svasdssvasds

มีอะไรในกอไผ่ 6 : เล่าเรื่อง ทหาร การเมือง และฐานอำนาจ 4

มีอะไรในกอไผ่ 6 : เล่าเรื่อง ทหาร  การเมือง และฐานอำนาจ 4

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

กองทัพกับบทบาททางการเมือง (ที่อาจจะต้องทบทวน หวนคิด กันดีๆ)

วันนี้ถึงคิวส่องกองทัพ กับบทบาททางการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน สถานการณ์ที่ไม่เหมือนเดิม สถานการณ์ที่ไม่เพียงพอหากจะใช้ข้อมูลนับจากปี 2475 เพียงอย่างเดียว มาเป็นตรรกะในการกำหนดบทบาท

การเมืองในปี 2561 และการทหารในปี 2561 เปลี่ยนโฉมไปมาก และอาจจะเปลี่ยนอีกมากนับจากนี้ ถ้าไม่มีปัจจัยพิเศษอันใดมากระทบ

ทฤษฏีการเมืองไทยในอดีต การเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร มักเกิดพรรคการเมืองใหม่ที่มีทหาร หรือผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลังขึ้นมาเสมอ และส่วนใหญ่มักชนะการเลือกตั้งทั่วไปที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกหลังการรัฐประหารเสมอ

[caption id="attachment_268492" align="aligncenter" width="321"] มีอะไรในกอไผ่ 6 : เล่าเรื่อง ทหาร  การเมือง และฐานอำนาจ 4 จอมพล ป.พิบูลสงคราม[/caption]

พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพลป. พิบูลสงคราม พรรคสหประชาไทย ของจอมพลถนอม กิตติขจร พรรคสามัคคีธรรมของพลอากาศเอกสมบุญ  ระหงส์ ที่ถูกมองว่าเป็นร่างทรงของ รสช. ล้วนเป็นพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารทั้งสิ้น

ทั้งสองพรรคไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก แม้จะรวบรวมเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ท้ายที่สุดก็บริหารประเทศไม่ได้

รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยพรรคเสรีมนังคศิลา ถูกต่อต้านจากขบวนการนิสิต นักศึกษาและประชาชน จนท้ายที่สุดนำไปสู่การรัฐประหารในปีเดียวกัน

พรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม ก็ไม่สามารถควบคุมการบริหารได้เบ็ดเสร็จ จนจบลงด้วยการรัฐประหารตัวเองอีกเช่นกัน

[caption id="attachment_268495" align="aligncenter" width="200"] มีอะไรในกอไผ่ 6 : เล่าเรื่อง ทหาร  การเมือง และฐานอำนาจ 4 พล.อ.สุจินดา คราประยูร[/caption]

ส่วนพรรคสามัคคีธรรมที่สนับสนุนพลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้พลเอกสุจินดา อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง 47 วันเท่านั้น

พรรคทหาร หรือพรรคที่เกิดจากการจัดตั้งของทหาร หรือพรรคที่มีทหารอยู่เบื้องหลัง ไม่เคยมีพรรคไหนประสบความสำเร็จ

นายทหารที่เป็นนายกรัฐมนตรี และอยู่ในอำนาจนานๆ ส่วนใหญ่ เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทหาร รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

จอมพลป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือแม้กระทั่งจอมพลถนอม กิตติขจร ช่วงเวลาที่อยู่บนอำนาจยาวนาน  ล้วนเป็นช่วงเวลาที่มาจากการรัฐประหารทั้งสิ้น

[caption id="attachment_268494" align="aligncenter" width="200"] มีอะไรในกอไผ่ 6 : เล่าเรื่อง ทหาร  การเมือง และฐานอำนาจ 4 จอมพลถนอม กิตติขจร[/caption]

แต่เมื่อกาลกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งจอมพลป. และจอมพลถนอม กลับไม่สามารถประคองอำนาจให้อยู่ได้นานต่อเนื่องเหมือนครั้งการเป็นรัฐบาลทหารได้แม้แต่ครั้งเดียว

