอร์มที่เผยแพร่ข่าวต่างๆ โดยธรรมชาติเมื่อ กาย ใจ สมองเรา อ่อนล้า ศักยภาพในการคิดพิจารณามันจะลดลงตามธรรมชาติ เหมือนกับถ้าเราทำงานหนักหรือเรียนหนักมาทั้งวัน ตอนให้ท้ายๆ เราจะเริ่มคิดไม่ค่อยออกแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราแบ่งเวลาลดหรือจำกัดชั่วโมงการเสพข้อมูลต่างๆ มันจะช่วยให้เราถ้าต้องมาพิจารณาข้อมูล เราจะใช้ศักยภาพในการคิดได้มากขึ้น วิเคราะห์ได้เยอะขึ้น อันนี้เป็นอันดับแรก

อันดับที่ 2 เวลาที่เราเห็นข่าวหรือเห็นอะไรก็แล้วแต่ เราควร Pause ก่อน Post คือ หยุดค่อยๆ สำรวจความคิด ความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อข่าวนั้น ว่าเรามีอารมณ์ React  กับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามันมาก Delay Response อย่าเพิ่งตอบสนอง อย่าเพิ่ง Comment อย่าเพิ่งกด Like อย่าเพิ่งกด Share รอให้เรารู้สึกว่าอารมณ์เป็นกลางกลางก่อนแล้วค่อยกลับมาดูข้อความหรือ Comment นั้นอีกทีหนึ่ง หรือว่าอีกวิธีหนึ่งที่ควรจะทำก็คือ ยิ่งถ้าเป็นข่าวหรือข้อมูล ลองตรวจสอบข้อมูลจากหลายๆ แหล่งก่อน อย่าเชื่อเพราะว่าที่มีคนแชร์มาจากเพจที่มีคนตามเยอะๆ หรือว่าเป็นสำนักข่าว เพราะว่าที่เราเห็นหลายๆ ครั้งสำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือก็แชร์ข้อมูลพลาดได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น Pause Delay แล้วก็เช็กความถูกต้อง

มีอยู่ครั้งหนึ่งเข้าทวิตเตอร์ แล้วก็เห็นคลิปคลิปหนึ่งที่เป็นที่สนใจของสังคมในตอนนั้น มีโพสต์ 2 อันที่ติดกันเป็นความหมายคนละขั้วเลย เป็นคนทะเลาะกัน โพสต์แรกบอกฝ่าย A ผิด แล้วก็ประณามฝ่าย B แล้วเค้าเชื่อแบบนั้นจริงๆ โพสต์ที่ 2 อยู่ติดกัน แต่สลับข้างกันเลย ที่น่าสนใจก็คือ คนที่ Comment ในโพสต์แรกก็จะเชื่อเทไปในทางโพสต์แรก โดยที่ไม่มีใครค้านหรือเอะใจเลย ในขณะที่อีกโพสต์ก็จะเทไปอีกฝั่งหนึ่ง อันนี้มันเป็น Bias ในความเชื่อ แล้วถ้าเราไม่ Delay ไม่ Response ให้ช้าลง ไม่ตรวจสอบข้อมูล เราก็จะตกในหลุมพรางนั้นไป เพราะฉะนั้นต้องทำอะไรให้ช้าลงในโลกออนไลน์

ข่าวปลอม

เพราะอะไรเมื่อมีการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร พร้อมกับแชร์มันไปอย่างรวดเร็ว?

มันก็จะกลับไปที่เรื่องอารมณ์ ข่าวที่คนแชร์แล้วเชื่อ จะเป็นข่าวที่ไป Impact กับอารมณ์ และความเชื่อ แล้วก็กลับไปที่งานวิจัยที่คนแชร์เพราะอะไร แชร์แล้วจะทำให้คนอื่นโอเคขึ้น เป็นประโยชน์กับคนอื่น แชร์เพราะอยากเผยแพร่ข่าว แชร์เพราะอยากแสดงตัวตน หรือต้องการได้รับการยอมรับ มันจะวนอยู่ประมาณนี้แต่ว่าหลักๆ เลยมันจะมาจากเรื่องอารมณ์ ที่ทำให้คนไม่ค่อยได้พิจารณาว่ามันควรแชร์มั้ย หรือว่ามันถูกต้องหรือเปล่า

สมัยก่อนไม่มี Social Media การเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข้อมูลจะทางปากต่อปากมากกว่า พอมีโซเชียลมีเดียคนกลุ่มวัยรุ่นหรือคนทำงานก็จะเข้าถึงได้ง่ายและเร็ว มันเลยไปเร็ว มันก็เลยกลายเป็นว่าดูเหมือนกลุ่มนี้จะเยอะ

ข่าวปลอม

วิธีเล่นโซเชียลแบบได้ประโยชน์ และไม่เดือดร้อนผู้อื่น!!!

สำหรับคนที่แชร์หรือเสพข่าวสารคือ ต้อง Pause แล้วก็ Delay กลับไปที่หลักนี้  สังเกตตัวเองก่อนว่า อยากแชร์ อยากเม้าท์ข่าวนี้ จะเผยแพร่เพราะอะไร เพราะอยากสนุก อยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะว่าคนอื่นเค้าคุยกันเรื่องนี้ ถ้าเราไม่แชร์ เราไม่เสพข่าวนี้ก็จะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง ต้องกลับมาคิดว่า ถ้าเป็นคนในครอบครัวเราถูกพูดถึงแบบนี้เราจะรู้สึกยังไง

ในการเสพสื่อก่อนเผยแพร่ลองคิดว่า ถ้าคนคนนั้นเป็นเพื่อนเราหรือคนใกล้ชิดเรา ถ้ามีข่าวแบบนี้มาแล้วจะบอกต่อไหม (ถ้าตัดเรื่อง social media ) ถ้าเราหวังดีกับเขาจริงๆ เราจะบอกต่อไหม หรือถ้าเราคิดว่าเป็น Gossip อยากเม้าท์ มันมีผลดีอะไรกับตัวเอง ที่จะได้เป็นคนเม้าท์ เอาความสนุกหรือเปล่า หรือว่าอยากจะเม้าท์ อยากจะแชร์ อยากจะเผยแพร่ เพื่อที่ว่าจะได้มี Topic คุยกับเพื่อน มันก็ไม่แฟร์กับคนที่ถูกกล่าวถึงในข่าวสักเท่าไหร่ใช่ไหมค่ะ ซึ่งอันนี้ก็ต้องพูดอีกว่ามันไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะสมัยก่อนมันก็มีพวกนิตยสาร หนังสือแท็บลอยด์ หนังสือเม้าท์ดารา เพียงแต่ว่าพอมี Social Media แล้วทุกอย่างมันเร็วขึ้นมาก

เมื่อตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม ควรทำอย่างไร?

สำหรับผู้ที่เป็นเหยื่อของข่าวปลอม ถ้าเป็นช่วงนั้นก็จะแนะนำว่าให้งดการเสพข่าว เพราะ Comment ต่างๆ ก็ไปจะเป็นในเชิง Negative ซะมากกว่า แล้วคนก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อตามข่าวนี้ ถ้าเป็นไปได้งดการเสพข่าวในช่วงนั้น ยุคนี้มีกฎหมายออกมาคุ้มครอง ช่วยคนที่ถูกปล่อยข่าวไปในทางเสียหาย หรือผู้ได้รับผลกระทบจากข่าวปลอม เราอาจจะใช้วิธีนี้ในการปกป้องตัวเองได้