svasdssvasds

คนทำงานควรรู้! รวมกฎหมายแรงงานน่ารู้ เพื่อสิทธิประโยชน์ลูกจ้าง

คนทำงานควรรู้! รวมกฎหมายแรงงานน่ารู้ เพื่อสิทธิประโยชน์ลูกจ้าง

กฎหมายแรงงาน เป็นสิ่งที่คนทำงานต้องรู้เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิประโยชน์ของตัวเอง และเพื่อป้องกันไม่ให้ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น สำหรับกฎหมายแรงงานมีอยู่มากมาย และมีบางเรื่องที่เราอาจไม่รู้ มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

คนทำงานควรรู้! รวมกฎหมายแรงงานน่ารู้ เพื่อสิทธิประโยชน์ลูกจ้าง

อยู่ในช่วงทดลองงาน ลาป่วยจะไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างลาป่วย จริงหรือ?

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง และมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้างปีหนึ่งไม่เกิน 30 วัน โดยลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลาป่วย ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างรายเดือน ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างตามผลงาน หรือลูกจ้างที่อยู่ในระหว่างทดลองงาน

นายจ้างบังคับลูกจ้างทำ OT มีความผิดทั้งจำและปรับ จริงหรือไม่?

กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาก่อนได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ดังนั้นหากนายจ้างมีความจำเป็นที่จะต้องให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา จะต้องให้ลูกจ้างยินยอมก่อน อย่างไรก็ตามกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานมีความจำเป็นต้องทำติดต่อกันไปหากหยุดจะเสียแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงาน
ล่วงเวลาเท่าที่จำเป็นได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากลูกจ้าง

ทั้งนี้ เมื่อมีการทำงานล่วงเวลาแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับลูกจ้าง ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำด้วย และหากเป็นการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตรา ค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำ หากนายจ้างฝ่าฝืนจะมีความผิดโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

เนื้อหาที่น่าสนใจ :


นินทานายจ้าง สามารถไล่ออกได้โดยไม่ต้องเสียค่าชดเชย ใช่หรือไม่?

หากคำพูดในการนินทาของลูกจ้างถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญาการกระทำของลูกจ้างถือเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (1) 

แต่หากคำพูดของลูกจ้างไม่ถึงขนาดเป็นหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นตามประมวลกฎหมายอาญา แต่คำพูดในการนินทาทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ถือว่าการกระทำของลูกจ้างเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) 

และเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ตาม ป.พ.พ.มาตรา 583 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งบางกรณีคำพูดในการนินทาของลูกจ้างไม่ถึงขนาดร้ายแรง นายจ้างสามารถออกใบเตือนได้ จะเหมารวมว่าทุกกรณีที่นินทานายจ้างแล้วจะถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้ค่าชดเชยไม่ได้ ต้องว่ากันเป็นเรื่อง ๆ ไป

สำหรับการใช้เฟซบุ๊กหรือสื่อออนไลน์สาธารณะ บุคคลอื่นสามารถเข้าถึงข้อความที่มีเขียนลงบนเฟซบุ๊กได้ โดยมีบุคคลภายนอกเข้ามาเขียนข้อความแสดงความคิดเห็น แม้ข้อความดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการระบายความคับแค้นข้องใจในการทำงาน แต่ก็ทำให้ผู้อ่านข้อความเข้าใจว่าโดนกลั่นแกล้งหรือข้อความที่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในการบริหารงาน หรือการกระทำที่จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) และเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ตาม ป.พ.พ.มาตรา 583 จะไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

ลาออกจากงาน ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน สามารถออกจากงานได้ทันที จริงหรือไม่?

ตามมาตรา 17 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ลูกจ้างลาออกต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ถ้าไม่บอกกล่าวก่อน หรือออกไปทันที แม้ไม่ต้องรอให้นายจ้างอนุมัติ การลาออกก็ตาม หากเกิดความเสียหาย นายจ้างสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างได้ และหากไม่เกิดความเสียหาย หรือนายจ้างพิสูจน์ไม่ได้ว่าเสียหายอย่างไร ศาลก็เพียงแต่ยกฟ้องเท่านั้น

โดยตามฎีกาที่ 10614/2558 เรื่อง ลูกจ้างลาออกจากงานไม่ถูกต้อง เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 อันเป็นเหตุให้นายจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้แต่การกำหนดจำนวนค่าเสียหาย เป็นดุลพินิจของศาล ทั้งนี้โพสต์ดังกล่าว ไม่ตรงกับข้อกฎหมายส่งเสริมให้ลูกจ้างทำการลาออกไม่ถูกต้องตามระเบียบ สัญญา และตามข้อกฎหมาย แม้ไม่มีโทษทางอาญาแต่ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาแรงงาน ปัญหาการฟ้องร้องกันไปมาได้

นายจ้างไลน์ อีเมล์ โทร หรือแชทนอกเวลางาน ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา จริงหรือ?

ต้องดูเนื้อหาข้อความที่สั่งมาว่าเป็นอย่างไร ประกอบด้วยจะเหมาว่าทั้งหมดคือการสั่งทำงานไม่ได้ เช่น นายจ้างโทรมาคุยไม่นานเพื่อสั่งงานของวันถัดไป หรือไลน์มาแต่ไม่ได้สั่งให้ทำงานในวันนั้น ๆ จะไม่ถือว่าเป็นการสั่งงาน ในทางกลับกันหากโทรมาสั่งงานและให้ทำให้เสร็จในวันนั้นเลย จะถือเป็นการให้ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หากลูกจ้างไม่ยินยอมสามารถปฏิเสธได้

Cr. กระทรวงแรงงาน