[caption id="attachment_268493" align="aligncenter" width="480"] มีอะไรในกอไผ่ 6 : เล่าเรื่อง ทหาร  การเมือง และฐานอำนาจ 4 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์[/caption]

นายทหารที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนาน คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มีพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง

ไม่ได้จัดตั้งพรรคทหารขึ้นมารองรับอำนาจ

[caption id="attachment_268498" align="aligncenter" width="840"] มีอะไรในกอไผ่ 6 : เล่าเรื่อง ทหาร  การเมือง และฐานอำนาจ 4 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์[/caption]

พลเอกเปรม ครองอำนาจบนฐานของพรรคการเมืองในระบบ โดยมีฐานอำนาจทางกองทัพที่แข็งแกร่งรองรับ  ไม่ใช่มีพรรคการเมืองที่จัดตั้งโดยทหารรองรับ

นั่น คือ สถานการณ์ในอดีต สถานการณ์ที่เป็นบทเรียนให้เห็นว่า พรรคทหารไม่ใช่สูตรแห่งความสำเร็จในการเลือกตั้ง

หันมามองปัจจุบัน

แนวคิดการจัดตั้งพรรคการเมือง ที่มีนายทหารอยู่เบื้องหลังยังคงมีอยู่ แม้ยังไม่เปิดหน้าออกมาอย่างชัดแจ้ง แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า มี

การเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในปี 2562 เชื่อว่า มีพรรคการเมืองที่มีทหารอยู่เบื้องหลังส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งแน่ๆ เพราะมีความเชื่อว่า จะสามารถกุมความได้เปรียบในทางการเมืองได้

โดยเฉพาะการเข้ายึดกุมความได้เปรียบจากฐานการเมืองท้องถิ่น ผ่านนักการเมืองท้องถิ่นจำนวนมาก

แต่...ทั้งหมด ต้องทบทวนและคิดถึงสถานการณ์ใหม่ๆ ปัจจัยใหม่ๆ ที่เป็นปัจจัยหลักและจะส่งผลกระทบต่อการเมือง การทหารในเวลานี้

สถานการณ์ใหม่ ต้องประเมินโครงสร้างทางการทหาร โครงสร้างทางการเมือง ว่า สอดคล้องกับทฤษฏีอำนาจทางการเมืองรอบใหม่หรือไม่

โครงสร้างทางการทหาร ที่วันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก กองพลหลักหลายกองพลมีภารกิจพิเศษด้านอื่นๆ

กำลังหลักหลายหน่วย ไม่ใช่กำลังที่ฝ่ายการเมือง หรือผู้มีอำนาจจะหยิบฉวยมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อ หรือใช้ในการสนับสนุนทางการเมืองได้อีก

กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองพลที่เป็นเคยกำลังหลักในการรัฐประหาร เพราะเป็นกองพลที่มีกำลังหลักมากที่สุดในเมืองหลวง  วันนี้ ไม่ใช่กองพลที่จะสามารถนำมาใช้ในภารกิจทางการเมืองได้

แม้แต่กำลังในกองทัพภาคที่ 1 หลายหน่วย ก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ

เช่นเดียวกับ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ หน่วยที่มีการวางรากฐานทายาทในหน่วยมาอย่างต่อเนื่อง ทหารม้าอีกหลายหน่วย พลปตอ. พลปืนใหญ่ อากาศโยธิน คอมมานโดกองปราบ ก็อยู่ในภาวะการณ์ที่ไม่ต่างกัน

ฐานความคิดทางการเมือง อำนาจ บนฐานสนับสนุนทางการทหาร ยามนี้อาจต้องลองชำแหละโครงสร้างกองทัพดูใหม่

ลองส่อง ลองเอ็กซ์เรย์ชัดๆ ลองจับวางกำลังพล แล้วลองประกอบจิ๊กซอว์ดู

อาจเห็นภาพใหม่ๆที่ทำให้ตัดสินใจได้ว่า กองทัพยามนี้ เพลานี้ ยังเหมือนเดิม เหมือนก่อนปี 2560 หรือไม่

ข้อมูลใหม่ก่อนตัดสินใจใดใดนะครับ

ใบไผ่

related