svasdssvasds

กลุ่มชาวพุทธฯ ร้องดำเนินคดี "อธิบดี-ผอ. ดีเอสไอ" ปมยึดทรัพย์มูลนิธิฯ วัดธรรมกาย [คลิป]

กลุ่มชาวพุทธฯ ร้องดำเนินคดี "อธิบดี-ผอ. ดีเอสไอ" ปมยึดทรัพย์มูลนิธิฯ วัดธรรมกาย [คลิป]

กลุ่มชาวพุทธยื่นเรื่อง บก.ปปป.ดำเนินคดี อธิบดี ดีเอสไอ. และ ผอ.กองคดีการเงินฯ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบและละเว้นฯ กรณียึดทรัพย์มูลนิธิฯ วัดธรรมกาย

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 6 ธ.ค. ที่ บก.ปปป. กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน นำโดย ดร.จรูญ วรรณกสิณานนท์, นาวาเอกพิเศษ วินัย เสวกวิ, ทนายพงค์นรินทร์ อมรรัตนา พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรชาวพุทธอื่นๆ ร่วมกันไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ ผู้บังคับการกองป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป) แจ้งข้อกล่าว พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผอ.กองคดี การเงินการธนาคารและการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีแจ้งข้อกล่าวหาฟอกเงิน และอายัดทรัพย์สินของวัดพระธรรมกายโดยมิชอบ

ดร.จรูญ เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ได้เข้าดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาวัดพระธรรมกายด้วยข้อหาฟอกเงินจากเงินรับบริจาคนั้น เป็นการตั้งข้อหาโดยมิชอบ ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการฟอกเงิน พ.ศ.2558 ที่มิได้บัญญัติว่า เงินที่ได้รับจากการบริจาคถือเป็นความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 และการปฏิบัตินั้นยังเข้าข่ายเป็นการ “เพื่อจะแกล้ง” ผู้หนึ่งผู้ใดให้ได้รับโทษหนักขึ้น อันเป็นความผิดตามมาตรา 200 อีกด้วย

ดร.จรูญ บอกต่อว่า นอกจากนี้ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง ได้มีการเสนออัยการฟ้องศาลให้ยึดทรัพย์สินและอายัดอาคารสถานที่อันเป็นสมบัติของวัดพระธรรมกายนั้น เป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 มาตรา 34 วรรคสอง “ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัด หรือกรมการศาสนา แล้วแต่กรณี ในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง” และมาตรา 35 “ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่ศาสนสมบัติกลาง เป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี”

นอกจากนี้ ยังเป็นการเข้าข่ายผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 67 ที่กำหนดว่า รัฐพึ่งอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือ และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด การกระทำของพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง จึงเข้าข่ายฐานบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาในรูปแบบการทำลายโดยใช้กฎหมายในการทำลายอีกด้วย

ดร.จรูญ กล่าวเพิ่มเติม พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดินได้แจ้งข้อกล่าวหากลุ่มบุคคล กรณีเก็บเงินฮาลาลผิดกฎหมาย ต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีการเรียกเก็บเงินจากผู้ประกอบการไม่ผ่านนายทะเบียน ตาม พรบ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เข้าข่ายเป็นอาชญากรทางธุรกิจ สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งว่า ได้ตรวจพิจารณาแล้ว ไม่ปรากฏว่า มีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น จึงมีคำสั่งยุติการสืบสวน แม้ตอนหลังทางกลุ่มผู้ร้องได้ยื่นเรื่อง ขอให้ทบทวนและขอให้เปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวน พร้อมเอกสารคำขอจดทะเบียนเครื่องหมาย”ฮาลาล” แบบ ก.01 คำขอเลขที่ 372520 ระบุชนิดสินค้า 2 ชนิด คือ บะหมี่สำเร็จรูป และ น้ำปลา แต่กลุ่มผู้กระทำความผิดได้นำเครื่องหมายนั้นแอบอ้างต่อสาธารณชนและผู้ประกอบการเพื่อให้ติดตราดังกล่าว เป็นเหตุให้สินค้าจำนวนมากในประเทศไทย มีการติดตราสัญลักษณ์ “ฮาลาล” ทำให้ผู้ผลิตสูญเสียเงินจำนวนมาก และต้องบวกต้นทุนขึ้นกับผู้บริโภคอีกต่อหนึ่ง

การที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง วินิจฉัยว่า ไม่พบการกระทำความผิด จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือมิให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับโทษ จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติต่อหน้าที่ตามมาตรา 157 และการละเว้นการปฏิบัตินั้น เข้าลักษณะเพื่อจะช่วยเหลือกลุ่มผู้กระทำความผิดมิให้ต้องรับโทษ เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 ด้วย นอกจากนี้ ยังเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.๒๕๕๘ ตามมาตรา 8 และ ตามมาตรา 13 อีกด้วย

กลุ่มชาวพุทธฯ ร้องดำเนินคดี "อธิบดี-ผอ. ดีเอสไอ" ปมยึดทรัพย์มูลนิธิฯ วัดธรรมกาย [คลิป] กลุ่มชาวพุทธฯ ร้องดำเนินคดี "อธิบดี-ผอ. ดีเอสไอ" ปมยึดทรัพย์มูลนิธิฯ วัดธรรมกาย [คลิป]

related